Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฮานส์เจ้าม้าแสนรู้ (Clever Hans)

Posted By Nune Yotsavadee | 20 ม.ค. 63
7,497 Views

  Favorite

หากใครได้อ่านบทความเรื่อง "รู้หรือไม่ ? มดมีเซนส์ทางคณิตศาสตร์นะ" ไปแล้ว ก็จะทราบว่า มันสามารถนับก้าวของตนเองได้ เนื่องจากมันต้องเดินทางออกหากิน จึงต้องมีความสามารถนี้ติดตัวไว้ แต่บทความนี้เราจะนำเสนอสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ว่ากันว่าฉลาดมาก สามารถคิดเลขได้ น่าทึ่งมากเลยใช่ไหมล่ะ เราไปทำความรู้จักสัตว์ชนิดนี้กัน มันจะคิดเลขได้จริงอย่างที่เขาว่ากันไหมนะ


เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในช่วง ค.ศ. 1891 “วิลเฮล์ม ฟอน ออสเทน (Wilhelm von Osten)” เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน และเขาเป็นเจ้าของม้าสายพันธุ์ผสมออร์ลอฟ (Orlov Trotter) ที่ชื่อว่า “ฮานส์ (Hans)” อีกด้วย เขาได้ฝึกฮานส์ให้แก้โจทย์คณิตศาสตร์ เมื่อฝึกไปได้ระยะหนึ่ง ฮานส์สามารถนับเลขและคำนวณเลขบวก ลบ คูณ และหารเบื้องต้นได้ ซึ่งมันตอบโดยใช้การตบเท้าบอกคำตอบออกมาเป็นจำนวนที่ถูกต้อง ส่วนการตั้งคำถาม จะเป็นคำถามที่เป็นคำพูดหรือเป็นตัวหนังสือก็ได้ แน่นอนว่าได้สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะม้าไม่เพียงแต่แก้โจทย์ปัญหาได้ แต่ยังสามารถอ่านโจทย์ได้อีกด้วย

 

จากนั้นออสเทนพาฮานส์ออกสู่สายตาสาธารณะชนให้ได้เห็นความสามารถของมัน ซึ่งมันสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องแทบทุกครั้ง แน่นอนว่ามันได้สร้างความประทับใจให้ผู้คนที่พบเห็นเป็นอย่างมากจนหลายคนได้เรียกฮานส์ว่า ฮานส์เจ้าม้าแสนรู้ (Clever Hans) ไม่นานฮานส์ก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แล้วเรื่องราวของฮานส์เจ้าม้าแสนรู้ก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ New York Time

ภาพ : Wikipedia

 

ความสามารถของฮานส์ได้สร้างความสงสัยให้กับคณะกรรมการการศึกษาของเยอรมนี จนมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษ “Hans Commission” ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบว่าความสามารถของฮานส์เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงกลการแสดง

 

Hans Commission เป็นทีมสืบสวนที่ประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องม้า นักคณิตศาสตร์ เจ้าของละครสัตว์ นักจิตวิทยา และคาร์ล สตัมฟ์ (Carl Stumpf) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย หลังจากใช้เวลาทดสอบฮานส์อยู่นาน ก็ได้ผลสรุปว่าความสามารถของฮานส์นั้นไม่ได้หลอกลวง ถึงขั้นรับรองว่าฮานส์เป็นม้าที่มีพรสวรรค์และฉลาดจริง ๆ ฮานส์ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักและโด่งดังจนผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต้องมาดูการคำนวณของมันให้เห็นกับตา

 

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาชื่อ ออสการ์ ฟุงส์ก (Oskar Pfungst) ยังสงสัยในความสามารถของฮานส์ จึงได้ตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์ 13 คน เพื่อทำการทดสอบฮานส์อีกครั้ง ทีมของเขาได้ออกแบบการทดสอบอย่างละเอียดโดยจำกัดสถานการณ์และสภาพแวดล้อม ดังนี้
               1. ในการตั้งคำถามมีการแยกม้าออกจากคนอื่น ๆ ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งสัญญาณ
               2. ใช้คำถามจำนวนมากเพื่อป้องกันการมั่วถูก
               3. บางคำถามเป็นคำถามที่ผู้ถามไม่รู้คำตอบ
               4. มีการเปลี่ยนตัวคนถาม
               5. การทดสอบบางครั้งมีการปิดตาม้าไว้
               6. มีการยืนถามคำถามในระยะที่แตกต่างกัน

ภาพ : Wikipedia

 

หลังการทดสอบพบว่า ยิ่งยืนห่างจากฮานส์มากเท่าไร การตอบถูกยิ่งน้อยลง หากถามคำถามที่ผู้ถามไม่รู้คำตอบ ฮานส์ก็ไม่สามารถตอบได้ นั่นหมายความว่าฮานส์สามารถตอบคำถามถูกได้เฉพาะเวลาที่มองเห็นผู้ถามและผู้ถามรู้คำตอบ จึงได้ข้อสรุปว่าม้าสามารถตอบคำถามได้ เพราะอ่านพฤติกรรมและสีหน้าท่าทางของผู้ถาม โดยที่ผู้ถามไม่รู้ตัว

 

แล้วพฤติกรรมและสีหน้าท่าทางของผู้ถามนั้นแสดงออกอย่างไรกันล่ะ ?

 

ทุกครั้งที่ฮานส์เคาะกีบเท้าเพื่อตอบคำถาม ผู้ถามจะแสดงสีหน้าค่อนข้างเคร่งเครียดและมีอัตราการหายใจถี่ เสมือนว่าตื่นเต้นที่ลุ้นคำตอบของฮานส์ แต่เมื่อฮานส์เคาะถึงคำตอบที่ถูกต้องแล้ว อาการเหล่านี้ของผู้ถามก็หายไปนั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้ถามที่ไม่รู้คำตอบ เพื่อพิสูจน์ปฏิกิริยาเหล่านี้ ฟุงส์กจึงได้ลองเป็นฮานส์ดูและพยายามตอบคำถามตามภาษากายด้วยการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ถาม แน่นอนจ้า! เขาประสบความสำเร็จกับการทดลองครั้งนี้ และเรียกการแสดงพฤติกรรมที่คล้ายเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัวหรือจิตใต้สำนึกว่า “Clever Hans effect” หรือ “Ideomotor cueing” ถึงแม้การทดลองจะพบว่า จริง ๆ แล้วนั้นฮานส์จะคิดเลขไม่ได้ แต่มันก็ยังเป็นม้าที่ฉลาดมากอยู่ดี

 

แล้วคุณผู้อ่านคิดว่ามีสัตว์อื่น ๆ ที่มีความฉลาดแบบนี้อีกหรือไม่ ? 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Nune Yotsavadee
  • 0 Followers
  • Follow