Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิพิธภัณฑ์เหรียญฯ ที่เที่ยวดี ๆ ฟรีทั้งครอบครัว

Posted By ไกด์เตยหอม | 30 มิ.ย. 62
12,122 Views

  Favorite

เรียนรู้เรื่องเหรียญ ระบบเงินตราที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า และประวัติความเป็นมายาวนานอย่างสนุกสนานไปกับเทคโนโลยีการนำเสนอที่น่าสนใจ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ตั้งอยู่ริมถนนจักรพงษ์ ตรงข้ามสนามหลวง เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น. โดยการเข้าชมห้อง ปฐมบทแห่งเงินตราและวิวัฒนาการเงินตรา ซึ่งเป็นไฮไลท์ของที่นี่ จะต้องเข้าชมเป็นรอบ ๆ ค่ะ มีทุก 20 นาที รอบสุดท้าย 17.00 น. เข้าฟรีทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกคนเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่นี่มีที่มาจาก “ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์” ภายในพระบรมมหาราชวังแต่เดิม ซึ่งต่อมาเริ่มคับแคบ เพราะของจัดแสดงเยอะขึ้น กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังจึงได้ขยับขยายมาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญฯ ที่อาคารสำนักบริหารเงินตราแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเหรียญและระบบเงินตรา ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่ตอนนี้เปิดให้บริการเพียงชั้นที่ 1 เท่านั้น ในส่วนของชั้นที่ 2 และ 3 นั้นคาดว่าเปิดในเร็ว ๆ นี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอลงชื่อเข้าชมเรียบร้อยก็มาเดินดูนิทรรศการในส่วนของงานออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ระลึกฝีพระหัตถ์สมเด็จครู (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ผู้ที่ล้นเกล้าฯ ร.5 ทรงชื่นชมว่า “ฉันไม่นึกจะยอเลย แค่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในดวงใจฉันเสียแล้ว ในเรื่องการทำดีไซน์เช่นนี้...”  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สมเด็จครูทรงออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราสำคัญ ๆ ในสมัย ร.5 และ ร.6 มากมาย เช่นในภาพบนคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และในภาพล่างคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (บุรุษ)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาด้านหลังจะเป็นนิทรรศการภาพถ่าย บ้านปลายเนิน ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จครูช่วงบั้นปลายของพระชนม์ชีพ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นห้องนิทรรศการถาวรเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ปฏิรูปเหรียญกษาปณ์ไทย” โดยด้านหน้าจะเห็นมีพระบรมฉายาลักษณ์ และเยื้อง ๆ มาก็มีรถเข็นเตรียมพร้อมไว้สำหรับผู้ที่เดินไม่ถนัดยืมใช้ระหว่างการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในห้องมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการใช้เหรียญกษาปณ์ของไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยมีการฉายภาพแอนิเมชั่นที่เกี่ยวข้องบนผนังด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยการเปลี่ยนจากเบี้ยและเงินพดด้วงมาเป็นเหรียญกษาปณ์เช่นเดียวกับนานาประเทศในยุคนั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาจากสยามเก่าสู่สยามใหม่ และเป็นรากฐานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีอักษรเบรลสำหรับผู้พิการทางสายตาก็สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในนิทรรศการนี้ด้วยด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เสร็จแล้วเราก็ย้อนกลับไปที่โถงด้านหน้า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่นำชมรอต้อนรับตามรอบที่เข้าชม โดยจุดแรกที่เริ่มคือ ผนังเหรียญ ในโถงนั่นเอง ซึ่งจะมีเหรียญสำคัญ ๆ ให้เราได้ทำความรู้จักกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ผนังนี้มีความพิเศษ คือ หากนำกระดาษขาวซึ่งเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ไปวางหน้าเหรียญบางเหรียญ ก็จะมีภาพเคลื่อนไหวเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเล่าเกี่ยวกับเหรียญนั้น ๆ ฉายบนกระดาษด้วย อย่างในภาพเล็กเป็นเหรียญรูปพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์แบบแรก ๆ ที่ใช้กันในสุวรรณภูมิเลยทีเดียว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นเราก็ได้เข้าไปชมนิทรรศการปฐมบทแห่งเงินตรา ซึ่งด้านในเป็นโรงหนัง 4 มิติ แบบ 360 องศา โดยเราจะไปบนก้อนหินตรงกลางห้อง รอบ ๆ กองไฟ แล้วหนังก็จะฉายขึ้นบนผนังถ้ำรอบตัวเรา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ อันเป็นจุดกำเนิดของระบบเงินตราในที่สุด ซึ่งพอหนังจบ ไฟในผนังถ้ำก็จะสว่าง ให้เราได้เข้าไปดูสิ่งของจัดแสดงภายใน ซึ่งเป็นของที่ใช้แลกเปลี่ยนค้าขายกันในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็เข้าสู่โซนถัดไป เป็นเรื่อง เส้นทางวิวัฒนาการเงินตรา ซึ่งมีเงินตรารูปแบบต่าง ๆ มากมายจากทั่วโลกมาให้ได้ชมกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เริ่มจากหอยเบี้ยที่แต่ก่อนมีแหล่งผลิตสำคัญในแถบหมู่เกาะมัลดีฟ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เขี้ยวสัตว์ ที่ขาว ๆ หน่อยทางขวาเป็นเขี้ยวหมาป่า ส่วนที่ขรุขระสีออกน้ำตาลทางซ้ายเป็นเขี้ยวค้างคาว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แม้แต่หนังสัตว์อย่างหนังกระรอกก็เป็นสินค้ายอดฮิตที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างเป็น เกลือ แล ใบชา เครื่องอุปโภคบริโภคสำคัญที่สะดวกและมีค่ายิ่งในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมล็ดโกโก้ เงินตราล้ำค่าแสนอร่อย ของชนเผ่ามายาและแอซเท็กในอเมริกาใต้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในส่วนนี้มีเกมให้เล่นด้วยค่ะ เป็นเกมที่เรามีสินค้าอยู่อย่างหนึ่ง และต้องการของอีกอย่างหนึ่งก็เลยต้องเอาของที่เรามีไปแลก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าคนที่มีของที่เราอยากได้กลับไม่ได้อยากได้สิ่งที่เรามีเสมอไป ก็เลยต้องวุ่นวายไปแลกอย่างอื่นก่อนจนได้สิ่งที่เขาอยากได้ กว่าจะได้ของที่เราต้องการแต่ละครั้งช่างยากเย็นทีเดียว จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบเงินตรานั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้เป็นเงินและของที่ใช้แทนเงินซึ่งจำลองมาให้จับกันได้อย่างเต็มที่   

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีป้ายอักษรเบรลกำกับด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้เป็นเงินก้อนหิน เงินที่แข็งและใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ใช้เป็นสินสอดในงานแต่งงาน หรือเมื่อสินไหมปรับเมื่อแพ้คดี ในดินแดนแถบหมู่เกาไมโครนีเซีย กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นเงินขนนก ก็เป็นของชาวเกาะทะเลใต้อีกเหมือนกัน ได้จากการนำขนนกสีแดงมาติดลงบนใยพืชที่ทอยาว ๆ ราวสิบเมตร เอาไว้ประดับหัวเรือเพื่อความโชคดีในการออกทะเล และใช้เป็นสินสอดด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นเข็มขัดเปลือกหอยที่ชาวอินเดียนแดงใช้เป็นสัญลักษณ์หมู่บ้าน และใช้ในการแลกเปลี่ยนและทำข้อตกลงระหว่างกันด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนด้านล่างเป็นลูกปัดลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่เดิมใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตรา นิยมมากในแถบแอฟริกา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เช่นเดียวกับฝ้าทอใยปาล์มด้านล่างนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แต่เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอายุการใช้งานและความทนทานไม่สูงนัก แต่มีขนาดใหญ่ไม่สะดวกต่อการขนส่งเท่าไร ต่อมาผู้คนจึงหันมาใช้โลหะมีค่าในการแลกเปลี่ยนกันแทน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีการพัฒนาเงินตราที่ทำจากโลหะขึ้นในลักษณะต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นใบหอก กำไล แหวน รูปสัตว์ หรือสิ่งของต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างเป็นเงินรูปสัตว์ ที่นิยมกันในแถบมลายู โดยเงินรูปไก่นี้มีห่วงไว้ให้สะดวกเวลาหักใช้จ่ายปลีกย่อยด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากนั้นก็เป็น “เงินลาริน” เงินรูปตะขอหรือเบ็ดตกปลา หรือแหนบที่นิยมกันในหมู่พ่อค้าชาวเปอร์เซีย แพร่หลายมาถึงอินเดีย ศรีลังกา ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในส่วนของจีนก็มีเงินมีดและเงินหน้าผี ซึ่งไม่ได้สลักหน้าผีแต่เป็นอักษรจีนที่ระบุมูลค่า ใกล้เคียงกับเงินเหรียญกษาปณ์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนออกจากห้องนี้สามารถทำของที่ระลึกเองฟรี ๆ ได้ด้วย คือที่ขั้นหนังสือปั้มนูนเป็นตราเหรียญค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาแล้วแวะเข้าห้องน้ำกันได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องน้ำที่นี่สะอาดและสวยงามทีเดียวค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นเราก็มาเดินชมนิทรรศการต่ออีกนิด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเหรียญในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตเหรียญที่ระลึกอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดด้วยค่ะ อย่างในภาพล่างนี้เป็นเหรียญที่ระลึกจังหวัดร้อยเอ็ดค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ทางเดินตรงนี้จัดแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการเงินตราไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีของจำลองให้สัมผัส

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และตรงสุดทางมีกิจกรรมให้แรเงารูปเงินไทยแบบต่าง ๆ ในสมัยต่าง ๆ โดยมีคำบอกชนิดของเงินนั้น ๆ อยู่ใต้แบบจำลอง เผื่ออ่านจากบอร์ดไปรอบเดียวแล้วจะลืมด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวาดภาพด้วยไหมพรมซึ่งผู้พิการทางสายตาก็ร่วมด้วยได้สบาย ๆ หรือผู้ตาดีถ้าอยากลองก็ใส่ผ้าปิดตาวาดด้วยก็ได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แม้ในวันที่ 1 ก.ค. ในปีนี้ (พ.ศ. 2562) จะไม่ใช่วันหยุดครึ่งปีสถาบันการเงินแล้ว เพราะเรามีระบบการปิดบัญชีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตอันทันสมัย ในชีวิตประจำวันเหรียญกษาปณ์เองก็เปลี่ยนมามีบทบาทในเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ผ่านเหรียญที่ระลึกในวาระสำคัญต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เพื่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างเดียว หากมีเวลาว่างก็แวะเวียนมาชมกันได้นะคะ โดยติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ได้ที่ https://coinmuseum.treasury.go.th/ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow