Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัดราชนัดดาฯ โลหะปราสาท 1 เดียวในใต้หล้าที่ยังอยู่มาจนปัจจุบัน

Posted By ไกด์เตยหอม | 22 พ.ค. 62
19,785 Views

  Favorite

วัดวาอารามในประเทศไทยมีมากมาย แต่หนึ่งในพระอารามหลวงที่สำคัญและเป็น landmark ที่จะพลาดไม่ได้อีกแห่งคือ วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานโลหะปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดราชนัดดาฯ เป็นวัดที่ล้นเกล้าฯ ร.3 ทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าโสมนัส พระราชนัดดาพระองค์โปรด และเป็นเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ทรงสถาปนาจากหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ซึ่งต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ราชินีพระองค์แรกในล้นเกล้าฯ ร.4

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่ดินบริเวณนี้เดิมเป็นสวนผลไม้ในเขตกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง ใกล้กับป้อมมหากาฬ ทิศใต้ติดคลองหลอด บนที่อีกฟากเป็นวัดเทพธิดาราม ด้านหน้าในปัจจุบันเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นที่ต้อนรับแขกเมือง state visitors และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีรถประจำทางสาย 35 และ 56 ผ่าน ประตูทางเข้าลานจอดรถเปิด-ปิด เวลา 6.00 – 21.00 น. ค่าจอดรถยนต์ 40 บาท รถจักรยานยนต์ 10 บาท

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หากเดินเข้ามาจากทางเข้าลานจอดรถจะถึงมณฑปพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และเขาพระฉาย เขาจำลองที่มีรูปปูนปั้นของพระพุทธเจ้าในพระอิริยาบถเสด็จออกบิณฑบาตและขนาบข้างด้วยพระสาวก 4 องค์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บริเวณใกล้เคียงเป็น ‘สนามพระวัดราชนัดดาฯ’ แหล่งพระเครื่องและวัตถุมงคลตามคติความเชื่อทางพุทธ พราหมณ์ ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในกำแพงแก้วกั้นเป็นเขตพุทธาวาส (พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระกอบพิธีกรรมต่าง ๆ) ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสำคัญ 4 แห่ง คือ พระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ และอาคารประธานของวัดคือ โลหะปราสาท

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สถาปัตยกรรมภายแบบ ไทยประเพณี ตามพระราชนิยม ร.3 โดยดูจาก หน้าบันพระอุโบสถกรุไม้ลายพรรณพฤกษาแบบ เครือเถาพุดตานใบเทศ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดังภาพบน แต่ประดับกระจกสีเหลืองทองแทนการปิดทอง เพื่อความทนทาน ดังปรากฎในกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประพันธ์โดยนายมี มหาดเล็ก ความตอนหนึ่งว่า

“...ใบระกาหน้าบรรพ์สุวรรณปิด
ไม่ทนฤทธิ์ฝนรดก็ปลดเปลื้อง
กระจกเจียนเปลี่ยนผลัดจำรัสเรือง        
ทั้งขาวเหลืองเขียวแดงแลแสงคราม...”

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หน้าบันพระวิหารและศาลาการเปรียญก็ใช้เทคนิคเดียวกับพระอุโบสถ แต่ลายหน้าบันจะเป็นแบบ ดอกพุดตานก้านแย่ง (เดิมเรียก พุดตานก้านแยก) ลายยอดนิยมในยุคนั้น ซึ่งมีกลิ่นอายผสมผสานกับสถาปัตยกรรมจีนที่ชอบใช้ลายดอกโบตั๋น (牡丹) ซึ่งก็คือดอกพุดตานนั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้เสาพระอุโบสถ และพระวิหาร ยังเป็นเสาพาไลสี่เหลี่ยมทึบตัน ปลายสอบไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย เพื่อความคงทน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พระอุโบสถเปิดทุกวันเวลา 8.30-16.30 น. โดยช่วง 8.30 - 9.00 น. มีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า 16.00-16.40 น. มีการสวดมนต์ทำวัตรเย็น นอกจากนี้ทุกวันจันทร์และวันศุกร์เวลา 19.00 – 21.00 น. จะมีการสวดมนต์ถวายพระพรล้นเกล้าฯ ร.10 ด้วย นอกจากนี้ ช่วงค่ำเวลา 19.00 – 21.00 น. ของวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งก็คือวันครบรอบวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า (หลังปรินิพพาน 8 วัน) ปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พ.ค. 2562 จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ ฟังพระธรรมเทศนาและเวียนเทียนที่นี่ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานคือ พระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์ หล่อจากทองแดงที่ได้จากการทาเหมืองในแขวงเมืองนครราชสีมา ในสมัย ร.3 และได้รับพระทานนามนี้จากล้นเกล้าฯ ร.4 โดยมีหลักฐานคือแผ่นหินออนจารึกนามนี้ด้วยอักษรขอมภาษาบาลี

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงหลายครั้ง โดยดูจากเอกสาร ภาพถ่าย และสันนิษฐานจากภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านสกัด หน้าพระประธานในพระอุโบสถส่วนบนที่เป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งมีทิวไม้ระยะใกล้ใหญ่กว่าทิวไม้ระยะไกล และส่วนล่างที่เป็นภาพเหมือนของพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาสในสมัย ร.5 ซึ่งก็เป็นภาพสามมิติเช่นกัน และภาพสามมิติในไทยเป็นจิตรกรรมที่เริ่มมีขึ้นแพร่หลายตั้งแต่สมัย ร.4

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เนื่องจากเป็นวัดหลวง ใบเสมาในซุ้มทั้งแปดที่รายรอบพระอุโบสถจึงเป็นเสมาคู่ คือมี 2 ใบ ด้านหนึ่งเป็นรูปธรรมจักร อีกด้านเป็นรูปเทวดานพเคราะห์ เนื่องจากวัดนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ไทยมาแต่ในอดีต จิตรกรรมฝาผนังด้านยาวในพระอุโบสถก็เป็นภาพเทวดาจากกลุ่มดาวฤกษ์ต่าง ๆ เหาะเป็นหมู่พร้อมเครื่องสักการะอยู่เต็มท้องฟ้า

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในปัจจุบันที่ศาลารายหลังมุมฝั่งใกล้ ๆ ศาลาการเปรียญ ยังเป็นสำนักงานของสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติอีกด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อีกด้านหนึ่งของศาลาการเปรียญมีห้องน้ำ ศาลาการเปรียญเปิด 9.30 – 16.00 น. (เว้นวันศุกร์)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในมีพระประธานปางรำพึงประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปซึ่งพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) มีดำริให้หล่อขึ้น สมัย ร.5 และมีพระบรมรูปล้นเกล้าฯ ร.3 ขนาดเท่าพระองค์จริง ลงรักปิดทอง ประทับยืน ลักษณะเดียวกับพระบรมรูปหล่อที่ปราสาทพระเทพบิดร ภายในพระบรมมหาราชวัง และพระบรมรูปล้นเกล้าฯ ร.5

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จิตรกรรมฝาผนังด้านในเป็นเป็นลายดอกพุดตานก้านแย่งบนพื้นสีส้ม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็มาถึงโลหะปราสาท อาคารหลักที่สูงที่สุดของวัด ซึ่งล้นเกล้าฯ ร.3 โปรดฯ ให้สร้างเป็นประธานของวัดแทนพระมหาเจดีย์ เป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก และแห่งเดียวที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากแห่งแรก “มิคารมาตุปราสาท” ที่นางวิสาขะ (มิคารมาตุ/มิคารมาตา) สร้างถวายพระพุทธเจ้าในอินเดีย ตามบันทึกในพระไตรปิฎก และแห่งที่ 2 ซึ่งมีบันทึกในคัมภีร์มหาวงศ์ว่าสร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระในศรีลังกา ถูกทำลายจนเหลือเพียงเสาหินจานวนมากเท่านั้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เนื่องจากเป็นโบราณสถานสำคัญที่ต้องอนุรักษ์จึงมีการเก็บค่าเข้าชมภายในโลหะปราสาท สำหรับชาวต่างชาติคนละ 20 บาท ชาวไทยคนละ 10 บาทเพื่อเป็นทุนรอนในการบูรณะซ่อมแซม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โครงสร้างภายในเป็นอิฐสลับศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส 7 ชั้นมีบันไดวนอยู่ใจกลาง โดยตั้งท่อนซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันได แต่ชั้นที่ 3 และ 5 หลังคาจะเป็นพื้นระเบียงของชั้นถัดไป ส่วนในชั้นที่ 6 นั้นก็เป็นระเบียงแต่เปิดโล่งไม่มีหลังคา ดังนั้นหากนับเฉพาะชั้นที่มีซุ้มคูหา และยอดปราสาทจะมีเพียง 4 ชั้น ชั้นที่ 1 มีซุ้มคูหา 32 ซุ้ม ชั้นที่ 2 มียอดปราสาท 24 ยอด ชั้นที่ 4 มียอดปราสาท 12 ยอด และชั้นที่ 7 เป็นปราสาทองค์กลาง จึงมียอดปราสาทรวมทั้งหมดเป็น 37 ยอด มีความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นที่ 2 ระเบียงปริยัติธรรม มีหนังสือหลักธรรมทางพุทธศาสนาต่าง ๆ มากมายให้ผู้เข้าชมได้เลือกอ่านตามอัธยาศัยในบรรยากาศเงียบสงบ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นที่ 3 เป็นคูหาสาหรับพระภิกษุ สามเณร และบุคคลทั่วไปเดินจงกรม โดยมีนิทรรศการอธิบายความหมายและวิธีปฏิบัติในการเดินจงกรมที่ถูกวิธี ส่วนชั้นที่ 4 เป็นสถานที่นั่งสมาธิโดยมีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงรายอยู่โดยรอบ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นที่ 5 เป็นจุดชมยอดโลหะปราสาทที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และนิทรรศการเรื่องพระอริยบุคคล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนจะเห็นได้ว่ายอดปราสาทในปัจจุบันนั้นดาดด้วยแผ่นทองแดงหุ้มทองเหลืองและปิดทองคำเปลว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นที่ 6 มีป้ายนิทรรศการอธิบายถึงผลของการปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขา 2 ป้าย คือ ป้ายนิโรธและป้ายนิพพาน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ข้างนอกเป็นระเบียงเปิด สามารถชมทัศนียภาพบริเวณโดยรอบได้ และยังมีบันไดเล็ก ๆ ขึ้นไปสู่ยอดปราสาทชั้น 7 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อผู้มีจิตศรัทธาจะได้ขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุให้เป็นสิริมงคลได้อย่างใกล้ชิด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนนี้อาจจะดูกว้าง แต่จริง ๆ คือถ่ายโดยเปิดโหมดเลนส์ไวด์จรดกล้องกับช่องว่างของซี่เหล็กดัด จึงเห็นบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอย่างค่อนข้างครบถ้วน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อกลับลงมาแล้วก็ส่งท้ายกันด้วยการไปรับประทานขนมปังหรืออาหารว่างเบา ๆ กับเครื่องดื่มเย็นสดชื่นกันได้ที่ร้านกาแฟใต้ต้นเกด ซึ่งบุคคลสำคัญ เช่น สมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้า อาชิ เคซัง โชเด็น วังชุก แห่งภูฏาน, เจ้าหญิง Marie Esméralda Adelaïde Lilian Anne Léopoldine และพระสวามี Sir Salvador Moncada แห่งเบลเยียม รวมทั้งคุณสิริกิติยา เจนเซน ก็เคยเสด็จและเคยมาเยือนร้านเล็ก ๆ ภายในวัดแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

“Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow