Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝนที่ตกลงมาเคยเป็นน้ำแข็งมาก่อน

Posted By Guide NT | 21 พ.ย. 62
16,911 Views

  Favorite

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนใกล้กับเส้นศูนย์สูตร มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ทั่วประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ย 19 - 38 องศาเซลเซียส ทำให้โอกาสที่จะเกิดหิมะตกนั้นน้อยมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีแต่ฝนตก แต่รู้หรือไม่ว่าฝนที่ตกลงมานั้นเคยเป็นน้ำแข็งมาก่อน

 

การเกิดฝนตกหนักและมีสภาพอากาศที่รุนแรงมักจะมาจากพายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) ซึ่งเกิดจากเมฆที่ก่อตัวตามแนวดิ่ง เมฆชนิดนี้มีชื่อว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) มีความสูงได้ถึงประมาณ 18 กิโลเมตร การก่อตัวของเมฆชนิดนี้เกิดจากกลุ่มของอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ จากนั้นมวลของอากาศจะเย็นลงและควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ซึ่งในบรรยากาศจะต้องมีละอองลอย (Aerosol) เพื่อเป็นแกนให้ไอน้ำมาจับตัวกันกลายเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก เมื่อละอองน้ำขนาดเล็กหลาย ๆ อนุภาคมารวมตัวกันจะกลายเป็นหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และตกลงมาสู่พื้นโลกกลายเป็นฝนตกนั่นเอง นอกจากเมฆชนิดนี้จะทำให้เกิดฝนตกแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลมกรรโชกแรงขณะฝนตกหรือก่อนฝนตก ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น

ภาพ : Shutterstock

 

ยิ่งมีมวลของอากาศร้อนลอยขึ้นมาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้เมฆคิวมูโลนิมบัสมีขนาดใหญ่และสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะส่วนบนของเมฆคิวมูโลนิมบัสที่อุณหภูมิของอากาศในบริเวณนั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าละอองน้ำหรือหยดน้ำที่ได้จากการรวมตัวกันของละอองน้ำหลาย ๆ อนุภาค จะถูกทำให้กลายเป็นผลึกน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศในก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส และหากยังมีละอองหรือหยดน้ำอยู่ในก้อนเมฆ ผลึกน้ำแข็งจะเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนมีน้ำหนักมากพอที่จะถูกแรงดึงดูดของโลก ดูดให้ตกลงมาสู่พื้นโลกได้ หากผลึกน้ำแข็งนี้ตกลงสู่พื้นโลกในประเทศที่อยู่ในเขตหนาวหรือที่ละติจูดสูง ๆ ขึ้นไป ก็จะกลายเป็นหิมะตกเหมือนในประเทศทางตอนเหนือ เช่น รัสเซีย จีน กรีนแลนด์

 

อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (ชั้นบรรยากาศจากพื้นโลกขึ้นไปถึงประมาณ 10-12 กิโลเมตร) มีแนวโน้มลดลงตามความสูง แต่ในทางกลับกันเมื่อระดับความสูงลดลง อุณหภูมิของอากาศก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อผลึกน้ำแข็งในเมฆคิวมูโลนิมบัสตกลงมาสู่พื้นโลก ความร้อนจากบรรยากาศจะถ่ายเทให้แก่ผลึกน้ำแข็งจนมันหลอมเหลวกลายเป็นน้ำ หรือก็คือกลายเป็นฝนตกตามที่เราเห็นได้ทั่วไป ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนและใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ถ้าจะให้หิมะตกคงเป็นไปได้อยาก ดังนั้น เมื่อมีผลึกน้ำแข็งจากก้อนเมฆที่อยู่สูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศตกลงมาในประเทศไทย มันจะถูกหลอมเหลวให้กลายเป็นน้ำจากความร้อนในชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้กับพื้นโลกนั่นเอง

ภาพ : shutterstock

 

หมายเหตุ นอกจากเมฆคิวมูโลนิมบัสที่จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและสภาพอากาศที่รุนแรงแล้ว ยังมีเมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ที่ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องกัน มีลักษณะเป็นแผ่นสีเทาแผ่ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า แต่ภายในก้อนเมฆจะมีโอกาสในการก่อตัวของผลึกน้ำแข็งน้อยมาก เนื่องจากเป็นเมฆที่อยู่ในชั้นกลาง (ความสูงของเมฆชั้นกลางประมาณ 2,000 – 6,000 เมตร) และมีฐานอยู่ในชั้นล่าง ฉะนั้น อุณหภูมิของอากาศยังไม่สามารถทำให้น้ำจับตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็งได้

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชั้นบรรยากาศของโลก
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow