Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Stem cell คืออะไร

Posted By Msmillp | 25 ธ.ค. 61
15,391 Views

  Favorite

หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือคุ้นคำว่า สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดมาบ้าง แต่ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว Stem Cell คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับร่างกายของมนุษย์

 

Stem Cell คือ เซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นเซลล์พิเศษที่มีความสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่เซลล์ชนิดอื่น ๆ ที่ต่างออกไปในร่างกาย รวมถึงสามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด จึงช่วยทดแทนเซลล์เก่าในกรณีที่เซลล์เก่าเสื่อมสภาพหรือบาดเจ็บ ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองและเจริญต่อไปได้

ภาพ : Shutterstock

 

Stem Cell สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ โดยแต่ละประเภทจะมีต้นกำเนิดและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ได้แก่

 

1. เซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cell)
เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ได้มาจากตัวอ่อนที่พัฒนามาจากไข่หลังได้รับการปฏิสนธิประมาณ 5 วัน ขณะที่ทางการแพทย์จะได้รับมาจากการปฏิสนธิในหลอดทดลองหรือนอกร่างกาย โดยส่วนใหญ่เป็นเซลล์ที่เหลือจากการทำกิฟต์ สามารถนำไปสร้างและพัฒนาไปเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเกือบทุกส่วนในร่างกายได้ เช่น สมอง ผิวหนัง

 

2. เซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากสิ่งมีชีวิตโตเต็มวัย (Adult Stem Cell)
เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ ในร่างกายได้ จึงมีบทบาทหลักในการการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในอวัยวะนั้น ๆ เช่น เซลล์ต้นกำเนิดจากผิวหนังก็จะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ผิวหนัง

ภาพ : Shutterstock

 

ในร่างกายของเรามี Stem Cell อยู่ แต่เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ การผลิต Stem Cell ย่อมไม่ปกติไปด้วย ดังนั้น หลาย ๆ โรงพยาบาลจึงเปิดรับบริจาค Stem Cell สำหรับการรักษา แล้วคำถามต่อมาคือ เมื่อรับ Stem Cell บริจาคไปแล้ว ก็แค่ฉีดเข้าร่างกายของผู้ป่วย แล้ว Stem Cell ก็จะไปแบ่งตัวในร่างกายของคนนั้น เพื่อทดแทนความเสื่อมโทรมของร่างกายใช่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ ในทางการแพทย์นั้น หากใช้ Stem Cell รักษาโรคได้สำเร็จ 1 คนไม่ได้แปลว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันในทุก ๆ คน ต้องมีการทดลองและพิสูจน์ในการรักษากับคนไข้หลายร้อยคน ถึงจะรับรองผลของการใช้การรักษาด้วย Stem Cell

 

แม้ในปัจจุบัน Stem Cell จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน แต่ก็อาจมีความเสี่ยงในการใช้หรือปลูกถ่าย Stem Cell เช่น ภาวะเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (GVHD) มักเกิดจากการปลูกถ่าย Stem Cell จากผู้อื่่น (Allogeneic Transplants) เป็นการทำลายเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยโดยเซลล์ที่ปลูกถ่าย หรือปริมาณเม็ดเลือดลดจำนวนลง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ภาวะเลือดออกมาก รอยจ้ำเขียว และเพิ่มโอกาสเกิดการติดเชื้อสูงขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นอาการผมร่วง อ่อนเพลีย เจ็บป่วย หรือเป็นหมัน

ภาพ : Shutterstock


Stem Cell มีประโยชน์มากแต่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ในอนาคตอาจมีวิทยาการใหม่ ๆ ที่สามารถนำ Stem Cell  มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจมีวิทยาการที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาวิทยาการใหม่ ๆ ให้รอบด้าน เพราะอาจมีข้อดีและข้อจำกัดในการนำมาใช้ ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านและชัดเจนก่อนจะเลือกใช้วิทยาการนั้น ๆ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- การแบ่งเซลล์ แบบไมโทซิสและไมโอซิส

 


 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Msmillp
  • 2 Followers
  • Follow