Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การแปรสัณฐานของเปลือกโลก (Plate tectonics)

Posted By Amki Green | 28 พ.ย. 61
177,308 Views

  Favorite

ในอดีตการวางตัวของแผ่นเปลือกโลกไม่ได้เป็นเหมือนดังที่เราเห็นบนแผนที่โลกปัจจุบัน แผ่นเปลือกโลกนั้นมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เวลากว่า 150 ล้านปี กว่าจะเป็นดั่งที่เราเห็นทุกวันนี้ ซึ่งเรียกว่า เป็นการแปรสัณฐานของเปลือกโลก

 

กระบวนการแปรสัณฐานของเปลือกโลก (Plate Tectonic)

โลกของเราประกอบไปด้วยแผ่นเปลือกโลกทวีป และแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร โดยแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีการเคลื่อนที่ได้หลายทิศทาง ซึ่งการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกนี้ ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ เช่น ภูเขา ทะเล มหาสมุทร เป็นต้น ทั้งนี้การที่แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวนั้นเกิดจากการเคลื่อนตัวของแมกมา (Magma) ที่อยู่ใต้ชั้นเปลือกโลกตามทฤษฎีการพาความร้อน (Convention current theory) ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของทวีปต่าง ๆ ตามมา จนกลายเป็นลักษณะของแผนที่โลกที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

ลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก

ลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก มีอยู่ 3 แบบ คือ
1. แผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกัน (Divergent boundary)

ภาพ : Shutterstock

 

แผ่นธรณีภาคเคลื่อนที่ออกจากกันเนื่องจากการดันตัวของแมกมาออกมาภายนอกเปลือกโลกตามรอยแยก ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนออกจากกัน ซึ่งการเคลื่อนตัวนี้ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยการเคลื่อนตัวออกจากกัน มี 2 รูปแบบคือ

1.1 การเคลื่อนที่แยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกทวีป การเคลื่อนที่ออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกทวีปทั้งสองแผ่น จะทำให้เกิดรอยแยกขนาดใหญ่และเกิดทรุดตัวกลายเป็นหุบเขาทรุด (Rift Valley) และกลายเป็นทะเลขนาดเล็ก เช่น ทะเลแดง ทะเลสาบมาลาวี

1.2 การเคลื่อนที่แยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร การเคลื่อนที่แยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร ทำให้เกิดสันเขาใต้มหาสมุทร (Mid Ocean Ridge) แมกมาหรือหินหนืดมีการดันตัวขยายแผ่นเปลือกโลกออกด้านข้างส่งผลให้พื้นที่ของมหาสมุทรขยายตัวขึ้นด้วย

 

2. แผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากัน (Convergent boundary)

ภาพ : Shutterstock

 

การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกชนกันมีผลทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง และหากเกิดในมหาสมุทรอาจทำให้เกิดสึนามิได้ การที่แผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากัน มีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

2.1 แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนกัน การที่แผ่นธรณีมหาสมุทรชนกันนั้น แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรที่มีอายุมากกว่า มีความหนาแน่นมากกว่า จะมุดตัวลงด้านล่าง บริเวณนั้นเรียกว่า ร่องลึกมหาสมุทร (Mid oceanic trench) ซึ่งแผ่นเปลือกโลกชั้นบนจะเกิดการหลอมเหลวกลายเป็นหินหนืดและดันผิวโลก เกิดเป็นเกาะต่าง ๆ  ตามแนวร่องลึกมหาสมุทร เกาะส่วนใหญ่จะเป็นเกาะที่มีภูเขาไฟ เช่น เกาะญี่ปุ่น เกาะฟิลิปปินส์ ดังนั้น จะสังเกตว่าประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก และมักเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

2.2 แผ่นเปลือกโลกทวีปชนกัน การที่แผ่นเปลือกโลกทวีปชนกัน แผ่นเปลือกโลกที่มีความหนาแน่นมากกว่าจะมุดตัวลงด้านล่าง ส่วนแผ่นเปลือกโลกที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าจะยกตัวขึ้น กลายเป็นเทือกเขาสูง เช่น เทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล เทือกเขานี้ยังมีการเคลื่อนที่ชนกันอยู่ตลอดเวลาของขอบทวีประหว่างอินเดียและทวีปเอเชีย ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีความสูงเพิ่มขึ้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

2.3 แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนกับแผ่นเปลือกโลกทวีป แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรมีความหนาแน่นมากกว่าแผ่นเปลือกโลกทวีป ดังนั้น เมื่อเกิดการชนกัน แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรจะจมตัวลง ขณะที่แผ่นเปลือกโลกทวีปจะยกตัวขึ้นกลายเป็นภูเขาสูงริมชายฝั่งทะเล เช่น เทือกเขาแอนดีส บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น

 

3. แผ่นธรณีเคลื่อนที่ผ่านกัน (Transform boundary)

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่สวนกัน จะทำให้เกิดรอยเลื่อนขนาดใหญ่และอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงได้ การเคลื่อนที่สวนกันของแผ่นเปลือกโลกที่เป็นที่รู้จัก เช่น รอยเลื่อนซานแอนเดรีย ในรัฐแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกลักษณะต่าง ๆ ล้วนทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้นอกจากทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศแล้ว ยังส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติตามมาด้วย เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือการเกิดสึนามิ

 

ปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกที่มีขนาดใหญ่ ๆ บนแผนที่โลก มีอยู่ 9 แผ่น ได้แก่ แผ่นอเมริกาเหนือ แปซิฟิก ยูเรเชีย แอฟริกา อินโด-ออสเตรเลีย ออสเตรเลีย อินเดีย อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา โดยแผ่นเปลือกโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ แผ่นแปซิฟิก ซึ่งมีขนาด 103 ล้านตารางกิโลเมตร  ส่วนใหญ่อยู่บริเวณใต้มหาสมุทร และเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 7 เซนติเมตรต่อปี

ภาพ : Shutterstock

 

แล้วสงสัยกันไหมว่าในอดีตเมื่อร้อยล้านกว่าปีมาแล้ว แผ่นเปลือกโลกนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

 

ในอดีตได้มีการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทฤษฎีทวีปเลื่อน (Continental Drift Theory) ของอัลเฟรด เวเกเนอร์ (Alfted Wegener) นั้นได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยเขาเสนอว่า ทวีปต่าง ๆ ก่อนจะเป็นทวีปอย่างที่เราเห็นในแผนที่โลก เคยเป็นทวีปแผ่นใหญ่แผ่นเดียวที่ติดกันมาก่อน เรียกว่า พันเจีย (Pangea) โดยมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า แผ่นเปลือกโลกเคยเป็นแผ่นเดียวกันมาก่อนก็คือ การพบชนิดหิน พืช และสัตว์ที่มีลักษณะเดียวกัน บนแผ่นดินที่อยู่คนละทวีป และเมื่อได้ลองนำขอบทวีปมาเชื่อมต่อกัน ก็สามารถต่อประสานเข้ากันได้

 

ต่อมามีทฤษฎีใหม่ที่มายืนยันว่า โลกเคยเป็นแผ่นเปลือกโลกเดียวกัน นั่นก็คือ ทฤษฎีเปลือกโลกใต้มหาสมุทรแยกตัว (Seafloor Spreading) ซึ่งอธิบายว่า แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรมีการเคลื่อนตัวออกจากกันเนื่องจากแมกมาภายในเปลือกโลกดันตัวออกมา การที่แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรเคลื่อนตัวส่งผลให้ทวีปมีการเคลื่อนที่ออกจากกันด้วย จากทฤษฎีเหล่านี้จึงทำให้เชื่อว่า โลกของเรานั้นเคยเป็นแผ่นเดียวกันมาก่อนจริง ๆ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- แกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon) เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

แหล่งข้อมูล
Live Science. What Is Plate Tectonics? สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
กรมทรัพยากรธรณี. การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
วิชาการธรณีไทย. ธรณีแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค (Plate Tectonics). สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. ธรณีแปรสัณฐาน. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. แผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากัน. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. แผ่นธรณีเคลื่อนที่ผ่านกัน. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. การแปรสัณฐานเปลือกโลก. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow