Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อพระอานนท์อธิบายว่า ผ้าไตรจีวรใช้ทำอะไรได้บ้าง

Posted By มหัทธโน | 21 ธ.ค. 61
15,817 Views

  Favorite

 

ไตรจีวร คืออะไร 

คือ ผ้าจีวร ๓ ผืน คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้ เป็นผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง)  ไตรจีวรเป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 8 อย่าง ในนิกายเถรวาทและมหายาน เรียกผ้าไตรจีวร ว่า กาสาวะ กาสายะ หรือ กาษายะ

 

ประวัติเรื่องพระอานนท์กับผ้าไตรจีวร 

ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร


แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อ ๆ กัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล

 

จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า

"อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"

พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า."

 

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท ทรงทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาว และด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้น ๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป ครั้นแล้วรับสั่งกะพระอานนท์ว่าสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่

ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากทักขิณาคิรีชนบท มายังพระนครราชคฤห์ ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้า ถวายการแต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูปให้ทรงทอดพระเนตร 

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า ท่านพระอานนท์ผู้ฉลาด ซาบซึ้งเนื้อความที่พระพุทธองค์ กล่าวย่อได้โดยกว้างขวางว่า

พระอานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้

จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้วเศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ

แล้วทรงอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด
 

 

เมื่อพระอานนท์อธิบายว่า ผ้าไตรจีวร สามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง 

วันหนึ่งหญิงเหล่านั้น  ฟังธรรมกถาของพระเถระแล้ว เลื่อมใส ได้กระทำการบูชาธรรมด้วยผ้าอุตราสงค์  ๕๐๐ ผืน อุตราสงค์ผืนหนึ่ง ๆ ย่อมมีค่าถึง  ๕๐๐ พระราชาไม่ทรงเห็นผ้าสักผืนหนึ่งของหญิงเหล่านั้น จึงตรัสถามว่า "ผ้าอุตราสงค์อยู่ที่ไหน ?"


พวกหญิง.   พวกหม่อมฉันถวายแล้วแด่พระผู้เป็นเจ้า

พระราชา.  พระผู้เป็นเจ้านั้น  รับทั้งหมดหรือ ?

พวกหญิง.  เพคะ  รับ  (ทั้งหมด).

พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระแล้ว ตรัสถามความที่หญิงเหล่านั้นถวายผ้าอุตราสงค์ ทรงสดับความที่ผ้าอันหญิงเหล่านั้นถวายแล้ว และความที่พระเถระรับไว้แล้ว  จึงตรัสถามว่า     "ท่านผู้เจริญ ผ้าทั้งหลายมากเกินไปมิใช่หรือ ? ท่านจักทำอะไรด้วยผ้ามีประมาณเท่านี้ ?"

 

พระเถระ. มหาบพิตร อาตมภาพรับผ้าไว้พอแก่อาตมภาพแล้ว  จักถวายผ้าที่เหลือแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่า 

พระราชา.  ภิกษุทั้งหลาย  จักทำจีวรเก่าของตนให้เป็นอะไร ?

พระเถระ.   เธอจักให้แก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่ากว่าทั้งหลาย.

พระราชา.  ภิกษุเหล่านั้นจักทำจีวรเก่าของตนให้เป็นอะไร ?

พระเถระ.   เธอจักทำให้เป็นผ้าปูนอน.

พระราชา.   เธอจักทำผ้าปูนอนเก่าให้เป็นอะไร ?

พระเถระ.   เธอจักทำให้เป็นผ้าปูพื้น.

พระราชา.   เธอจักทำผ้าปูพื้นเก่าให้เป็นอะไร ?

พระเถระ.   ขอถวายพระพร  เธอจักทำให้เป็นผ้าเช็ดเท้า.

 พระราชา.   เธอจักทำผ้าเช็ดเท้าเก่าให้เป็นอะไร ?

พระเถระ.   เธอจักโขลกให้ละเอียดแล้ว๑  ผสมด้วยดินเหนียวฉาบฝา.

พระราชา.    ท่านผู้เจริญ    ผ้าทั้งหลายที่ถวายแด่พวกพระผู้เป็นเจ้าจักไม่เสียหาย  แม้เพราะทำกรรมมีประมาณเท่านั้นหรือ ?

พระเถระ.  อย่างนั้น  มหาบพิตร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow