Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อการนั่งเป็นอันตรายกว่าที่คิด

Posted By sanomaru | 06 ก.ค. 61
7,613 Views

  Favorite

เมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป จากเดิมที่คนส่วนใหญ่ทำการเกษตรและมีการขยับใช้ร่างกายอยู่ตลอด เป็นการทำงานนั่งโต๊ะโดยมีการขยับร่างกายเพียงบางส่วนเท่านั้นและยังเป็นการขยับที่น้อยมาก ๆ ด้วย เช่น พนักงานออฟฟิศ ซึ่งนำไปสู่อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางการมองเห็น ทางเดินหายใจ หรือทางระบบกล้ามเนื้อ แต่ทราบหรือไม่ว่าการนั่งทำงานนาน ๆ โดยไม่เคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายส่วนต่าง ๆ เลย ยังนำไปสู่สิ่งที่ร้ายแรงกว่าการเเป็นออฟฟิศซินโดรมด้วย

 

งานวิจัยในปี 1953 มีผู้เข้าร่วมวิจัย 26,000 คน เป็นพนักงานขับรถประจำทางครึ่งหนึ่ง ซึ่งในแต่ละวันของพวกเขาหมดไปกับการนั่งอยู่หน้าพวงมาลัยรถประจำทาง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นพนักงานเก็บสตางค์ซึ่งมีการยืนและเดินอยู่ตลอดในแต่ละวัน โดยผู้เข้าร่วมวิจัยมีลักษณะการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหาร กิจวัตรต่าง ๆ หรือสภาพแวดล้อม และจากการศึกษาผู้เข้าร่วมวิจัยกลุ่มนี้ นักวิจัยพบว่า พนักงานเก็บสตางค์มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งน้อยกว่าพนักงานขับรถ

 

การนั่งนาน ๆ เช่น นั่งทำงาน ขับรถ หรือดูทีวี ล้วนแต่เป็นอันตราย งานวิจัย 13 งานวิจัยเกี่ยวกับการนั่งนาน ๆ และระดับการทำงานพบว่า ผู้ที่นั่งนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวหรือขยับตัว มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตพอ ๆ กับสาเหตุจากความอ้วนและการสูบบุหรี่

 

อันตรายจากการนั่งนานเกินไป

นอกจากงานวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยกล่าวว่าการนั่งติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 7-10 ชั่วโมง อาจทำให้มีผลดังนี้

 

1. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากการนั่งโดยขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก จะทำให้การเผาผลาญทำงานช้าลง โดยแพทย์คาดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีนำเอาอินซูลินมาใช้เผาผลาญน้ำตาลและแป้ง การนั่งนาน ๆ จึงมีผลต่อความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในเลือด

 

2. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง พฤติกรรมการนั่งนาน ๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon) ถึง 24% เสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 32% และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด 21% และเมื่อนักวิจัยศึกษารายละเอียดมากขึ้นไปอีกก็พบว่า พฤติกรรมการนั่งนาน ๆ ที่แตกต่างไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างกันไปด้วย โดยการนั่งดูโทรทัศน์ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงถึง 54% ส่วนความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็สูงถึง 66% ด้วย

 

3. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มักเกิดขึ้นบริเวณขา และส่วนใหญ่จะเกิดจากการนั่งนานเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปมันก็คือเส้นเลือดขอดนั่นเอง ฟังดูอาจจะไม่น่ากลัวเท่าไรนัก แต่มันจะรุนแรงอย่างแน่นอนหากลิ่มเลือดนี้หลุดและไปติดอยู่ในเส้นเลือดที่ปอดหรือหัวใจ จนทำให้การทำงานของปอดหรือหัวใจมีปัญหา

ภาพ : Shutterstock

 

4. เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยในงานวิจัยหนึ่งในผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-75 ปี เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองผู้ที่นั่งนาน ๆ ว่าสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำมีขนาดบางลง นอกจากนี้การออกกำลังกายก็ยังดูเหมือนไม่ส่งผลให้ความหนาของพื้นที่สมองในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย

 

5. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมนั่งทำงานเป็นเวลา 10 ชั่วโมงใน 1 วัน มีระดับของโปรตีนโทรโพนินในเลือดมากกว่าปกติซึ่งโปรตีนชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเมื่อพวกมันถูกทำลาย นั่นหมายความว่าหากโทรโพนินมีระดับที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในผู้ที่นั่งทำงานนานๆ ก้อาจจะอธิบายได้ว่า พวกเขามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละวัน  

 

6. อายุสั้นลง จากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ขยับหรือเคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และส่งผลให้อายุสั้นลงได้

ภาพ : Shutterstock

 

แนวทางหลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันนาน ๆ

ในขณะนี้นักวิจัยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า การออกกำลังกายมากหรือนานแค่ไหนจึงจะเพียงพอต่อการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการนั่งนานมากเกินไป งานวิจัยส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าผู้ที่ออกกำลังกายก็ยังคงมีสุขภาพที่แย่ลงได้ ซึ่งเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องมาจากการนั่งนานเกินไป ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยมีแนวทางดังนี้
1. พยายามลุกขึ้นยืนหรือขยับร่างกายให้มีการเคลื่อนไหวทุก ๆ 30 นาที นาน 1-2 นาที ในทุก ๆ วัน หากเกรงว่าจะลืม อาจใช้วิธีตั้งนาฬิกาปลุกทุก ๆ 30 นาทีได้
2. ลุกขึ้นยืนหรือเดินแทนการนั่งขณะที่คุยโทรศัพท์หรือดูทีวี
3. เดินไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแทนการส่งไลน์ อีเมล หรือโทรศัพท์หากัน
4. เมื่อต้องโดยสารรถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าหรือรถประจำทาง สามารถยืนแทนการนั่งได้ (แต่การยืนติดต่อกันนานเกินไปโดยมีการขยับหรือเคลื่อนไหวน้อยมาก ก็อันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยกว่าไปกว่าการนั่งนานเกินไป)

ภาพ : Shutterstock

 

ผลจากการขยับหรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น น้ำหนักลดลง และเพิ่มพลังงาน นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีการเคลื่อนไหวและมีอารมณ์ที่ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

 

สุดท้ายนี้ไม่มีอะไรจะบอกเพิ่มเติมนอกจาก... "เรามาสะบัด…อวัยวะ เรามาสะบัด…อวัยวะ..." กันเถอะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow