สวัสดีค่ะทุกคน ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนเลย เราชื่อเนย อายุ 15 ปี กำลังจะขึ้นม.5 ตอนนี้หลายๆคนคงสงสัยว่าอาชีพผู้ปิดทองหลังพระคืออาชีพอะไร อาชีพนั้นก็คือ..... นักเทคนิคการแพทย์หรือหมอแล็บนั้นเอง ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมานะหรอ ยังไม่บอกหรอกอ่านไปเรื่อยๆสิเดี๋ยวก็รู้เอง อิอิ
มา...เรามาเริ่มกันที่ความเป็นมาของการเข้าร่วมโครงการทำก่อนฝันกันดีกว่า
คือตอนนั้นเราสนใจอาชีพนักเทคนิคการแพทย์อยู่และได้ไปเจอกับ “โครงการทำก่อนฝัน รุ่น 4” ของทรูปลูกปัญญาเข้า ซึ่งมีความน่าสนใจมากเพราะเป็นโครงการที่ได้สัมผัสการทำงานของนักเทคนิคการแพทย์จริงๆ ได้ประสบการณ์จริงและ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (อันนี้คือใดต่อจีมาก แฮ่ ดีต่อใจ) เลยลองสมัครดู ซึ่งเราได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก เพราะเราจะได้ไปฝึกงานกับพี่ๆนักเทคนิคการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แล้ว ซึ่งเราอยากจะนำประสบการณ์ ความรู้ และความรู้สึกจากการเข้าร่วมโครงการดีๆแบบนี้มาแชร์ให้ได้รับรู้ เผื่อมีคนที่สนใจและอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาชีพนักเทคนิคการแพทย์นั้นเอง
วันแรกที่มา พี่นักเทคนิคการแพทย์พาเดินชมรอบห้องเลย เป็นการเปิดโลกกว้างเหมือนกบเปิดกะลาออกมา แบบได้เห็นในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเห็นหลังจากพี่อธิบายรอบห้อง พี่ก็ให้เดินสำรวจดูตามความสนใจของเราเองเลย ห้องแล็บที่สาขาต่างๆรวมไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก จุลชีววิทยาคลินิก โลหิตวิทยาคลินิก จุลทรรศนศาสตร์คลินิก และธนาคารเลือด
รอบเช้าได้ไปดู Phlebotomy หรือการเจาะเลือดนั้นเอง เราได้ไปที่เจาะเลือดผู้ป่วยจริง ได้ดูวิธีการเจาะเลือด ได้ลองจับอุปกรณ์ และทดลองทำกับเพื่อน (ไม่ได้เจาะจริงนะ^-^) พี่อธิบายการเก็บเลือดใส่หลอดได้ละเอียดมาก แต่ละสีต่างกันตรงไหน ต่างตรงชนิดสารกันเลือดแข็งบ้างเอย ต่างตรงสาขาที่ส่งตรวจบ้างและอื่นๆเพิ่มเติมด้านการเจาะ มันคือความรู้ใหม่มาก ต่อด้วยรอบบ่ายได้ไปดู Chemistry หรือเคมีคลินิก อันนี้เป็นการตรวจสารเคมีในเลือดที่สัมพันธ์กับโรคต่างๆ ได้ดูการตรวจจริงและทำการสรุปความรู้ที่ได้
รอบเช้าได้ไปดู Immunology หรือภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกเป็นการเรียนรู้ด้านภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และโรคที่เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ได้เข้าไปดูเครื่องมือตรวจในห้องปลอดเชื้อและได้ถามเรื่องการเรียนจนถึงด้านการทำงาน ในรอบบ่ายได้ไปดู Microbiology หรือจุลชีววิทยาคลินิก เป็นการตรวจแบคทีเรียซะส่วนใหญ่ ได้รู้จักการทำ stain หลายรูปแบบซึ่งเป็นการนำสิ่งส่งตรวจมาผ่านกระบวนการก่อนนำไปส่องกล้องเพื่อหาเชื้อ ได้ส่องกล้องดูเชื้อวัณโรคของจริงจากการทำ AFB stain ได้รู้จักรูปร่างและการเกาะกลุ่มของแบคทีเรียและจบด้วยการสรุปสิ่งที่ได้
รอบเช้าได้ไปดู Hematology หรือโลหิตวิทยาคลินิก เป็นการตรวจพวกองค์ประกอบในเลือด เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ตรวจความจาง ความเข้มข้น และโรคที่เกี่ยวข้อง เราได้ลองทำการเสมียร์เลือดเพื่อหา Standard area ที่ใช้ในการตรวจ เพราะเป็นบริเวณที่เลือดเรียงตัวกันไม่หนาหรือบางจนเกินไป ได้เห็นองค์ประกอบเลือดแบบชัดๆผ่านกล้องจุลทรรศน์ ได้เรียนรู้การใช้กล้องจุลทรรศน์และลองใช้จริง รอบบ่ายได้ดู Microscopy หรือจุลทรรศนศาสตร์คลินิก เป็นการใช้ปัสสาวะและอุจจาระในการตรวจ ซึ่งได้เรียนรู้วิธีตรวจแบบใช้หลักการโครมาโทกราฟีที่ใช้ตรวจการตั้งครรภ์และอื่นๆ ต่อด้วยการสรุปสิ่งที่ได้
วันสุดท้ายแล้ว เวลาผ่านไปเร็วจัง รอบเช้าได้ไปดู Blood Bank หรือธนาคารเลือด ซึ่งได้ดูองค์ประกอบเลือดที่ได้รับการบริจาคมาแบบของจริง ได้รู้อายุขององค์ประกอบเลือดต่างๆ ได้ลองดูการทดสอบหมู่เลือดด้วยวิธี slide test และแบบใช้เครื่อง automate
คำนิยามของนักเทคนิคการแพทย์จาก พี่เกด นักเทคนิคการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ คือ การกระทำกับร่างกายมนุษย์เพื่อให้ได้สิ่งส่งตรวจ โดยมีการอาศัยเทคโนโลยี เพื่อนำมาวิเคราะห์หรือวินิจฉัยเบื้องต้นและรายงานผลตรวจให้หมอ เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาอาการของผู้ป่วยซึ่งสิ่งส่งตรวจอาจจะเป็นเลือด เสมหะ น้ำไขข้อหรืออื่นๆ เราอยู่ในห้องแล็บเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้และส่งผลให้กับหมอ นี่แหละคือเหตุผลที่เขาเรียกอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ว่าอาชีพผู้ปิดทองหลังพระ
ในด้านของการทำงาน คือเราสามารถเลือกสาขาการทำงานได้ไม่จำเป็นว่าจบคณะเทคนิคการแพทย์และต้องออกมาทำแล็บในโรงพยาบาลอย่างเดียวนะ ฉะนั้นสถานที่และผู้คนที่เราต้องพบเจอก็จะแตกต่างกันไปตามอาชีพที่เราเลือกทำ ตัวอย่างเช่น
1) นักเทคนิคการแพทย์ประจำโรงพยาบาล
สถานที่ทำงานแน่นอนว่าต้องเป็นโรงพยาบาลอยู่แล้ว ทำงานตามที่บอกไปเลยหมอแล็บ ตรวจสิ่งส่งตรวจต่างๆและส่งผลให้แพทย์ ผู้คนที่พบเจอส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนร่วมงานในแล็บ ผู้คนแผนกอื่นในโรงพยาบาลเพราะมีการนำสิ่งส่งตรวจมาให้หรือโทรมาสอบถาม คนไข้ตอนเจาะเลือด อันนี้เองคืออาชีพที่เราไปฝึกงานมา
2) ตัวแทนขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบริษัทเอกชน หรือเรียกว่าเซลล์
สถานที่ทำงานคือไปตามโรงพยาบาล สถานศึกษา หรือศูนย์วิจัย เพื่อหาลูกค้าเหมือนเซลล์แต่สินค้าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน ผู้คนที่พบก็คือลูกค้านั้นแหละ ต้องเป็นคนช่างพูดชอบพบปะผู้คนและชอบเดินทางพอสมควร
3) อาจารย์มหาวิทยาลัย สอนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในสถาบันที่เปิดสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์
สถานที่คือมหาวิทยาลัยนั้นเอง ผู้คนที่พบปะก็ต้องเป็นนิสิต นักศึกษา เพราะเราต้องไปสอนเขา ^_^ ก่อนเป็นอาจารย์สอนต้องจบปริญญาเอกก่อนนะ
มีหลายสาขาของงานมากกว่านี้ นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ไม่ต้องกลัวว่าจบมาจะไม่มีงานทำ มันขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยว่าเลือกงานหรือป่าว
1) มีความรู้เฉพาะทาง เพราะงานที่ทำจริงๆมีหลายสาขาเช่น โลหิตวิทยา การเจาะเลือด ธนาคารเลือดและเคมีคลินิก ซึ่งแต่ละสาขาต้องใช้ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงและนักเทคนิคการแพทย์จะเรียนแต่ละสาขานั้นมาอย่างละเอียดแล้ว
2) มีความรอบคอบและระมัดระวัง แน่นอนว่าการทำงานของเราคือต้องช่วยออกผลตรวจเพื่อให้หมอวิเคราะห์ ซึ่งถ้าเราไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังอาจจะทำให้ผลตรวจนั้นผิดพลาดและก่อให้เกิดปัญหาตามมา
3) มีการบริหารจัดการที่ดีในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ การเป็นนักเทคนิคการแพทย์ต้องมีการใช้อุปกรณ์เช่น น้ำยาหากเราบริหารจัดการดีก็จะทำให้เราใช้น้ำยานั้นอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
4) มีความช่างสังเกต นักเทคนิคการแพทย์มีการใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหาสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งผิดปกติหากเรามีความช่างสังเกตก็จะทำให้เราหาสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้
5) มีความขยัน คอยศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะพวกแบคทีเรีย ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆเพื่อเอาตัวรอดเราจึงต้องคอยเรียนรู้สิ่งที่เปลี่ยนไปต่างๆนานา
6) มีความอดทน เพราะหลายๆครั้งที่มีงานเข้ามามากมายแต่เวลามีจำกัดจึงอาจก่อให้เกิดความกดดันและเครียดจึงต้องมีความอดทนอยู่พอตัวที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้
1) นักเทคนิคการแพทย์เป็นหนึ่งในอาชีพสายสุขภาพ ซึ่งเป็นสายที่ยังขาดแรงงานอยู่จึงไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน
2) นักเทคนิคการแพทย์นอกจากทำงานในห้องแล็บ ยังมีสาขางานอื่นๆอีกหลายสาขาให้เลือกหากสนใจ
3) นักเทคนิคการแพทย์เป็นงานที่เหมาะสำหรับคนชอบท้าทายนะ เพราะพวกไวรัส แบคทีเรียหรือสิ่งก่อโรคมีการกลายพันธุ์เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดตลอด ดังนั้นเราจึงต้องคอยศึกษาหาข้อมูลและพัฒนาตนเองอยู่ตลอด
4) นักเทคนิคการแพทย์เป็นอาชีพที่ได้ฝึกการจัดการและทำงานอย่างมีระบบเพราะ ต้องมีการจัดการบริหารน้ำยาเพื่อใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมีการวางแผนการทำงานเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพ
5) นักเทคนิคการแพทย์ได้ความภาคภูมิใจและความรู้สึกที่ดีจากการช่วยเหลือคน
1) นักเทคนิคการแพทย์เป็นงานที่ค่อนข้างหนัก แต่ถ้าใจรักที่จะช่วยเหลือคนก็ลุยเต็มที่เลย
2) นักเทคนิคการแพทย์มีการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานค่อนข้างช้าอยู่บ้าง
3) นักเทคนิคการแพทย์ค่อนข้างเครียดเพราะบางครั้งงานมากมายแต่เวลามีจำกัด
“คนไข้มาเมื่อไรทำตอนนั้น” จากพี่น้อย นักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งประโยคนี้มันทำให้เรารู้สึกมีแรงในการที่จะทำงานถ้าเราได้มาอยู่ในจุดของการเป็นนักเทคนิคการแพทย์จริงๆ เพราะความตั้งใจหลักของเราที่เลือกอาชีพสายสุขภาพ คือต้องการช่วยคนผ่านอาชีพ