ชื่อความรู้ เปลี่ยนตัวเรา ให้เป็นวิทยากรมืออาชีพ “ในแบบของเรา”
เจ้าของความรู้ นายณฐกรธรรม แสนเสน่ห์
ตำแหน่ง/สังกัด นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
แก้ปัญหา/พัฒนาเกี่ยวกับ เพิ่มทักษะบุคคลากรให้เป็นวิทยากรมืออาชีพ ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี มุ่งสู่การเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
ความเป็นมา
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี มีบทบาทหน้าที่ ภารกิจในการขับเคลื่อนงานและพัฒนา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการการใช้บริการของภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ทั้งทางด้านการฝึกอบรม ด้านวิชาการ ด้านสถานที่และการบริการ ซึ่งการฝึกอบรมในแต่ละโครงการ หรือกิจกรรม จำเป็นจะต้องมีวิทยากรที่จะถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย สำหรับตนเองคิดว่า “วิทยากร” เป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้มีองค์ความรู้มาก โดยเฉพาะเรื่องที่มีความชำนาญและต้องการที่จะถ่ายทอด อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนา (Development) และผู้การเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เพราะการพัฒนา “คน” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะการพัฒนาคนนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จในองค์กร ทั้งนี้การพัฒนาคนมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ จิตใจ แนวคิด ทัศนคติ ฯลฯ ดังนั้นผู้ที่จะทำให้เกิดการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ “วิทยากร”
การฝึกอบรมเป็นวิธีการในการพัฒนาคนที่ดีที่สุด และการฝึกอบรมที่ดีจะต้องมีการวางแผน การเตรียมการที่ดีและเป็นระบบ ทั้งนี้การฝึกอบรมจะประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับวิทยากร เนื่องจากวิทยากรที่มีความสามารถนอกจากจะมีองค์ความรู้ในเนื้อหาวิชาที่บรรยายแล้ว ต้องสามารถดึงความสนใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้อยู่กับเนื้อหาวิชา หรือตัววิทยากรให้ได้ การถ่ายทอดมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของวิทยากรท่านนั้นๆ
กระบวนการ/วิธีการ
จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการที่ผ่านมาพบว่า วิทยากรแต่ละท่านจะมีวิธีการ และเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ที่ต่างกัน หากเราสามารถดึงเทคนิคของแต่ละคนมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเองได้ การเป็น “วิทยากรมืออาชีพ” ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย การเป็นวิทยากรที่ดีไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียว ต้องเกิดจากพรแสวงที่สำคัญด้วย วิทยากรที่ดีควรจะต้องรู้จักเทคนิค วิธีการเตรียมตัวและพัฒนาตนเอง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี คือ
1. ความเชื่อมั่นในตนเอง หากวิทยากรขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความมั่นใจในเรื่องที่จะถ่ายทอด ความสำเร็จก็คงไม่ตามมาแน่นอน ดังนั้นวิทยากรมืออาชีพจึงควรมีความเป็นผู้นำ อาจแสดงออกทางบุคลิกภาพ สีหน้า แววตา และน้ำเสียงที่ทรงพลัง สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นได้
2. การหาข้อมูล รายละเอียด ความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นมาของเรื่องที่จะถ่ายทอด โดยวิธีต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ อ่านตำราที่หลากหลาย ฟังและเก็บข้อมูลจากผู้รู้ ศึกษาวีดิทัศน์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต แล้วนำมาปรับ ประยุกต์ใช้ในการเป็นวิทยากรในแบบของเรา เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติ
3. สะสมข้อมูลต่างๆ โดยจัดเก็บเป็นระบบหรือแบ่งเป็นประเภท เช่น เพลง คำขวัญ คำกลอน สุภาษิต คำคม คำพังเพย ต่าง ๆ คำผวน ภาษาหักมุม มุขตลก นิทานสั้น ๆ คำถามทดสอบเชาว์ปัญญา เกมหรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้สะดวกและศึกษาข้อมูลแต่ละประเภท พยายามจับประเด็นและหักมุม สอดแทรกเชื่อมโยงเข้าในเรื่องที่จะเสนอให้ได้ วิทยากรใหม่ควรเริ่มต้นจากการเป็นวิทยากรกลุ่มย่อยเพื่อสะสมประสบการณ์
4. หัดเล่าเรื่อง ให้เพื่อนหรือคนอื่นฟังในวงเล็กๆ ต้องพยายามหักมุมตอนท้ายให้ได้ ฝึกการใช้น้ำเสียงลีลาหรือกิริยาท่าทางประกอบที่เหมาะสมในการเล่า เรื่องเป็นทางการ เรื่องตื่นเต้น หรือเรื่องสนุกขบขัน ถ่ายทอดความรู้ พูดเรื่องที่ซับซ้อนให้สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยใช้ภาษาง่ายๆ หากเป็นภาษาอังกฤษอาจต้องแปล หรืออาจใช้ภาษาถิ่นประกอบ ใช้สื่อประกอบ คลิปวีดิโอ ภาพประกอบ ฟังผู้อื่น สังเกตกริยาท่าทางของผู้เข้าอบรม สร้างบรรยายสบายๆ สร้างมุมมองแบบสร้างสรรค์ แทรกอารมณ์ขันตามความเหมาะสม แทรกกิจกรรมฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ สรุปประเด็นสำคัญๆให้ชัดเจน
5. มนุษย์สัมพันธ์ดี/บุคลิกภาพดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง จะทำให้มีเสน่ห์ สามารถดึงดูดผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ฟังอย่างตั้งใจ รวมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการบรรยายด้วย
6. ไหวพริบปฏิภาณ แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ บางครั้งในการบรรยายอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด วิทยากรที่เป็นมืออาชีพจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณ สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
7. ความคิดเชิงบวก กล่าวคือผู้ที่ต้องการฝึกฝนตนเองให้เป็นวิทยากรมืออาชีพ ต้องคิดเชิงบวก เพราะการคิดบวก จะทำให้เกิดพลังใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ความรู้ที่นำมาถ่ายทอดเป็นความรู้ที่แปลกใหม่ และผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกิดนวัตกรรมทางความคิด
ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการความรู้
1. เทคนิคและแนวทางในการทำงาน
จากการศึกษาองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติ ทั้งภาคทฤษฎี และการปฏิบัติ วิธีการนำเสนอของวิทยากรมืออาชีพแบบครูพัก ลักจำ แล้วนำมาปรับใช้ สร้างความมั่นใจให้ตนเอง สั่งสมประสบการณ์ เริ่มจากจุดเล็กๆ ก็จะทำให้สามารถเป็นวิทยากรที่ผู้เข้าอบรมยอมรับได้ ยึดคติ“อยากเป็นวิทยากรมืออาชีพ ต้องฝึกพูดให้เป็น ศึกษาวิธีการ / หลักการ อาจจะผิดพลาดบ้างในบางครั้ง ต้องไม่ท้อแท้ ต้องฝึกหรือแสดงบ่อย ๆ จึงจะชำนาญ”
2. ข้อพึงระวัง
ข้อห้ามในการเป็นวิทยากรคือต้องไม่วิจารณ์หรือนำปมด้อย จุดด้อยของผู้เข้าอบรมมาล้อเล่น ไม่ดูถูกผู้เข้าอบรม ไม่อวดเก่ง ต้องให้เกียรติผู้เข้าอบรม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออก
3. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ความตั้งใจจริงของเรา ต้องเปิดใจให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้จากความผิดพลาด ปรับปรุงและพัฒนาตนเองตลอดเวลา พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นวิทยากรมืออาชีพ ในแบบของเรา
4. ปัญหาและวิธีการแก้ไข
ปัญหาของการเริ่มต้นเป็นวิทยากรคือความประหม่า ไม่มั่นใจ แต่สามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการเริ่มจากการเป็นวิทยากรเวทีเล็กๆ หรือกลุ่มย่อย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง แล้วเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาด พัฒนาให้เกิดทักษะ เพื่อที่จะก้าวไปเป็นวิทยากรมืออาชีพ ที่มีรูปแบบการถ่ายทอดที่น่าสนใจ ในแบบของตัวเราเอง
5. ผลลัพธ์จากการแก้ปัญหาและการพัฒนาเรื่องนั้น
แบบประเมินที่ได้แจกให้ผู้เข้าอบรมได้ประเมินหลังจากบรรยายเสร็จ ได้ผลตอบรับว่า เป็นการบรรยายที่สนุก ไม่น่าเบื่อ และได้เนื้อหาสาระตามวัตถุประสงค์ นั้นก็ถือได้ว่าตนเองได้เริ่มต้นของการเป็นวิทยากรในระดับหนึ่ง แต่การจะเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิทยากรมืออาชีพนั้น ต้องสั่งสมประสบการณ์ยาวนานหลายปีแต่เมื่อเรากล้าที่จะเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองตามสิ่งที่เราตั้งใจ ก็สามารถเป็นวิทยากรที่ผู้เข้าอบรมให้การยอมรับและมีผลการประเมินวิทยากรในระดับที่ดีมาก และสามารถนำองค์ความรู้นี้ไปปรับใช้ให้เป็นตัวตนของเรา พัฒนาตัวเองให้ทันสมัย เพื่อที่จะให้เกิดองค์กรที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง “ต้นทุนไม่เท่ากันเราอ้างได้ แต่ความพยายามไม่เท่ากัน จะไม่เป็นข้ออ้างสำหรับเรา” วิทยากรมืออาชีพ