นิทานเรื่อง ยายปากมาก
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีคุณยายผู้ร่าเริงอยู่คนหนึ่ง คุณยายมีเรื่องเล่ามากมาย และเป็นคนที่เล่าเรื่องราวละเอียดมาก รวมไปถึงชีวิตประจำวันของแก ตัวอย่างเช่นเมื่อมีคนถามว่า “ยายมาทำอะไร”
“อ้อ เมื่อเช้ายายแปรงฟันแล้วลืมหยิบยาสีฟัน พอออกไปหยิบก็ลื่น มือกระแทกประตู พอกระแทกประตูแล้วก็หยิบยาหม่องมาทา พอทาเสร็จก็เห็นว่า ที่พื้นมีตะปูตัวหนึ่งยื่นออกมา แต่จำได้ว่าค้อนไม่อยู่เพราะคุณตาเอาให้เด็กข้างบ้านยืม ซึ่งตอนนี้เด็กคนนั้นก็ย้ายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ยายเลยออกมาหาซื้อฆ้อนน่ะ”
แม้ว่าบ้านของแกจะอยู่ออกมาห่างจากหมู่บ้าน แต่ผู้คนและเหล่าทวยเทพก็มักจะมาแวะเวียนคุยกับยายประจำ เพราะยายเป็นคนคุยสนุก เทพอายีรักก้าเคยเตือนคุณยายว่า
“ยายน่ะ บางครั้งก็ไม่ต้องพูดเรื่องทั้งหมดก็ได้นะ เอาแต่เรื่องสำคัญก็พอ” ยายได้ฟังก็หัวเราะ แล้วรับปาก แต่จริงๆ ยายก็ยังไม่เข้าใจเท่าไรว่า เรื่องไหนสำคัญ จนกระทั่งวันหนึ่ง
“ช่วยด้วยๆ” คุณยายวิ่งมาในหมู่บ้าน ทุกคนที่เห็นต่างตกใจ และรีบถามคุณยายว่าเกิดอะไรขึ้น คุณยายจึงเล่าให้ฟัง
“หลังจากที่ฉันทานอาหารเสร็จ และกำลังรอเวลาย่อย ก่อนจะเต้นแอโรบิก ฉันก็นึกได้ว่าฉันไม่ได้จุดธูปไหว้คุณแม่ฉันนานแล้ว ฉันก็เลยเดินไปหยิบธูปและเทียน พอกำลังจุดก็รู้สึกว่าทำไมวันนี้กลิ่นของเทียนมันเหม็นไหม้ชอบกล พอกำลังไหว้อยู่ก็รู้สึกกลิ่นเหม็นไหม้แรงขึ้น แต่ตอนยายดมธูปเทียน กลิ่นมันไม่เหมือนกัน ยายเลยเดินไปดูที่ห้องครัว ก็ไม่มีอะไร ห้องน้ำก็ปกติ พอมองออกไปนอกหน้าต่าง ก็เห็นว่าไฟกำลังไหม้อยู่”
“อ๋อ บ้านของคุณยายถูกไฟไหม้ เฮ้ย!!!!!!” ชาวบ้านได้ฟังก็ตกใจ รีบวิ่งไปที่บ้านคุณยายพร้อมถังน้ำ แต่กว่ายายจะวิ่งมา กว่ายายจะเล่าจบ กว่าชาวบ้านจะวิ่งมา บ้านคุณยาย ก็กลายเป็นกองไฟอันอบอุ่นช่วงฤดูหนาวไปเสียแล้ว
ชีวิตล้วนประกอบด้วยเหตุการณ์และเรื่องราวเล็กน้อยต่างๆ มากมาย ดุจดังชามก๋วยเตี๋ยวที่นอกจากมีเส้น ผัก เนื้อ และยังมีน้ำซุป ไม่เว้นแม้แต่ในบทเรียน หรือแม้แต่ในที่ทำงาน การประชุม และอีกหลายๆ ด้านในชีวิต
ทักษะหนึ่งที่สำคัญในการเรียนและการทำงาน คือการจับใจความสำคัญ หรือมุ่งเน้นเฉพาะสิ่งจำเป็น เหมือนอ่านหนังสือเช่นกัน หนังสือทั้งเล่มมีใจความสำคัญไม่มาก แต่รายละเอียดหรือเนื้อหาเป็นส่วนที่ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น การประชุมก็เช่นกัน ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร
ไม่อย่างนั้นยืดเยื้อไป คนก็เบื่อ ลิงก็นั่งหลับได้ แถมไม่ได้อะไรเลย เพราะมันเยอะ จนไม่รู้จะจำตรงไหน
“อย่าพูดมาก ขอสั้นๆ”
#martinzen #ยาย #พูดมาก #มาก #พูด #สำคัญ #สาระ