Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิกฤติโลกร้อน

Posted By Rezonar | 27 ก.ย. 62
37,862 Views

  Favorite

หากใครได้ติดตามข่าวการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate action) ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 แล้วละก็ คงได้เห็น “เกรียตา ทุนแบร์ย (Greta Thunberg)” นักกิจกรรมหญิงวัย 16 ปี ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวตำหนิผู้นำโลกในที่ประชุมยูเอ็น ที่ไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก หลายคนอาจรู้สึกว่า ปัญหาโลกร้อนยังอยู่ไกลตัว แม้กระทั่งธารน้ำแข็งละลาย ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาโลกร้อนส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บ้าง และควรหรือยังที่เราต้องตระหนักถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ

 

สัญญาณของโลกร้อน

โลกของเรานั้น ร้อนกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ลองมาดูสัญญาณที่บ่งบอกว่า โลกของเรากำลังร้อนขึ้นกัน

• ทะเลน้ำแข็งแถบอาร์กติก (Arctic sea ice) เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความหนาวเย็นตลอดทั้งปี แต่จากภาพถ่ายทางดาวเทียมโดย NASA นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งที่เคยปกคลุมมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ได้พบรอยแยกของภูเขาน้ำแข็งครั้งแรก โดยภูเขานำแข็งนี้ขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของมหานครนิวยอร์ก ถึงแม้ในทางธรรมชาติ การแบ่งตัวของภูเขาน้ำแข็งนั้นจะเป็นเรื่องปกติ แต่จากการศึกษาพบว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งเร็วขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และการละลายอย่างรวดเร็วของภูเขาน้ำแข็ง ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นตามมา

ภาพ : Shutterstock

 

• การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศระหว่างปี 2015-2019 เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ถึงแม้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกแลกเปลี่ยนได้ตามธรรมชาติ แต่ตัวเลขที่แสดงออกมานั้น เป็นปริมาณส่วนที่เหลือจากการดูดซับทางธรรมชาติแล้ว การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซชนิดอื่นอาจทำให้ระบบภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง และนำไปสู่ความชะงักงันครั้งใหญ่ของระบบนิเวศและเศรษฐกิจโลก

ภาพ : Shutterstock

 

• นับตั้งแต่ปี 1850-2010 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงระหว่างปี 2011-2015 เพิ่มขึ้นถึง 0.2 องศาเซลเซียส ในปี 2016 ยังเป็นปีที่อุณภูมิสูงที่สุดอีกด้วย ซึ่งสาเหตุหลักคือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ และการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ยิ่งอุณภูมิสูงมากเท่าไร ธารน้ำแข็งก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะละลายเร็วมากขึ้นเท่านั้น

 

ผลกระทบจากโลกร้อน

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็ง ส่งผลอย่างไรต่อโลกของเรา?

 

หากแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดในกรีนแลนด์ละลาย ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 7 เมตร หลาย ๆ ประเทศอาจเสียพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ใต้ทะเล เช่น อินโดนีเซีย จีน และบังกลาเทศ แต่นั่นยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่าใดนัก

 

ปี 2018 มีรายงานวิจัยค้นพบว่า มหาสมุทรทั่วโลกดูดซับความร้อนส่วนเกินจากปรากฏการณ์เรือนกระจกเอาไว้มากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ถึง 60% (คิดเป็น 150 เท่าของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั่วโลก) โดยระดับพลังงานความร้อนดังกล่าวทำให้มหาสมุทรมีอุณภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 6.5 องศาเซลเซียสต่อหนึ่งรอบทศวรรษ ดังนั้น เมื่อปริมาณน้ำในมหาสมุทรมีมากขึ้น การขยายตัวทางความร้อนในมหาสมุทรจะยิ่งสูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น จะยิ่งปล่อยก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากขึ้น ทำให้ระดับออกซิเจนในทะเลลดลง และส่งผลต่อระบบนิเวศในวงกว้าง

 

ในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ความร้อนที่ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรนั้น อาจถูกคายออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ตามวงจรการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ ถึงเวลานั้นโลกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิที่โหดร้าย และได้รับผลกระทบในวงกว้าง

 

การละลายของธารน้ำแข็ง ยังอาจเปลี่ยนการไหลเวียนของมหาสมุทร ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอุณภูมิทั่วโลก หรือแม้แต่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วไปทั่วโลก เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า

ภาพ : Shutterstock

 

เราจะช่วยโลกได้อย่างไร?

หากพูดถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ก็อยู่ที่ภาครัฐและผู้นำต่าง ๆ จะให้คำมั่นสัญญา กำหนดนโยบายและเป้าหมาย ให้ความร่วมมือกันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราก็สามารถช่วยโลกของพวกเราได้ง่าย ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำให้ลองปรับการใช้ชีวิตของเราดู ลดกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือใช้เชื้อเพลิงแบบเอทานอล เปลี่ยนมาเดินหรือปั่นจักรยานเป็นระยะทางสั้น ๆ การใช้บริการขนส่งสาธารณะ ใช้การประชุมทางวิดีโอแทนการเดินทางเพื่อธุรกิจ ใช้ราวตากผ้าแทนเครื่องอบผ้า

 

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ส่งผลอย่างมากในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้ก็คือ การปรับอาหารให้มีเนื้อสัตว์น้อยลง และกินอาหารตามฤดูกาลที่มาจากท้องถิ่นมากขึ้นและทิ้งให้น้อยลง เนื่องจากในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อนั้น มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น โคเนื้อที่เลี้ยงในพื้นที่ที่ถูกทำลายพื้นที่ป่า จะสร้างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 12 เท่า เมื่อเทียบกับการเลี้ยงบนทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ

ภาพ : Shutterstock

 

หากวิเคราะห์จากผลการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPPC) เนื้อสัตว์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดยังคงก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการปลูกผักและพืชธัญพืชในแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

 

ถ้าหากทุกคนร่วมมือกัน โลกของเราก็จะน่าอยู่ไปอีกนาน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

- ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow