Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จบทุกดราม่าของหวาน ! รู้ทันภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายต่อลูกในท้องอย่างไร ?

Posted By Glimmergirl | 16 ม.ค. 62
9,132 Views

  Favorite

เบาหวานตอนท้องอันตรายอย่างไร ? ทำไมก่อนตรวจต้องกินน้ำตาล ? เป็นเบาหวานตอนท้องต้องทำอย่างไร ? หลังคลอดหายไหม ? เราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่ ? ที่นี่มีคำตอบค่ะ

 

โรคเบาหวาน เกิดจากภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้เพราะมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปรกติ หากปล่อยไว้นานจะทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของอวัยวะสำคัญภายในต่าง ๆ ผิดปรกติ ยิ่งถ้าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยยิ่งอันตราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และลูกในท้องอย่างมากมายเลยทีเดียว มาดูกันว่าเจ้าเบาหวานเนี่ยทำร้ายเราและลูกในท้องอย่างไร

 

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลอย่างไรต่อแม่และลูกในท้อง

ภาพ : Pixabay

 

ผลเสียของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่ได้ทำร้ายแค่สุขภาพของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งไปถึงลูกในท้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับแม่ท้องที่เป็นเบาหวานคือ

- เพิ่มความเสี่ยงการเกิดครรภ์เป็นพิษ

- เสี่ยงต่อการเกิดความดันเลือดสูงจนนำไปสู่ครรภ์เป็นพิษ

- เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

- เพิ่มโอกาสการแท้งบุตร

 

แล้วผลเสียที่ส่งไปถึงลูกในท้องล่ะ ?

- เพิ่มโอกาสทารกเสียชีวิตในครรภ์

- มีโอกาสพิการตั้งแต่กำเนิดสูง

- ทารกน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดยาก และเกิดอันตรายระหว่างคลอดสูง

- หลังคลอดทารกอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ตัวเหลือง, ระดับเกลือแร่ต่าง ๆ ผิดปรกติ

 

อ่านแล้วอย่าพึ่งตกใจนะคะ เพราะภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ หากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ

 

แม่ท้องกลุ่มไหนเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง

ภาพ : Pixabay

 

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตรวจพบได้ 5% ของแม่ท้องทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าแม่ท้องทุกคนจะเกิดภาวะนี้ทั้งหมด ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สำหรับแม่ท้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากกว่ามีปัจจัยสำคัญคือ

- ญาติพี่น้องมีประวัติเป็นเบาหวาน

- อายุ 30 ปีขึ้นไป

- เคยคลอดลูกที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป

- เคยคลอดลูกที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ

- เคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ

- เคยมีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

- เป็นโรคอ้วน

- มีความดันโลหิตสูง

- ตรวจพบภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปรกติ

- ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการตรวจคัดกรอง เพื่อดูว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ค่ะ

 

ทำไมต้องกินน้ำตาลก่อนตรวจ ?

ภาพ : Pixabay

 

เมื่อตั้งท้องฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการทำงานของอินซูลินหรือฮอร์โมนที่มีหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ร่างกายดื้ออินซูลิน ก่อนตรวจคุณหมอจึงให้กินน้ำตาล คุณแม่อย่าพึ่งจี๊ดเพราะหาว่าหมอให้กินน้ำตาลก่อนตรวจ จึงทำให้น้ำตาลรั่วในปัสสาวะนะคะ เพราะถ้าคุณมีภาวะปรกติจริง ๆ น้ำตาลจะไม่รั่วเหลือในกระแสเลือดค่ะ

วิธีตรวจคัดกรองหาภาวะน้ำตาลในเลือดของแม่ท้องคือ ให้คุณแม่กลืนน้ำตาล 50 กรัมโดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร และนั่งรอนิ่ง ๆ ไม่เดินไปเดินมา ห้ามกินอะไรทั้งนั้น ห้ามสูบบุหรี่ 1 ชั่วโมงแล้วเจาะเลือดไปตรวจ ถ้าผลออกมามีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 130-140 mg/dL คือผิดปรกติ มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

หลังจากตรวจแบบไม่อดอาหารไปแล้ว ไม่พบแม่ท้องในกลุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลโดยการเจาะเลือดตรวจหาน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังกินน้ำตาล 100 กรัม และเจาะเลือดในระยะเวลา 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ (รวม 4 หลอด) วิธีนี้ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจ หากตรวจแล้วผลปรกติควรตรวจซ้ำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6-8 เดือนอีกครั้ง

 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ภาพ : Pixabay

 

เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานตอนท้อง คุณแม่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปรกติมากที่สุด ทำได้โดยการคุมอาหาร ก่อนอื่นต้องลดการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขัดสี ของหวาน ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เปลี่ยนมากินธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท เพื่อปริมาณโปรตีนจากเนื้อสัตว์ (ไม่ติดมัน) ให้มากขึ้น รวมทั้งกินผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ลดผักประเภทหัวและถั่วต่าง ๆ ลง เพราะมีคาร์โบไฮเดรตและพลังงานมากกว่าผักใบ

ส่วน นม ควรดื่มนมรสจืด และพร่องมันเนย หรือขาดมันเนยไปเลยได้ยิ่งดี และงดผลไม้ที่มีรสหวานจัดอย่าง มะม่วงสุก ทุเรียน ลำไย ฯลฯ และที่สำคัญควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะนัดติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ หากคุมอาหารแล้วไม่ได้ผล จำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อดูแลให้ระดับน้ำตาลอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ 

 

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์หลังคลอด ส่วนใหญ่จะดีขึ้นจนหายไป แต่คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานตอนท้องมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตสูงค่ะ จึงจำเป็นต้องดูแลร่างกายอย่างต่อเนื่อง สำหรับสิ่งที่แม่ท้องหลายคนสงสัย คือ เป็นเบาหวานตอนท้องแล้วคลอดธรรมชาติได้ไหม ตอบเลยว่าได้แน่นอนค่ะ ถ้าได้รับการดูแลอย่างดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทราบถึงความร้ายแรงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้ว อย่าเพิกเฉยนะคะ รีบไปฝากท้อง รีบตรวจให้แน่ใจ และควบคุมเรื่องการกินให้ดี รู้ทัน ตรวจพบเร็วมีวินัยในการกิน คุณแม่ก็รับมือได้แน่นอนค่ะ สู้ ๆ นะคะ

 

แหล่งข้อมูล
www.si.mahidol.ac.th
th.theasianparent.com
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Glimmergirl
  • 5 Followers
  • Follow