Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

น้ำขึ้น-น้ำลง เกิดขึ้นได้อย่างไร

Posted By Amki Green | 21 พ.ย. 61
247,533 Views

  Favorite

"วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง..." เรามักจะได้ยินเพลงนี้กันในวันลอยกระทงใช่ไหมคะ ในวันลอยกระทงเป็นวันที่เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นที่สูงที่สุด แล้วผู้อ่านทราบหรือไม่ ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

 

ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง

ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงดึงดูดที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์กระทำต่อโลก โดยดวงจันทร์จะมีอิทธิพลต่อโลกมากกว่าดวงอาทิตย์ เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกถึง 390 เท่า ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่า แรงดึงดูดของดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าดวงอาทิตย์

ภาพ : Shutterstock

 

จากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ทำให้บริเวณต่าง ๆ ของโลกด้านที่ใกล้ดวงจันทร์และด้านตรงข้ามดวงจันทร์เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง วันละ 2 รอบ โดยขณะที่โลกหมุนรอบตัวเองนั้น น้ำขึ้นจะเกิดบนผิวโลกด้านที่หันเข้าหาดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นจุดที่ใกล้ดวงจันทร์มากที่สุด แรงดึงดูดระหว่างดวงจันทร์กับโลกจึงมีความเข้มมาก นอกจากนี้น้ำขึ้นยังเกิดบนผิวโลกด้านที่อยู่ตรงข้ามกับดวงจันทร์ด้วย แต่ไม่ใช่เพราะแรงดึงดูดมากกว่าบริเวณอื่นเช่นเดียวกับด้านที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์ หากเป็นเพราะผิวโลกด้านที่อยู่ตรงข้ามกับดวงจันทร์นั้นได้รับอิทธิพลจากแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์น้อยกว่าบริเวณอื่น เมื่อโลกบริเวณอื่นถูกดึงดูดเข้าหาดวงจันทร์มากกว่าผิวโลกด้านที่อยู่ตรงข้ามกับดวงจันทร์ ทำให้ผิวโลกด้านที่อยู่ตรงข้ามกับดวงจันทร์กลายเป็นจุดที่น้ำไหลมารวมกันมาก เกิดเป็นน้ำขึ้นอีกจุดหนึ่งบนโลก

ภาพ : ทรูปลูกปัญญา/Pixabay

 

ปรากฏการณ์น้ำเกิด (Spring tides)

เมื่อมีการเรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกันของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก หรือ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือก็คือวันขึ้น 15 ค่ำ (Full moon) และวันแรม 15 ค่ำ (New Moon) แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลกจะเสริมกันสูงสุด ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเกิด (Spring tides) หรือน้ำขึ้นสูงสุด ซึ่งระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดกับระดับน้ำที่ลงต่ำสุดจะมีความแตกต่างกันมาก

 

ปรากฏการณ์น้ำตาย (Neap tides)

ปรากฏการณ์น้ำตาย เกิดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก ไม่ได้เรียงตัวบนแนวเดียวกัน แต่ตั้งฉากซึ่งกันและกัน โดยดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทำมุมตั้งฉากกัน 90 องศา แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลกจะไม่เสริมกัน ต่างฝ่ายต่างออกแรงกระทำต่อโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำตาย (Neap tides) ซึ่งระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดกับระดับน้ำที่ลงต่ำสุดจะไม่แตกต่างกันมาก

 

ทั้งนี้จะเห็นว่า ปรากฏการณ์น้ำเกิดและน้ำตายนี้มีความสัมพันธ์กับข้างขึ้นและข้างแรม โดยจะเกิดขึ้นรวมกัน 4 ครั้งใน 1 เดือน

ภาพ : Shutterstock

 

ผลกระทบของน้ำขึ้น-น้ำลง

 

น้ำขึ้น-น้ำลงมีผลต่อการเพิ่มหรือลดของระดับน้ำในมหาสมุทร การที่น้ำลงอาจทำให้บริเวณช่องทางเดินเรือตื้นเขิน การเดินเรือจึงไม่สะดวก ดังนั้น นักเดินเรือจึงต้องคอยติดตามการเกิดน้ำขึ้นและน้ำลงอยู่เสมอ ปรากฏการณ์นี้ยังส่งผลต่อระดับน้ำบริเวณปากแม่น้ำอีกด้วย การที่น้ำขึ้นทำให้น้ำในมหาสมุทรไหลเข้าสู่แม่น้ำ น้ำเพิ่มขึ้นสูง ท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมชายฝั่ง และเกิดน้ำเค็มและน้ำจืดผสมผสมกันเป็นน้ำกร่อย หากมีน้ำขึ้นหนุนสูงมากเกินไปอาจทำให้พืชสวนหรือการเกษตรเสียหายได้ เป็นต้น

 

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง น้ำเกิดและน้ำตาย ไม่มากก็น้อยนะคะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้ตัวเราและมีผลกระทบต่อชีวิตเรามากค่ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ สวัสดีค่ะ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- แรงดึงดูดระหว่างมวล

- โลกของเราหนักเท่าไร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow