Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Tips: 8 เคล็ดลับอัพคะแนนสอบ Reading

Posted By bongkot_jara | 28 มิ.ย. 62
46,063 Views

  Favorite

ข้อสอบ Reading เป็นส่วนที่มีอยู่ในทุกการสอบ ไม่ว่าจะเป็น GAT, TCAS, CU-TEP, TU-GET, TOEIC, TOEFL หรือ IELTS ซึ่งก็มักเป็นบทยาว ๆ ครึ่งหน้าบ้าง เต็มหน้าบ้าง หลายคนแค่เห็นตัวหนังสือเยอะๆ ก็พาลจะตาลายแล้ว อีกทั้งข้อสอบ Reading ก็มักจะอยู่ส่วนท้ายอีกด้วย กว่าจะทำมาถึงพาร์ทนี้ เราก็แทบจะหมดแรงจะอ่านอะไรยาว ๆ อีกแล้ว อ่านก็ไม่รู้เรื่อง เวลาก็เหลือน้อย สุดท้ายก็กลายเป็นพาร์ทที่หลายคนทำไม่ทัน และได้คะแนนส่วนนี้ไม่มากเท่าที่ควร วันนี้เลยจะมาเผย 8 เคล็ดลับ อัพคะแนนสอบ Reading กันค่ะ

 

1. ฝึกทำข้อสอบยิ่งมากยิ่งดี

เคล็ดลับข้อแรกคือ การลงมือทำบ่อย ๆ ค่ะ ของอย่างนี้มันต้องฝึก ฝึก ฝึก และฝึก จำไว้เลยค่ะว่า Practice Makes Perfect! ให้หาข้อสอบเก่ามาลองทำ จะหาของฟรีจากอินเตอร์เน็ต ยุคนี้ความรู้มีอยู่มากมาย ทั้งในเว็บ หรือจะดาวน์โหลด Mobile Application มาอ่านในมือถือ หรือลงทุนนิดหน่อยซื้อหนังสือรวมข้อสอบสรุปไวยากรณ์มาลองทำก็ได้การได้ฝึกบ่อย ๆ รับประกันเลยว่าจะทำให้ทักษะการอ่านของเราดีขึ้น เร็วขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน อีกทั้งยังได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นระหว่างการฝึกทำอีกด้วย เคล็ดลับข้อนี้จึงเป็นภาคบังคับที่ต้องฝึกทำอย่างจริงจัง หากอยากได้คะแนนดี ๆ ห้ามขี้เกียจเด็ดขาดเลยนะ

 

2. ให้จับเวลาเหมือนสอบจริง

เคล็ดลับข้อ 2 คือ การลองจับเวลาตอนฝึกทำข้อสอบไปด้วย การจับเวลาให้เหมือนสอบจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะเราจะได้รู้ว่า ต้องบริหารเวลาอย่างไร ลองคำนวณง่าย ๆ ว่า ข้อสอบมีกี่ข้อ เวลาสอบทั้งหมดกี่ชั่วโมง แล้วข้อนึงต้องใช้เวลาไม่เกินกี่นาที อย่าลืมเผื่อเวลาตรวจทานอีกเล็กน้อยไว้ด้วย นอกจากนั้นแล้วข้อไหนอ่านไม่รู้เรื่องเลย ศัพท์ยากมากมาย ก็ควรข้ามไปก่อน อย่ามัวเสียเวลาอ่านวนเวียนซ้ำไปมา เพราะเรื่องถัดไปอาจจะง่ายและทำได้เร็วกว่า ถ้ามีเวลาเหลือค่อยกลับมาทำได้

 

3. โฟกัสให้ชัดในประโยคแรก ๆ ของบทความ

ขณะทำข้อสอบ อย่าอ่านไปเรื่อย ๆ ค่ะ ให้จับจุดโฟกัสไปที่เนื้อความตอนต้นก็คือพวกประโยคแรก ๆ ของย่อหน้าแรก จะช่วยให้เรามองเห็นเค้าโครงเรื่องราวโดยคร่าว ๆ ได้ ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร หรือบางทีเดาได้เลยว่าคำถามจะมาไม้ไหน ข้อสอบมักจะเป็นคำถามประเภทที่ว่า เรื่องนี้พูดถึงอะไร ใครต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นแล้ว ประโยคแรก ๆ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ดีและอ่านให้ละเอียด นอกโฟกัสตอนต้นแล้ว ในเนื้อเรื่องส่วนท้าย ๆ ก็ต้องอ่านให้ละเอียดเช่นกัน เพราะเป็นส่วนสรุปเรื่องราว หรือ บอกว่าใครสุดท้ายต้องทำอะไร และมีภายในกำหนดเมื่อไหร่

 

4. อ่านคำถามก่อนอ่านบทความทั้งหมด

เคล็ดลับนี้ เป็นเทคนิคช่วยประหยัดเวลาในการอ่าน ให้เริ่มจากอ่านประโยคแรก ๆ ให้พอรู้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วให้ไปดูที่คำถามด้านล่าง ว่ามีอะไรบ้าง เช่น ถามว่า คนนี้เป็นใครเมื่อกลับมาอ่านเนื้อหาโดยละเอียดอีกครั้งก็จะค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน บางทีอ่านไปแค่หน่อยเดียว ก็พบประโยคที่เป็นคำตอบแล้ว ซึ่งเราก็สามารถกาคำตอบได้ทันที ไม่เสียเวลาอ่านจนจบแล้วค่อยอ่านคำถาม เพราะสุดท้าย แม้เราจะจำได้ แต่เพื่อความมั่นใจ เราก็ต้องย้อนไปมองหาประโยคที่เป็นคำตอบอีกอยู่ดี

 

5. เอาปากกาหรือดินสอชี้ขณะอ่านไปด้วย

เคล็ดลับข้อนี้จัดว่าเด็ด เพราะวิธีนี้ช่วยให้เรามีสมาธิอย่างเหลือเชื่อค่ะ ใครที่เป็นพวกวอกแวก คิดนู้นคิดนี่ง่าย หรือสมาธิไม่นิ่งให้ลองใช้วิธีนี้เลยค่ะ เวลาอ่านให้ใช้ปากกาหรือดินสอชี้ไปตามสิ่งที่อ่าน ไม่ต้องจิ้มทีละคำนะคะ แค่ชี้ลากไปเรื่อย ๆ ตามคำที่อ่านถึง ทำให้มีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่อ่านได้ดีและยังประมวลความคิดทำความเข้าใจได้เร็วขึ้นด้วย นอกจากนั้น ถ้าพบคำไหนที่คิดว่าสำคัญก็วงไว้ ขีดไว้ เวลาย้อนมาหาจะได้ไม่เสียเวลา พอเราอ่านมาเยอะ ๆ ตามันก็จะเริ่มล้าเริ่มลาย กว่าจะกวาดตาหาคำคำนั้นได้ก็กินเวลาไปอีกแต่ถ้าขีดไว้ มองแว่บเดียวก็เจอ

 

6. ท่องศัพท์ที่ควรท่อง

แน่นอนว่า การรู้คำศัพท์จะช่วยทำคะแนนได้มากใน Reading แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้มีกันน้อย ๆ มีกันเป็นหมื่นเป็นแสนคำ ใครจะไปท่องไปจำได้หมดใช่มั้ยล่ะ และอีกอย่างข้อสอบจะเอาคำไหนมาออกก็ได้ การตะบี้ตะบันท่องศัพท์ให้ได้มาก ๆ จึงไม่ได้ช่วยให้ทำข้อสอบได้อย่างที่คิดจำไปก็ไม่หมด ท่องไปก็ใช่ว่าจะออกสอบ แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ค่ะ แค่ลองหาคำศัพท์ที่ออกบ่อยของข้อสอบนั้นมาท่อง ซึ่งมีผู้รู้รวบรวมไว้มากมายให้ทั้งในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ทีนี้คำศัพท์ที่ต้องท่องก็เหลือแค่ไม่กี่สิบคำ หรือแค่หลักร้อย อาจจะดูเยอะหน่อย แต่ดีกว่าการลุยท่องมันครอบจักรวาลจริงมั้ยล่ะ

 

7. ฝึกเดาความหมายศัพท์อย่างมีชั้นเชิง

หลายคนบ่นว่า ให้ท่องศัพท์ ก็ท่องนะ ท่องมาก็ไม่น้อย แต่ข้อสอบดันไปออกคำที่ไม่ได้ท่องซะอย่างนั้นอ่านไม่รู้เรื่อง ก็มันแปลศัพท์ไม่ออกเลย ทำไงดีอย่าเพิ่งถอดใจไปค่ะ เคล็ดลับยังไม่หมด เพราะเรายังมีทีเด็ดอยู่ที่การสังเกต บวกกับความรู้ไวยากรณ์บ้างเล็กน้อย เช่น Prefix-Suffix หรือ รากศัพท์ ก็พอจะเดาความหมายได้ หรือพอจะตัดตัวเลือกข้อที่ไม่ใช่แน่ ๆ ออกไป หรืออีกเทคนิคคือให้สังเกตดูจากบริบทรอบ ๆ คำไหนไม่รู้ความหมาย แต่รอบ ๆ คำนั้นเรารู้ ก็พอจะเดาได้ว่า คำนี้เป็นเชิงบวกหรือลบ เป็นคน หรือสิ่งของ หรือสถานที่ น่าจะเป็นความหมายแนวไหน เช่น ขึ้นต้นมามีแต่คำเชิงลบ คำแสดงความไม่พอใจ ก็อาจจะเป็นเรื่องการร้องเรียนปัญหาบางอย่าง

 

8. ไวยากรณ์ ของมันต้องมี

เคล็ดลับข้อสุดท้าย ความรู้ไวยากรณ์ ก็สำคัญ เชื่อว่าแกรมม่า น่าจะเป็นยาขมหม้อใหญ่ของหลายคน แต่เชื่อเถอะว่ายามคับขัน ไวยากรณ์จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยได้ เมื่อเราไม่รู้ความหมาย หรือแปลศัพท์ไม่ออก แต่รู้ว่าคำนี้เป็นคำขยาย คำนี้ต้องตามด้วยVerb.ing หรือ V.ช่อง 2 ช่อง 3 หรือคำนี้ใช้คู่กับอะไรได้บ้าง คำนี้ต้องเติม ed เติม s หรือไม่เติมอะไรเลย หรือพวกโครงสร้างประโยคต่าง ๆ ความรู้ไวยากรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราเดาคำศัพท์ หรือลำดับเรื่องราวได้ หรืออย่างน้อยหรือตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไป กลายเป็นว่าทำข้อสอบข้อนั้นได้ซะอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่เราแปลไม่ออกไม่รู้ความหมายอะไรเลย เจ๋งมั้ยล่ะ เพราะฉะนั้น รู้อย่างนี้แล้วก็ลองพยายามอ่านและทำความเข้าใจไวยากรณ์ไว้ด้วยนะคะ

 

หวังว่า เคล็ดลับเหล่านี้ จะช่วยให้น้อง ๆ ทำคะแนนสอบ Reading ได้ดีขึ้น ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • bongkot_jara
  • 19 Followers
  • Follow