Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความร้อนใต้พิภพมาจากไหน

Posted By Guide NT | 23 ก.ย. 62
41,829 Views

  Favorite

ยุคสมัยที่หลายคนตื่นตัวเรื่องพลังงานและพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อนำมาใช้แทนพลังงานที่กำลังจะหมดไป ซึ่งพลังงานที่หามาทดแทนจะต้องสามารถนำมาเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตได้ หนึ่งในนั้นคือ พลังงานความร้อนใต้พิภพ แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ความร้อนจากใต้พิภพนี้มาจากไหน

 

พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) เป็นพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดจากความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ใต้พื้นผิวของโลก โดยที่อุณหภูมิที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกจะเพิ่มสูงขึ้นตามระดับความลึก ยิ่งลึกมากยิ่งร้อนมาก โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางของโลกจะมีอุณหภูมิสูงถึง 3,500 – 4,500 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนนี้จะเดินทางผ่านตัวกลางที่เรียกว่าหืนหนืดขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงเปลือกโลก กลายเป็นการหมุนเวียนของกระแสความร้อนภายในโลก (Convection Cell) ฉะนั้นแก่นโลกของเราจึงเปรียบเสมือนเตาหลอมเหลวที่มีการไล่ระดับความร้อน ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและความดันตามระดับความลึก โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นประมาณ 25 องศาเซลเซียสต่อความลึก 1 กิโลเมตร

ภาพ : Shutterstock

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่แก่นกลางของโลก คือ ปฏิกิริยาการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี (Nuclear Fission) เช่น ธาตุ K-40, U-238, U-235 และ Th-232 ซึ่งเป็นความร้อนที่เหลือจากการก่อตัวของดาวโลก โดย 90 % ของพลังงานความร้อนใต้พิภพมาจากปฏิกิริยาการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี และความร้อนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะอยู่ระหว่างขอบของแก่นโลกชั้นนอกที่เป็นของเหลวและแก่นโลกชั้นในที่เป็นของแข็ง เนื่องจากความดันที่มหาศาลจนทำให้ของเหลวร้อนบีบอัดจนกลายเป็นของแข็งได้

 

ความร้อนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะมาตามการหมุนเวียนของกระแสความร้อนภายในโลก และผ่านมาตามรอยแตกของชั้นเปลือกโลกในรูปแบบของหินหนืดหรือลาวานั่นเอง แต่เราจะไม่เห็นหินหนืดไหลขึ้นมาบนพื้นผิวโลกนอกจากจะมีการระเบิดของภูเขาไฟ แต่ความร้อนนี้จะผ่านมากับตัวกลางที่เป็นน้ำ ซึ่งเกิดจากการที่น้ำไหลซึมผ่านไปตามรอยแตกของชั้นหินและชั้นดินหลายกิโลเมตร จนได้รับพลังงานความร้อนจนกลายเป็นไอน้ำร้อนหรือน้ำร้อนและไหลกลับขึ้นมาสู่ด้านบน โดยเราอาจจะสังเกตได้จากลักษณะของพื้นดินที่มีระอุไปด้วยไอน้ำร้อน น้ำพุร้อน โคลนเดือด ไอน้ำร้อน เป็นต้น ซึ่งพลังงานความร้อนเหล่านี้จะถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินเนื้อพรุนจนกลายเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ และมีพลังงานความร้อนมหาศาลบางแหล่งกักเก็บอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 370 องศาเซลเซียส

ภาพ : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow