Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระยะทางปีแสงกับการมองเห็นภาพดาวในอดีต

Posted By Rezonar | 02 ก.ค. 62
33,771 Views

  Favorite

ในชีวิตประจำวัน เราอาจเคยได้ยินหน่วยบอกระยะทางที่คุ้นเคย เช่น ระยะทางจากบ้านไปที่ทำงาน เป็นระยะทางกี่กิโลเมตร หรือใช้เวลาเท่าไรเพื่อไปถึงที่ทำงาน

 

ระยะทาง 1 ปีแสง

ในห้วงอวกาศที่กว้างใหญ่ ก็มีหน่วยแทนระยะทางเช่นกัน แต่เนื่องจากเอกภพนั้นมีขนาดใหญ่และกว้างขวางมาก ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงแทนระยะทางในห้วงอวกาศด้วย “ปีแสง (Light-Year)” โดยที่ระยะทาง 1 ปีแสง หมายถึงระยะทางที่แสงเดินทางได้ทั้งหมด เมื่อเวลาบนโลกผ่านไป 1 ปี

ภาพ : Shutterstock


ในทุก ๆ 1 วินาที แสงสามารถเดินทางได้ระยะทางประมาณ 300,000 กิโลเมตร ดังนั้น ระยะทาง 1 ปีแสง จึงมีค่าประมาณ 9 ล้านล้านกิโลเมตร (เลข 9 ตามด้วยเลขศูนย์ 12 ตัว) มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจมีความรู้สึกว่า ช่างเป็นความเร็วที่สุดยอด แต่ในห้วงอวกาศที่กว้างใหญ่ แต่ละวัตถุท้องฟ้าอยู่ห่างไกลกันมาก และอาจต้องใช้เวลานานกว่าแสงจะเดินทางมาถึงพวกเรา


ยิ่งวัตถุท้องฟ้าอยู่ไกลออกไปมากเท่าไร นั่นคือ
เรายิ่งมองเห็นอดีตของวัตถุท้องฟ้าที่ผ่านไปนานเท่านั้น


ดวงอาทิตย์เป็นดาวที่อยู่ใกล้โลกของเรามากที่สุด ด้วยระยะทางประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร ดังนั้น แสงจะเดินทางจากดวงอาทิตย์มาถึงโลก จะต้องใช้เวลาราว ๆ 8.3 นาที นั่นคือ แสงที่เราเห็นตอนนี้ คือ แสงที่ปรากฏบนดวงอาทิตย์เมื่อ 8.3 นาทีก่อนหน้าเสมอ

 

กาแล็กซีที่ห่างไกลกับปริศนาการเกิดบิกแบง

ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า กาแล็กซีของเรามิใช่กาแล็กซีเดียวในห้วงเอกภพ และอาจจะมีมากกว่าพันล้านกาแล็กซี สำหรับกาแล็กซีที่อยู่ใกล้เราที่สุดคือ Andromeda โดยที่ห่างจากเราออกไป 2.5 ล้านปีแสง เมื่อใดก็ตามที่เรามองเห็น Andromeda นั่นคือ ภาพเมื่อ 2.5 ล้านปีก่อนหน้า และยิ่งกาแล็กซีห่างไกลออกไปมากเท่าใด นั่นหมายถึงการมองเห็นอดีตที่ผ่านไปนานเท่านั้นเช่นกัน

ภาพ : Shutterstock


ในปี ค.ศ. 2016 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ของ NASA สามารถถ่ายภาพกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลจากเรามากที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบได้ โดยเรียกกันในชื่อว่า GN-z11 ห่างไกลจากกาแล็กซีของพวกเราออกไปถึง 13.4 พันล้านปีแสง (134 ตามด้วยศูนย์ 8 ตัว) หมายความว่า ภาพที่เราเห็นคือ สภาพเมื่อ 13.4 พันล้านปีก่อนหน้า การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังจากเกิด Big Bang เพียง 400 ล้านปี และเป็นกาแล็กซีชุดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในเอกภพของเรา

ภาพ : Shutterstock


ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้และเข้าใจสภาพของกาแล็กซี่ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากเกิด Big Bang ได้ ก็จะช่วยให้สามารถเข้าใจสภาพเริ่มต้นของเอกภพได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow