Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมคำสอนลึกซึ้ง ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวบรวมจากบูรพาจารย์ศิษยานุศิษย์ ตอน 2

Posted By มหัทธโน | 17 ม.ค. 62
36,473 Views

  Favorite

อย่าเป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ 

ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอน
คอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ 
โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว 
แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว
ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน 
ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว 
ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย 

จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ 
เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า 
ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย 

-------------------------------------------------------------------

ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร โดย คุณสาวิกาน้อย
สืบค้นจาก https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852


สำคัญ “ตน” 

ไม่ว่าธรรมส่วนใด 
ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น 


(จากหนังสืออัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต)


ธรรมะของหลวงปู่มั่นข้อนี้ หลวงปู่หล้าเล่าว่า เป็นธรรมชั้นสูงมาก
ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร
เป็นยุคสุดท้ายของชีวิต และสุดท้ายธรรมชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย


-------------------------------------------------------------------

ธรรมชั้นสูง

ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น 


(จากหนังสือมุตโตทัย)

ได้อธิบายเหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้นว่า 
“ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่า ก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่ง ก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสนล้าน” 
(ซึ่งหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เล่าว่า ธรรมะของหลวงปู่มั่นข้อนี้เป็นมติของผู้เขียน
คือพระอาจารย์มหาเส็ง ปุสฺโส และพระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ)


-------------------------------------------------------------------

จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ 

การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตน คือ ใจเป็นเยื่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี

ได้ใจแล้ว คือ ได้ธรรม
เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม
รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล
ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน 


ใจนี่แล คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง 
เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา
จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ๆ จะเสียใจในภายหลัง
ธรรมที่แสดงนี้ คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร
ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้
เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ
คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม
ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้ เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน
ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้
จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี 

(จากหนังสือสมาธิภาวนากับหลวงตามหาบัว
: วิธีปฏิบัติและข้อพึงระวังที่หลวงตาฝากไว้)


-------------------------------------------------------------------

คนดีมีศีลธรรมหายากยิ่ง 

หาคนดีมีศีลธรรมในใจ
หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา

ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว
ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ
เพราะเงินเป็นล้านๆ 
ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดีทำประโยชน์ 

-------------------------------------------------------------------

 

ที่มา : ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร โดย คุณสาวิกาน้อย 
สืบค้นจาก https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852

 

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ 

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้
หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย 


หลวงปู่มั่นเทศน์ในงานศพหลวงปู่เสาร์ 
-------------------------------------------------------------------


จากความทรงจำของ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) 

ท่านเล่าว่า...
จำได้ว่างานศพท่านอาจารย์เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่ง 
อยู่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ) ใครต่อใครเขาก็ไปกัน 
แต่พระอุปัชฌาย์ (เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร - หนู ฐิตปญฺโญ)
ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา 
พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง

...เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถรกับท่านอาจารย์เสาร์นี่
ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ 
ท่านอาจารย์เสาร์ตายก่อน จึงไปทำที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลง
แล้วก็ได้ฌาปนกิจคือ ถวายพระเพลิงเผาศพของท่านอาจารย์เสาร์ 
ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วย
ในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิกของท่านอาจารยเสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า

“เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา 
บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราพระอาจารย์มั่น 
จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป 
ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น
ต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น

ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ 
อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว 
ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้” 


(จากหนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ บันทึกตามคำบอกเล่าของ
พระราชสังวรญาณ - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

-------------------------------------------------------------------

รากเหง้าของพระศาสนา 

ทาน - ศีล - ภาวนา 
เป็นรากเหง้าของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย 


ทาน...เป็นเครื่องแสดงน้ำใจ 
เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ 

ศีล...เป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส 

ภาวนา...อบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง 
ผู้เป็นหัวหน้างาน หรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง 
เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจ
ทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก
หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง 
คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง 

-------------------------------------------------------------------
 

ที่มา : ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” โดยคุณสาวิกาน้อย
สืบค้นจาก https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.62


วาสนา 

วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย 
คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล 
วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ 


บางคนวาสนายังอ่อน 
เมื่อคบบัณฑิต (ผู้มีปัญญาและประพฤติดี) 
วาสนาก็เลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิต 


ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต
เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น 

-------------------------------------------------------------------

อย่าผูกพันกับอดีตหรืออนาคต 

 

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง

แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป 


อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน

 

อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย 


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)
-------------------------------------------------------------------

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow