Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ข้อดี – ข้อเสีย ของการผ่าตัดส่องกล้องมดลูกและวิธีการปฎิบัติตัวหลังการผ่าตัด

Posted By ChinJungGu | 20 มิ.ย. 62
2,613 Views

  Favorite
.

               ผู้หญิงเมื่อมีอายุมากขึ้นตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปก็เริ่มที่จะเสี่ยงต่อการตรวจพบโรคเนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยโรคที่พบมากเป็นอันดับแรกคือ เนื้องอกมดลูก และที่น่าสนใจคือในผู้หญิง 10 คนจะพบผู้หญิงที่เป็นโรคภายใน 3 ถึง 4 คน โดย 3 ถึง 4 คนนี้มี 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษา เพราะฉะนั้นควรหมั่นไปตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปี แต่ก่อนการตรวจภายในอาจจะมีวิธีที่ยุ่งยากและซับซ้อน ผิดกับเดี๋ยวนี้ที่การตรวจภายในมีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย อย่างการส่องกล้องเป็นต้น เพื่อตรวจหาเนื้องอกจากปากมดลูก และทำการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องมดลูก วิธีนี้จะทำให้แพทย์มองเห็นบริเวณที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดมีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ไม่กระทบกับอวัยวะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องเหมือนกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องมดลูกก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จะมีอะไรบ้างที่เป็นข้อดี และมีอะไรบ้างที่เป็นข้อเสีย ว่าแล้วเราก็มาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

                ข้อดี – ข้อเสีย ของการผ่าตัดส่องกล้องมดลูก

ข้อดีในการผ่าตัดส่องกล้องมดลูก

  • ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง ขนาดแผลที่เกิดขึ้นประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร รวม 3 แผล ที่ผนังหน้าท้องน้อย
  • เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะมีน้อย
  • ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด สามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็ว ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หลังจากผ่าตัด
  • ไม่ต้องหยุดงานนานเหมือนการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านเพียง 1 – 2 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
  • การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง

ข้อเสียในการผ่าตัดส่องกล้องมดลูก

  • ไม่สามารถใช้การผ่าตัดชนิดนี้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากเกิน 15 เซนติเมตรขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดมดลูกแบบผ่านกล้องได้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจไม่สามารถใช้การผ่าตัดมดลูกแบบผ่านกล้องได้
  • ผู้ป่วยที่มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมากเกินไป เช่นผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดชองท้องมาหลายครั้ง
  • แพทย์ที่จะทำผ่าตัดมดลูกแบบผ่านกล้องต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น จึงสามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องได้

             หากตรวจพบเนื่องอกและได้รับการผ่าตัดส่องกล้องมดลูก สิ่งที่ต้องทำหลังการผ่าตัด คือ รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ ให้ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ โดยไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรที่จะเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ ลุกเดินบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้องจากแผลผ่าตัด ต้องคอยสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น เจ็บหรือปวดแผลมากขึ้นเรื่อยๆ มีไข้ มีเลือด หนอง หรือของเหลวไหลออกมา เกิดการบวมแดงตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที และข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก ๆ คือ ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กินยา และเข้ารับการตรวจตามนัดค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ChinJungGu
  • 1 Followers
  • Follow