Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฝังศพไว้ใต้ต้นซากุระมีผลต่อสีของดอกซากุระจริงหรือ

Posted By Rezonar | 10 มิ.ย. 62
13,935 Views

  Favorite

หากศพของมนุษย์ถูกฝังอยู่ใต้ต้นซากุระ สีของดอกไม้จะเข้มขึ้นจนแดงเหมือนเลือดมนุษย์หรือไม่!?!?!?

 

 

 

ในปี ค.ศ. 1928 เรื่องสั้นสุดคลาสสิคอย่าง Beneath the Cherry Trees (桜の樹の下には) ของ Motojiro Kajii นักเขียนชาวญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงประโยคที่ชวนให้ตื่นเต้นว่า “ดอกซากุระเบ่งบานสวยงามนั้น เพราะดูดซับสารอาหารจากศพที่ถูกฝังไว้เบื้องล่าง”

 

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ดอกซากุระเปรียบเสมือนตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิที่มาถึง และความหนาวเหน็บอันยาวนานที่ได้ผ่านพ้นไป ดังนั้น แม้เวลาจะผ่านมานานมากก็ตาม ประโยคนี้ก็ยังตรึงใจและน่าพิศวงอยู่เสมอ วันนี้เราลองมาค้นหาข้อเท็จไปด้วยกัน

 

 

สีของดอกซากุระเกิดขึ้นได้อย่างไร?

แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นรงควัตถุที่พบได้ทั้งในดอกและในผลของพืช ซึ่งจะให้สีแดง น้ำเงิน และม่วง โดยเฉพาะในดอกซากุระ จะมีสารประกอบหลักที่เรียกว่า ไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ (Cyanidin-3-glucoside หรือสารประกอบของแอนโทไซยานินกับน้ำตาล) ผลขององค์ประกอบนี้คือ จะทำให้ดอกไม้ผลิดอกเป็นขาวและสีชมพูตามแต่ละสายพันธุ์ ดังนั้น สีของดอกซากุระจึงเป็นอย่างที่เราได้เคยเห็นกันมา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสีของดอกเหล่านี้จะถูกรักษาไว้ตามพันธุกรรมของสายพันธุ์ นอกจากนี้ พืชในตระกูลเบอร์รี ก็มีแอนโทไซยานิน เป็นสารประกอบหลักด้วยเช่นกัน

 

จะเกิดอะไรขึ้น หากฝังศพไว้ใต้ต้นซากุระจริง ๆ

เลือดของมนุษย์ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีค่า pH เป็นด่างอ่อน ๆ แต่เมื่อมนุษย์เสียชีวิตลง เซลล์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและให้ค่าความเป็นกรด เมื่อร่างกายเริ่มเน่าเปื่อยลงไปเรื่อย ๆ จะเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfield/Hydrogen sulfide) หรือที่รู้จักกันในชื่อของก๊าซไข่เน่านั่นเอง และมีสภาพเป็นกรดอ่อนเช่นกัน เมื่อร่างมนุษย์ถูกฝังลงใต้ต้นซากุระ จึงมีความเป็นไปได้ที่ดินส่วนหนึ่งจะกลายเป็นกรด อย่างไรก็ตาม โดยปรกติ ดินส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเองก็มีสภาพเป็นกรด เนื่องจากอิทธิพลจากน้ำฝน ดังนั้น การเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับต้นซากุระที่เติบโตมานานจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

 

นอกจากนี้ จากข้อมูลทางพันธุกรรมของดอกซากุระ ตัวมันเองจะพยายามรักษาสีของดอกเอาไว้ ดังนั้น แค่ปฏิกิริยาที่ดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสีของดอกได้ แต่ถ้าหากว่าเกิดขึ้นจริง เฉดสีของดอกก็จะไม่เข้มขึ้นจนแดง แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เนื่องจากการผสมผสานกันของแอนโทไซยานินและอลูมิเนียมซึ่งโดยทั่วไปแล้วพบได้ในธรรมชาติโดยเฉพาะในดิน

 

 

แล้วอะไรที่มีผลกับสีของดอกซากุระ?

สิ่งที่มีผลกับสีของดอกซากุระโดยตรง คือ อุณหภูมิ นั่นเพราะว่า ยิ่งอุณหภูมิลดลง แอนโทไซยานินจะสลายตัวได้ยากขึ้น ส่งผลให้ดอกซากุระบานช้า แต่สีชมพูของดอกจะเข้มขึ้น

 

ถึงแม้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว การฝังศพมนุษย์ไว้ใต้ต้นซากุระ จะไม่ได้ทำให้สีของดอกเปลี่ยนไป แต่คำกล่าวในนิยายข้างต้นก็คงไม่ได้ผิดแต่อย่างใด นั่นเพราะร่างกายของมนุษย์ มีส่วนประกอบของกรดฟอสฟอริก ไนโตรเจน และโพแทสเซียม ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ มีส่วนช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เมื่อร่างกายย่อยสลายอยู่ใต้ดิน สารเหล่านี้ย่อมให้อาหารแก่พืช และดอกซากุระคงเบ่งบานสวยงามได้นั่นเอง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow