Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร

Posted By sanomaru | 01 พ.ย. 61
36,244 Views

  Favorite

ก่อนหน้านี้มีข่าวนักวิจัยตรวจพบว่าในอุจจาระของมนุษย์นั้นมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ โดยเฉลี่ยแล้วจะพบไมโครพลาสติกจำนวน 20 อนุภาคต่ออุจจาระมนุษย์ 10 กรัม ซึ่งอาจเป็นที่มาของความเจ็บป่วยในโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารก็เป็นได้ แต่ไมโครพลาสติกเหล่านี้คืออะไร และมาจากไหนกันแน่

 

ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้มีความเกี่ยวข้องกับพลาสติกจนแทบจะแยกกันไม่ออก พลาสติกอยู่ในของเกือบทุกสิ่งที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ด้ามปากกา เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกมันก็คือกลุ่มของพอลิเมอร์อินทรีย์ที่ได้จากปิโตรเลียม โดยรวมถึงพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride,PVC), ไนลอน (Nylon), พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE), พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) และพอลิโพรไพลีน (Polypropylene, PP) ทั้งนี้พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป หรือมีขนาดอยู่ในช่วง 1 นาโนเมตรจนถึง 5 มิลลิเมตร เราจะเรียกมันว่า ไมโครพลาสติก (Microplastics) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

 

1) Primary Microplastics

ไมโครพลาสติกประเภทนี้เป็นพลาสติกขนาดเล็ก ๆ ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยตรงจากโรงงานตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น พวกไมโครบีดส์ (microbeads) ที่เป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ ในโฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง สครับขัดผิว หรือยาสีฟัน โดยทั่วไปผลิตจากโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ทั้งนี้มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า 15-31 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกนั้นมาจาก Primary Microplastics และ 2 ใน 3 ของพวกมันก็มาจากเส้นใยสังเคราะห์จากการซักเสื้อผ้า รวมถึงชิ้นส่วนของยางที่หลุดออกมาจากการขับขี่ ซึ่งเมื่อถูกชำระล้างด้วยน้ำหรือฝนแล้วก็ไหลไปรวมกันยังแหล่งน้ำต่าง ๆ

ภาพ : Shutterstock

 

2) Secondary Microplastic

เป็นไมโครพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกซึ่งมีขนาดใหญ่ แล้วแตกหักหรือผุกร่อนจากคลื่น แสงอาทิตย์ หรือแรงบีบอัด จนกลายเเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้ไมโครพลาสติกประเภทนี้มีรูปร่างที่หลากหลายมาก

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากนี้ยังมีไมโครพลาสติกอีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ในประเภทใด นั่นคือ ไมโครพลาสติกที่ถูกผลิตออกมาให้มีขนาดเล็ก แต่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงการใช้งานที่ชัดเจน

 

ไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำและเดินทางลงสู่มหาสมุทร ปัญหาใหญ่ก็คือ พวกมันมีขนาดที่เล็กมาก จึงไม่สามารถกรองออกจากน้ำได้ และดูเหมือนว่าจุดนี้เองที่พวกมันกำลังจะกลับมาสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เพราะเมื่อพวกมันลงไปสู่มหาสมุทรแล้ว สัตว์ทะเลทั้งปลา กุ้ง ปู ตลอดจนแพลงก์ตอนสัตว์ ล้วนได้รับผลกระทบ

 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าไมโครพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่สัตว์ทะเลกินอาหารซึ่งปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายไม่สามารถขับออกได้ จึงสะสมภายในตัวของสัตว์เหล่านี้ และเมื่อกระเพาะอาหารของมันเต็มไปด้วยไมโครพลาสติกก็จะไม่มีพื้นที่พอสำหรับอาหารที่จำเป็นต่อพวกมัน ส่งผลต่อสุขภาพและทำให้มันตายลงในที่สุด แน่นอนว่ามนุษย์ซึ่งกินสัตว์น้ำเป็นอาหารย่อมได้รับไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ที่สุดแล้วพลาสติกเหล่านี้ก็จะอยู่ในตัวเรา

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังเป็นวัสดุที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้น พวกมันจึงยังคงปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล เมื่อมนุษย์นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นเกลือเพื่อปรุงอาหาร ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนมากับเกลือด้วย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีแบคทีเรียที่พัฒนาตัวเองจนสามารถย่อยสลายพันธะคาร์บอนที่พบในพลาสติกเหล่านี้ได้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติก รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะรักษาสมดุลในระบบนิเวศเอาไว้ให้ได้ ก่อนที่ภัยร้ายที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เองจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow