Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ธรรมะโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

Posted By มหัทธโน | 17 ม.ค. 62
48,491 Views

  Favorite

 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม 


เราทั้งหลายต่างเกิดมาด้วยวาสนา 
มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มภูมิดังที่ทราบอยู่แก่ใจ 
อย่าลืมตัวลืมวาสนา โดยลืมสร้างคุณงามความดีเสริมต่อ 
ภพชาติของเราที่เคยเป็นมนุษย์จะเปลี่ยนแปลง
และกลับกลายหายไปเป็นชาติที่ต่ำทราม

ไม่ปรารถนาจะกลายมาเป็นตัวเราเข้าแล้วแก้ไม่ตก


ความสูงศักดิ์ ความต่ำทราม ความสุขทุกขั้นจนถึง บรมสุข
และความทุกข์จนเข้าขั้น มหันตทุกข์ 
เหล่านี้มีได้กับทุกคนตลอดสัตว์ ถ้าตนเองทำให้มี 
อย่าเข้าใจว่ามีได้เฉพาะผู้กำลังเสวยอยู่เท่านั้น โดยผู้อื่นไม่มี 
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติกลาง 
แต่กลับกลายมาเป็นสมบัติจำเพาะของผู้ผลิตผู้ทำเองได้
ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน 


เมื่อเห็นเขาตกทุกข์หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ 
เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้นหรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ 
เมื่อถึงวาระเข้าจริง ๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ 


เพราะกรรมดีกรรมชั่วเรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น
จึงมีทางเป็นได้เช่นเดียวกับผู้อื่น 
และผู้อื่นก็มีทางเป็นได้เช่นเดียวกับที่เราเคยเป็น 


ศาสนาเป็นหลักวิชาตรวจตราดูตัวเองและผู้อื่นได้อย่างแม่นยำ 
ไม่มีวิชาใดในโลกเสมอเหมือน
สิ่งดีชั่วที่มีและเกิดอยู่กับตนทุกระยะ 
มีใจเป็นตัวการพาให้สร้างกรรมประเภทต่าง ๆ 
จนเห็นได้ชัดว่า

กรรมมีอยู่กับผู้ทำ มีใจเป็นเหตุของกรรมทั้งมวล


กรรม เป็นของลึกลับและมีอำนาจมาก 
ไม่มีผู้ใดหนีกฎแห่งกรรมได้เลย
ถ้าเราสามารถรู้เห็นกรรมดีกรรมชั่วที่ตนและผู้อื่นทำขึ้น
เหมือนเห็นวัตถุต่าง ๆ จะไม่กล้าทำบาป 
แต่จะกระตือรือค้นทำแต่ความดีซึ่งเป็นของเย็นเหมือนน้ำ 

ความเดือนร้อนในโลกก็จะลดน้อยลง
เพราะต่างก็รักษาตัว กลัวบาปอันตราย

ท่านว่า ดี ชั่ว มิได้เกิดขึ้นมาเอง แต่อาศัยการทำบ่อยก็ชินไปเอง 
เมื่อชินแล้วก็กลายเป็นนิสัย ถ้าเป็น ฝ่ายชั่ว ก็แก้ไขยาก 
คอยแต่จะไหลลงตามนิสัยที่เคยทำอยู่เสมอ 
ถ้าเป็น ฝ่ายดี ก็นับว่าคล่องแคล่วกล้าขึ้นเป็นลำดับ

เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ 
มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย 
อย่าพากันทำ ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ ทำแต่ความดี 
อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์

การทำความเข้าใจเรื่องของกรรม 
เป็นการศึกษาธรรมะเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับภาวะของตัวเราเอง 
ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกรรมที่ได้ทำไว้ ตามสุภาษิตที่มีว่า 
“กรรมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีตต่างกัน”

ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล 
คือลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้ 
แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่มาเป็นอย่างดี
เหมือนโลกทั้งหลายก็ตาม เขาก็มองไม่เห็นคุณของพ่อแม่
ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้าง 
แต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขา 
ที่เป็นคนหนึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น 
ไม่สนใจคิดว่าเขาเติบโตมาจากท่านทั้งสอง 
ซึ่งเป็นแรงหนุนร่างกายชีวิตจิตใจเขา ให้เจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

การดื่มกินเป็นการสร้างสุขภาพ 
ความเจริญเติบโตแก่ร่างกาย ไม่จัดว่าเป็นกรรม 
กรรม คือ การกระทำ ดี ชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ต่างหาก 
ผลจริง คือ ความสุข ทุกข์ที่ได้รับกันอยู่ทั่วโลก กระทั่งสัตว์ผู้ไม่รู้จักรรม
รู้แต่กระทำคือหากินอยู่ ทางศาสนาเรียกว่า กรรมของสัตว์ ของบุคคล 
และผลกรรมของสัตว์ ของบุคคล

ควรมีเมตตาสงสารในสัตว์ทั้งหลาย 
ซึ่งมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย 
เช่นเดียวกับเรา ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน


ความยิ่งหย่อนแห่งวาสนาบารมีนั้นมีได้ทั้งคนและสัตว์
สัตว์บางตัวมีวาสนาบารมีและอัธยาศัยดีกว่ามนุษย์บางคน 
แต่เขาตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ ก็จำต้องทนรับเสวยไป 
สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน 
มิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดต่ำทราม 
ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น 
เช่นเดียวกับมนุษย์ ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้น 
ก็จำต้องทนเอาจนกว่าจะสิ้นกรรม เมื่อมนุษย์เราเกิดเสวยชาติเป็นคน 
มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามวาระของกรรมที่อำนวย
มนุษย์ก็มีกรรมชนิดหนึ่งที่พาให้มาเป็นอย่างนี้ 
ซึ่งล้วนผ่านกำเนิดต่างๆ จนนับไม่ถ้วน 


ให้ตระหนักในกรรมของสัตว์ว่ามีต่างๆ กัน 
เพราะฉะนั้นไม่ให้ดูถูกเหยียดหยาม
ในชาติกำเนิดความเป็นอยู่ของกันและกัน 
และสอนให้รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมดี กรรมชั่วเป็นของ ๆ ตน 



(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow