Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) กับ สึนามิ (Tsunami) ต่างกันอย่างไร

Posted By Amki Green | 03 ส.ค. 61
17,399 Views

  Favorite

เราอาจจะเคยเห็นภัยธรรมชาติจากคลื่นยักษ์อย่างคลื่นสึนามิ (Tsunami) มาแล้ว แต่ยังมีคลื่นอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในทะเลเหมือนกัน เรียกว่า คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ซึ่งมีความน่ากลัวและสร้างความเสียหายไม่แพ้กัน

 

คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) คืออะไร

คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) หรือที่เรียกว่า น้ำขึ้นหนุนจากพายุ (Storm Tide) เป็นคลื่นขนาดใหญ่ซึ่งเกิดมาจากแรงลมของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเกิดในมหาสมุทรและเคลื่อนตัวซัดเข้าหาชายฝั่งจนกลายเป็นคลื่นขนาดใหญ่ การเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งนั้น มักจะเกิดในช่วงกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทยนั่นเอง

 

โดยทั่วไปพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) แบ่งตามระดับความรุนแรงได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น แต่หากกล่าวถึงคลื่นพายุซัดฝั่งที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยนั้น จะเกิดจากพายุหมุนเขตร้อนที่มีจุดกำเนิดอยู่ที่แถบทะเลจีนใต้ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นพายุที่มีกำลังลมแรงที่สุดที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย คือ มีความเร็วลมมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ดังนั้น บริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดพายุซัดฝั่งของประเทศไทยนั่นก็คือ บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกบริเวณอ่าวไทย เช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด ซึ่งได้รับอิทธิพลของลมพายุหมุนเขตร้อน

 

ปกติคลื่นบริเวณอ่าวไทยจะมีความสูงของคลื่น ประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งนับเป็นคลื่นทะเลที่มีความสูงปานกลาง แต่เมื่อมีพายุเข้ามากระทำกับคลื่น ทำให้คลื่นมีความสูงมากยิ่งขึ้น และปัจจัยที่ทำให้ชายฝั่งเกิดความเสียหายจากคลื่นซัดฝั่งมากยิ่งขึ้นนั่นก็คือ สภาพพื้นที่ของชายฝั่งนั่นเอง หากชายฝั่งยิ่งมีความกว้างและความชันน้อย จะยิ่งทำให้คลื่นมีพลังในการทำลายล้างชายฝั่งมาก

 

คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) ต่างกับการเกิดสึนามิ (Tsunami) อย่างไร ?

สึนามิ (Tsunami) และ คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทางทะเลเหมือนกัน แต่สึนามิไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากพายุ สึนามิเป็นคลื่นยักษ์ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ส่วนคลื่นพายุซัดฝั่ง มีพายุที่เป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาทำให้คลื่นในทะเล เปลี่ยนเป็นคลื่นยักษ์ที่ซัดเข้าหาชายฝั่ง

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดคลื่นยกตัวสูง

เมื่อเปรียบเทียบกับคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งซึ่งเกิดจากแรงลมปกติแล้ว คลื่นพายุซัดฝั่งที่เกิดจากลมพายุที่มีความรุนแรงมากจะทำให้ผิวน้ำยกตัวได้สูงกว่า จึงเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งที่รุนแรงกว่าคลื่นทั่วไป นอกจากนี้หากความกดอากาศต่ำบริเวณตาพายุยิ่งต่ำมากก็จะยิ่งทำให้คลื่นสูงมาก โดยทุกความกดอากาศที่ลดลง 1 มิลลิบาร์ จะส่งผลให้ทะเลมีคลื่นสูงขึ้น 10 มิลลิเมตร

 

นอกจาก 2 ปัจจัยนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คลื่นยกตัวสูงขึ้น เช่น อิทธิพลของการหมุนของโลก ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์คอริออลิส (Coriolis effect) เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ทิศทางกระแสน้ำเบี่ยงขวาไปทางซีกโลกเหนือ และเบี่ยงไปทางซ้ายในทางซีกโลกใต้ เมื่อโค้งของกระแสน้ำพุ่งปะทะเข้ากับชายฝั่งในแนวตั้งฉากก็จะยิ่งเพิ่มกำลังแรงของคลื่นให้ยกตัวสูงขึ้น แต่หากกระแสน้ำไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันก็มีผลทำให้คลื่นไม่สูงมากนัก

 

การก่อให้เกิดความเสียหายของปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่งกับสึนามินั้นแทบไม่ต่างกัน คลื่นทั้งสองล้วนส่งผลต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แต่ต่างกันตรงที่คลื่นพายุซัดฝั่งยังมีสัญญาณเตือนให้เราเตรียมตัวกับภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถคาดการณ์สภาพอากาศและการเกิดพายุได้ล่วงหน้า หากเปรียบเทียบกับสึนามิซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและยังไม่ค่อยมีการเตือนภัยที่แม่นยำเท่าที่ควร การป้องกันการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การสร้างแนวเขื่อนกั้นคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือการปลูกต้นโกงกางริมชายฝั่งเพื่อลดแรงปะทะของคลื่นที่พักเข้ามาจากทะเลได้

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประเภทของพายุ
- การเกิดสึนามิ
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow