Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีรับมือ อาการไม่อยากไปโรงเรียนของลูก

Posted By Glimmergirl | 26 เม.ย. 62
3,632 Views

  Favorite

เปิดเทอมใหม่ทีไร ลูกไปโรงเรียนร้องไห้ทู้กกกกกที ทำไงดี ?

 

เชื่อว่าทุกบ้านต้องเจอกับดราม่าเข้มข้นในวันเปิดเทอมวันแรก กับอาการร้องไห้โยเย ไม่อยากไปโรงเรียนของลูกหลาน บางบ้านลูกหลานถึงขั้นกอดแข้งกอดขาร้องไห้ปริ่มใจจะขาด ยิ่งเห็นลูกร้องไห้หนักมาก พ่อแม่ยิ่งกลุ้มใจ แต่ก็ต้องตัดใจทิ้งลูกไว้ที่โรงเรียน เพื่อที่จะวนกลับมาเจอปัญหาเดิม ๆ ให้วันถัดไป ทำอย่างไรให้ลูกเลิกร้องไห้ ทำอย่างไรให้ลูกยอมไปโรงเรียนแต่โดยดี ที่นี่มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากค่ะ

 

1. ทำให้ลูกมั่นใจว่าจะไม่ถูกทิ้ง

ภาพโดย NONGNAPAS จาก Pixabay

 

อาการร้องไห้โยเยของเด็กวัย 2-3 ขวบถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะจากที่เคยได้อยู่กับแม่แบบตัวติดกันตลอดทั้งวันทั้งคืน กลับต้องมาพรากจากกันเพื่อไปศึกษาเล่าเรียน มันคือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเด็กน้อยเชียวนะคะ จึงเป็นธรรมดาที่เด็ก ๆ จะรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นใจและกลัวว่าจะถูกทิ้งให้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงโดยลำพัง จึงแสดงออกโดยการร้องไห้หนักมาก สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ สร้างความมั่นใจให้ลูกว่าไม่ถูกทิ้งแน่นอน โดยช่วงสัปดาห์แรก ต้องไปรับ และไปส่งลูกไปโรงเรียนด้วยตัวเอง ถ้าคุณครูอนุญาติให้เดินไปส่งถึงห้องได้ ก็จูงลูกเดินเข้าไปเลยค่ะ แต่ส่งแค่หน้าห้องเท่านั้น และบอกลูกว่าจะมารับหลังเลิกเรียน ถ้าให้คุณปู่ คุณย่า หรือคุณตา คุณยายเป็นคนเลี้ยงลูกให้ก็ควรพาท่านไปส่งลูกหลานวันเปิดเทอมด้วย เพื่อให้เด็กไม่มั่นใจว่าไม่ถูกทิ้งให้เผชิญความเปลี่ยนแปลงโดยลำพัง

 

2. สัญญาต้องเป็นสัญญา

เรื่องสัญญาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก เพราะเป็นเครื่องพิสูจน์กับลูกว่าเขาสามารถเชื่อใจคุณได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสัญญาว่าจะไปรับหลังเลิกเรียน ต้องรีบไป หรือไปรอหน้าประตูก่อนเวลาเลิกเรียนได้ยิ่งดี สิ่งหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่คนอื่นเขาต้องไปรับลูกด้วยเช่นกัน หากคุณไปช้า หรือไม่ไปรับ อาจทำให้ลูกเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กคนอื่น รู้สึกว่าถูกทิ้ง ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น การได้เห็นใบหน้าที่คุ้นเคยของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หลังเลิกเรียนวันแรกย่อมทำให้เด็กรู้สึกดี เชื่อมั่นในคำสัญญาและรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรัก และมีความสำคัญต่อพ่อแม่จริง ๆ จะช่วยทำให้เด็กไม่กลัวการไปโรงเรียนค่ะ

 

3. กอดได้ หอมได้ แต่ต้องไม่ดราม่า

ภาพโดย マサコ アーント จาก Pixabay

 

อีกสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นต่อมน้ำตาของลูกน้อยได้ไม่ยากคือการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ ถ้าอยากให้ลูกไปโรงเรียนอย่างมั่นใจ ไม่ร้องไห้ ไม่มีดราม่า คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเก็บอาการด้วย รู้ค่ะว่าเป็นห่วงสารพัด ทั้งลูกจะอยู่ได้ไหม จะโดนเพื่อนแกล้งไหม จะเข้ากับเพื่อนใหม่ได้รึเปล่า แต่การแสดงออกถึงความวิตกกังวล กลั้นสะอื้นปากคอสั่น น้ำตาคลอตาแดง ๆ จะร้องไห้ หรือการอาลัยอาวรณ์มองลูกตาละห้อย กลับยิ่งทำให้เรื่องราวเลวร้ายลงไปอีก เพราะเด็กจะสัมผัสได้ถึงความไม่มั่นคงทางอารมณ์ของคุณ ความตระหนกและดราม่าจึงบังเกิด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นคง ใจเย็น เพื่อเป็นที่พึ่งและช่วยให้ลูกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น นอกจากสัญญาว่าจะมารับ ก็ควรกอดลูก และหอมแก้มเท่านั้น แล้วส่งให้ลูกเดินเข้าโรงเรียนไปพร้อมรอยยิ้ม อย่าพิรี้พิไรร่ำลานาน  ยืนรอส่งจนลูกเข้าไปในห้องเรียนเรียบร้อยแล้วค่อยกลับบ้าน หรือไปทำงานนะคะ

 

4. ห้ามบังคับ ห้ามขู่

ภาพโดย Bachan rai จาก Pixabay

 

บางครั้งอาการดราม่าของลูกอาจทำให้พ่อแม่สายฮาร์ดเกิดความหงุดหงิด แต่การบังคับ ดุด่า ขู่ว่าจะทำโทษ ลากถูลู่ถูกังลูกเข้าไปในโรงเรียนไม่ได้เป็นการช่วยทำให้ลูกอยากไปโรงเรียนนะคะ แต่กลับจะยิ่งทำให้ลูกหวาดกลัว และเกลียดการไปโรงเรียนมากขึ้นไปอีก สิ่งที่ควรทำก็คือ การใช้ไม้อ่อน ค่อย ๆ ตะล่อมพูดคุยด้วยเหตุผลว่าต้องไปโรงเรียน ต้องเรียนหนังสือ สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูกทำได้ตั้งแต่ก่อนถึงวัยเข้าเรียน พูดปลูกฝังสม่ำเสมอ หรือเล่นสมมุติเป็นครูนักเรียนกับลูกบ้างเพื่อให้ลูกพอนึกภาพ และรู้สึกตื่นเต้นกับการไปโรงเรียน และมารับลูกให้ตรงเวลา ก็จะช่วยลดความหวาดกลัวการไปโรงเรียนให้ลูกได้ค่ะ

 

5. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง

Photo by Daria Obymaha from Pexels

 

เพราะบางครั้งการไปโรงเรียนทำให้ลูกได้เห็นทักษะของเด็กคนอื่น จึงอาจเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเพื่อให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งให้รู้จักกินข้าวเอง หยิบแก้วน้ำ เทน้ำดื่มเองได้ เขย่าและเจาะกล่องนมดูดเองได้ อาบน้ำ แต่งตัวเองเป็น หรือให้ช่วยงานบ้านบ้าง ก็จะทำให้เด็ก ๆ มั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่รู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อน ทำให้อยากไปโรงเรียนทุกวัน

 

6. ชวนพูดคุย รับฟังความรู้สึกของลูก

Photo by Artem Bali from Pexels

 

การให้ลูกได้พูดคุยบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก็เป็นอีกทางที่ช่วยให้คุณพ่อคุณได้สอดส่องปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่โรงเรียนของลูก และเป็นการให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นรวมไปถึงระบายอารมณ์ด้วย จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เมื่อไปรับลูกหลังเลิกเรียนก็ถามลูกบ้างว่าวันนี้เป็นอย่างไร ครูสอนเรื่องอะไรบ้าง เล่นกับเพื่อนคนไหน แบ่งของเล่นแบ่งขนมให้เพื่อนบ้างไหม เป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ทบทวนบทเรียน และคิดถึงความสนุกที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทำให้อยากกลับมาเรียนในวันต่อ ๆ ไปค่ะ

 

7. บิ้วท์อารมณ์อยากไปโรงเรียนตั้งแต่ก่อนนอน

Photo by Hannah Nelson from Pexels

 

การที่ทั้งลูกและคุณพ่อคุณแม่ต้องรีบจนหัวปั่นตอนเช้าไม่ใช่การเริ่มต้นวันที่ดีแน่นอนค่ะ เดี๋ยวลืมนั่นขาดนี่ ไม่พร้อมสักอย่าง ดังนี้เพื่อสร้างบรรยากาศยามเช้าที่ดี สุขภาพจิตสดชื่น คุณพ่อคุณแม่จึงควรกวดขันเรื่องการทำการบ้าน จัดตารางสอน เตรียมชุดนักเรียน ถุงเท้า รองเท้ารวมไปถึงเลือกทรงผมที่จะทำในวันถัดไปให้เรียบร้อย เพื่อที่ตอนเช้าทุกอย่างจะได้หยิบใช้ ใส่สะดวกพร้อมออกเดินทางแบบชิล ๆ ไม่เร่งรีบ อารมณ์สดชื่นแจ่มใสพร้อมไปโรงเรียน

 

8. สร้างภาพพจน์คุณครูให้ดูดีในสายตาลูก

Photo by Đàm Tướng Quân from Pexels

 

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่กลายไปการสร้างทัศนคติเชิงลบให้คุณครู นั่นก็คือการบอกกับลูกว่าจะให้คุณครูดุ ให้คุณครูจัดการ ให้คุณครูทำโทษ เอ้า ถ้าคุณครูจะใจร้ายขนาดนี้เด็กคนไหนจะอยากไปโรงเรียนจริงไหมคะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเลิกปลูกฝังให้มองคุณครูเป็นผู้ลงทัณฑ์ หรือเป็นผู้คุมกฏ ให้เด็กคิดบวกว่าครูคือคนอีกคนที่เขาสามารถไว้ใจได้ ใจดี และพร้อมช่วยเหลือ ก็ช่วยให้บรรยากาศการไปโรงเรียนดีขึ้นได้

 

อาการร้องไห้งอแงช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ ในเด็กเล็กจะเป็นมากช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียน ถือเป็นเรื่องปรกติค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลอะไรมากมาย เพียงแค่ทำตาม 8 วิธีนี้ก็จะช่วยให้ลูก ๆ ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างราบรื่นมากขึ้น รอให้เด็กปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่สังคมใหม่สักพักก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการมีน้ำหูน้ำตาไม่อยากไปโรงเรียนจะค่อยลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นของเด็ก แต่ถ้าลูกของคุณร้องไห้โยเย ไม่อยากไปโรงเรียนนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีอาการร้องไห้กอดแข้ง กอดขาหนักมาก นั่นถือว่ามีความผิดปรกติ ควรรีบหาสาเหตุให้พบและรีบแก้ไข หรือพาลูกไปขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ก็ได้ อย่าทิ้งไว้นาน

 

แหล่งข้อมูล
th.theasianparent.com
www.facebook.com/thaichildpsy
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Glimmergirl
  • 5 Followers
  • Follow