Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พูดคุยแบบไหน ที่ไม่ขัดใจลูก

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 28 พ.ค. 62
2,977 Views

  Favorite

พ่อแม่หลายท่านคงเคยเจอปัญหา ลูกเถียง ลูกไม่ฟังกันมาบ้างใช่ไหมคะ เมื่อก่อนเราอาจพบปัญหานี้ก็ต่อเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แต่สมัยนี้เด็ก 4-5 ขวบ ก็เริ่มเถียง หรือไม่ฟังพ่อแม่แล้ว เพราะอะไรหรือคะ ก็เพราะเด็กสมัยนี้เขาเติบโตท่ามกลางข้อมูล ข่าวสาร และมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นมากกว่าสมัยก่อนนั่นเอง

 

แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะสื่อสารกับลูกได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องทะเลาะหรือขัดใจกัน วันนี้แม่แหม่มมีวีธีการสื่อสารง่าย ๆ กับลูกมาฝากกันค่ะ 

 

ภาพ : Shutterstock

 

มีการถามตอบ  

การถาม คือ การแสดงถึงความเอาใจใส่ และแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่มีความสนใจในสิ่งที่ลูกพูดมากน้อยแค่ไหน คำถามที่พ่อแม่ใช้ควรเป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่มีการตั้งข้อสงสัย หรือกำหนดคำตอบไว้ในใจ เวลาถามพ่อแม่ควรดูด้วยว่าในขณะที่ลูกเล่านั้น ลูกมีอารมณ์อย่างไร ควรเลือกถามลูกตอนที่ลูกมีอารมณ์ปกติ และพร้อมที่จะตอบคำถาม ถ้าลูกพร้อมพ่อแม่จะได้รับข้อมูลที่ชัดเจน และสามารถช่วยให้ข้อเสนอแนะกับลูกได้ พ่อแม่ควรหาเวลาว่างในแต่ละวันคุยกับลูก เช่น ในขณะที่กำลังนั่งรถกลับบ้าน หรือกำลังทานข้าว ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองของครอบครัวที่พ่อแม่ลูกควรมีเวลาให้กัน

ใส่ใจในรายละเอียด

ในการรับฟังสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกเล่านั้น พ่อแม่ควรรับฟังอย่างใส่ใจ คำว่า ใส่ใจ นี้ หมายถึง การรับฟังโดยการเอาใจที่เต็มไปด้วยความรัก เข้าไปใส่เพื่อพร้อมจะรับฟังและเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของลูก ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อจับผิด เพราะการที่พ่อแม่จะสื่อสารกับลูกได้ดีนั้น ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ การฟังลูกจึงไม่ใช่แค่การจับใจความว่าลูกพูดถึงเรื่องอะไร แต่ควรเข้าใจถึงอารมณ์และบริบทของสถานการณ์ที่ลูกเจอด้วย เพราะในบางครั้งการที่พ่อแม่ฟังเพียงแค่เนื้อหา คือคำพูด โดยขาดความเข้าใจ ก็มีโอกาสที่จะแสดงความคิดบางอย่างออกไปแล้วกระทบใจลูก ลูกอาจจะรู้สึกแย่ รู้สึกโกรธ รู้สึกว่าทำไมพ่อแม่ถึงไม่เข้าใจ ดังนั้นจงเปิดหูและเปิดหัวใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกของลูก และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีความเข้าใจในตัวเขา เขาก็จะกล้าเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากพ่อแม่มากขึ้น

รับฟังความคิดลูก

บางครั้งการรับฟังปัญหาของลูก พ่อแม่อาจต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้วิเคราะห์หรือคิดทบทวนด้วยตนเองก่อนว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นลูกคิดกับมันอย่างไร เพราะการเปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ เปรียบเสมือนการฝึกให้ลูกได้ทบทวน และไตร่ตรองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า จริง ๆ แล้วสิ่งนั้นมีความสำคัญกับชีวิตมากพอที่จะทำให้ลูกต้องเครียด หรือเป็นปัญหาในชีวิตหรือไม่ ที่สำคัญการฝึกให้ลูกไตร่ตรองกับปัญหาและวิเคราะห์ถึงวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน จะเป็นการช่วยฝึกให้ลูกเกิดทักษะการแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาให้ลูกมีความสามารถในการใช้เหตุผลเพิ่มขึ้นด้วย

แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ออกคำสั่ง

เพราะลูกกำลังอยู่ในวัยที่เรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้นพ่อแม่ที่อยากให้กระบวนการเรียนรู้ของลูกได้ทำงานอย่างเต็มที่ จึงควรเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เฝ้าดู และให้คำแนะนำกับลูก มากกว่าเป็นผู้ออกคำสั่ง พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง มากกว่าครอบงำลูกด้วยความคิดส่วนตัว เพราะเด็กที่ได้รับโอกาสในการคิด ย่อมมีความพร้อมที่จะออกไปเผชิญชีวิตมากกว่าเด็กที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ และขาดโอกาสที่จะเผชิญปัญหาด้วยตนเอง

 

​เพราะในวัยเด็ก คือวัยแห่งการเรียนรู้ พัฒนากระบวนการคิด และบุคคลิกภาพของตนให้เหมาะสม ดังนั้นหน้าที่ที่สำคัญของพ่อแม่ก็คือการประคับประคอง และให้โอกาสลูกได้เรียนรู้และทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อสังคมต่อไป

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow