Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลักการทำงานของไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ระบบขนส่งแคปซูล

Posted By Thananthorn | 14 ก.พ. 62
18,495 Views

  Favorite

หลายคนคงกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางที่ใช้เวลานาน และเบื่อการจราจรที่ติดขัดแทบจะตลอดเวลาจนเกิดความเครียด ทุกวันนี้วิศวกรนานาชาติได้เสนอแนวคิด และพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการเดินทาง ให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

หนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นความหวังใหม่ของมนุษย์เราคือ ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการขนส่งในระดับภาคพื้น พัฒนาโดยบริษัทหลายแห่ง ไฮเปอร์ลูปมีลักษณะเป็นแคปซูลที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงภายในท่อ โดยอากาศภายในท่อนี้จะถูกนำออกไปกลายเป็นท่อความดันต่ำหรือท่อสุญญากาศ เพื่อลดแรงต้านอากาศ นอกจากนี้การเคลื่อนที่โดยที่ตัวยานแคปซูลลอยอยู่ด้วยแรงแม่เหล็ก (Magnetic Levitation Technology) หรือล้อเลื่อนอากาศ ไม่สัมผัสกับท่อ ก็ยังช่วยลดแรงเสียดทานจากพื้นอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ไฮเปอร์ลูปสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเร็วที่คาดการณ์ประมาณ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วกว่าเครื่องบินที่เราใช้ในปัจจุบันถึงสองเท่า

ภาพ : Shutterstock

 

ท่อไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) จะมีทั้งส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินและอยู่ใต้ดิน โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3 เมตร ซึ่งใช้พื้นที่น้อยกว่าถนนและรถไฟแบบดั้งเดิมมาก ในช่วงแรกวิศวกรจะใช้กำลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้า ยกแคปซูลให้ลอยขึ้นจากพื้น และจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในสภาวะที่มีแรงดันต่ำ

 

แม้ว่าแนวคิดของการเดินทางผ่านท่อสุญญาการจะมีมานาน แต่ว่าแนวคิดไฮเปอร์ลูปในปัจจุบันนั้นมาจาก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้เป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างสเปซ เอ็กซ์ (Space X) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถนำจรวดขนส่งในอวกาศกลับมาลงจอดบนพื้นโลกได้สำเร็จ และนำจรวดขับดัน Space X กลับมาใช้ใหม่ในเชิงการค้าได้ เขามีส่วนร่วมเพื่อวิจัยและแสวงหาแนวคิดใหม่ ๆ

 

อีลอนกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) นั้นมีราคาแพงและช้าเกินไป เขาจึงเสนอระบบขนส่งที่สามารถคงทนต่อสภาพอากาศ มีความเร็วเป็นสองเท่าของเครื่องบิน และใช้พลังงานน้อยมาก หลังจากนั้นเขาได้อธิบายเทคโนโลยีของเขาที่เป็นการผสมผสานระหว่างปืนแม่เหล็กไฟฟ้าแบบรางคู่ (Railgun) เครื่องบินคองคอร์ด (Concorde) และโต๊ะแอร์ฮอกกี้ (Air Hockey Table)

ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ตาม อีลอนกลับไม่ใช่เจ้าของไฮเปอร์ลูปเพียงรายเดียว เพราะเขาได้เปิดให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้ทำการศึกษาโครงการนี้ร่วมกันในรูปแบบของโอเพนซอร์ส ขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่างจีนก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะโครงการไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ของจีนก็ได้อยู่ในแผนพัฒนาของ CASIC (China Aerospace Science and Industry Corporation) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และศักยภาพของบริษัทนี้ก็ไม่ด้อยไปกว่า โครงการไฮเปอร์ลูปของ อีลอน มัสก์ เลย

 

สำหรับไฮเปอร์ลูปของจีน ใช้หลักการแบบ Maglev (magnetically levitating) ซึ่งเป็นรถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูงที่ใช้แรงแม่เหล็กเพื่อยกตัวรถและลอยขึ้นเหนือรางโดยไม่ใช้ล้อในการวิ่ง พร้อมกับให้ไฮเปอร์ลูปเดินทางผ่านท่อสุญญากาศ มีแผงโซลาร์เซลล์สำหรับจ่ายไฟ ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Thananthorn
  • 4 Followers
  • Follow