Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แวกซ์เคลือบผลไม้ อันตรายหรือไม่

Posted By Atiphat | 02 ก.ค. 61
18,016 Views

  Favorite

เวลาที่เราไปเดินซื้อผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต จะสังเกตเห็นว่าผลไม้ชนิดต่าง ๆ มีผิวมันวาว ดูเต่งตึงอยู่เสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในบางครั้งผลไม้จะมีการเคลือบด้วยสารเคลือบผิว เพื่อให้มาถึงมือเราโดยที่ยังคงความสดใหม่ และน่ารับประทานอยู่นั่นเอง

 

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการรักษาผลไม้ให้สดใหม่ได้นาน ๆ ก็คือ การป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผลไม้ เพราะว่าในผลไม้ทั่วไปมีน้ำอยู่ถึง 80 - 90% การสูญเสียน้ำจะทำให้ผลไม้สูญเสียน้ำหนัก เหี่ยวเฉา ดูไม่น่ารับประทาน รวมถึงอายุในการเก็บไว้รับประทานจะลดลงอีกด้วย

 

โดยปกติแล้ว ผลไม้สด ๆ จากต้นจะมีสารเคลือบผิวตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อผ่านเก็บเกี่ยว ล้างทำความสะอาด หรือเก็บรักษาไว้ตามปกติ สารเคลือบผิวเหล่านี้ก็จะเสื่อมสภาพไป หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ และยืดอายุการเก็บให้นานยิ่งขึ้นคือ การเคลือบผลไม้ด้วยสารเคลือบผิวก่อนที่มันจะเหี่ยวเฉาและไม่น่ารับประทาน ซึ่งเราสามารถแบ่งสารเคลือบผิวตามแหล่งที่มาได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. สารเคลือบผิวที่มาจากพืช เช่น ยางไม้ (Resin) คาร์นูบาร์ (Carnaubar wax) หรือแป้งที่ได้จากพืชก็สามารถนำมาสกัดเป็นสารเคลือบผิวได้เช่นกัน แต่จะทำให้ผลไม้มีลักษณะเป็นขุย ๆ และไม่มันวาวเท่ากับสารเคลือบผิวชนิดอื่น

2. สารเคลือบผิวที่มาจากสัตว์ เช่น เชลแลก (Shellac) ซึ่งเป็นสารสกัดจากครั่ง ไคโตซาน (Chitosan) ซึ่งมาจากเปลือกกุ้ง กระดองปู หรือกระดองหมึก สารเคลือบผิวประเภทนี้นอกจากจะช่วยคงความสดของผลไม้แล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องความต้านทานต่อการเกิดโรคหลังเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

3. สารเคลือบผิวที่มาจากปิโตรเลียม เช่น พาราฟินแวกซ์ (Paraffin wax) พอลิเอทิลีนแวกซ์ (Polyethylene wax) และพอลิเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene glycol) โดยสารเคลือบผิวจากปิโตรเลียมแต่ละชนิดเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

 

สรุปว่า แวกซ์กินได้หรือกินไม่ได้ล่ะ ?        

สารเคลือบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสารประกอบชีวโมเลกุลไขมันขนาดใหญ่ เมื่อเรารับประทานผลไม้ที่มีสารเคลือบผิวเหล่านี้เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นสารเคลือบผิวที่สกัดธรรมชาติจากพืชหรือสัตว์ หรือเป็นสารเคลือบผิวที่สังเคราะห์จากปิโตรเลียม ร่างกายของเราจะไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมไปใช้ได้ เนื่องจากสารเคลือบผิวเหล่านี้มีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่กว่าไขมันปกติมาก ยกตัวอย่างเช่น พาราฟินแวกซ์ (Paraffin wax) ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างโมเลกุล CnH2n+2  และสามารถมีอะตอมคาร์บอนได้มากถึง 36 อะตอม ขณะที่ไขมันที่เรารับประทานกันอยู่ทั่วไป เช่น กรดไขมันอิ่มตัว มีจำนวนอะตอมคาร์บอนในโมเลกุลเพียง 12 - 18 อะตอม ด้วยเหตุผลนี้สารเคลือบผิวผลไม้จึงไม่ได้ตกค้างในร่างกายของเรานั่นเอง

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Atiphat
  • 2 Followers
  • Follow