Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสำคัญ และธรรมะที่ปรากฏ ใน วันอาสาฬหบูชา

Posted By มหัทธโน | 15 ก.ค. 62
23,971 Views

  Favorite

วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ เดือน 8 เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรเป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนาจึงถือได้ว่าเป็นวันแรกที่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย  

 

ภาพ : TruePlookpanya


 

วันอาสาฬหบูชา สำคัญอย่างไร ? 

         เป็นวันสำคัญที่มีผลต่อการสืบทอดพระพุทธศาสนาถึงปัจจุบัน เพราะไม่ง่ายที่จะเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้พร้อมกันในวันเดียว เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ได้แก่ 

-----> "ปฐมเทศนา" เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา 

-----> "วันพระธรรม" เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง และอริยสัจ 4 : ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

-----> "วันพระสงฆ์" เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ ซึ่งฟังธรรมจนเกิดดวงตาเห็นธรรม และบวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

-----> "ครบองค์พระรัตนตรัย" เป็นวันแรกที่มีองค์พระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นครบเป็นครั้งแรกในโลก

 

ธรรมะในวันอาสาฬหบูชา

           ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ


มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง 


           เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

             1. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค

            2. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

 

ภาพ : https://www.phuttha.com


          ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า

อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8  


1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


อริยสัจ 4

แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ

3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น


           เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า “ปฐมเทศนา”
           ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ ได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นโสดาบันทันที นับเป็น “ปฐมสาวก” ของพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าตรัสถึงปัญญาที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แจ้งคือ 

 

"ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ
สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"


             หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา”นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow