เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวมหาชัยหรือสมุทรสาครมาช้านาน โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงที่ก่อนออกเรือหาปลาจะต้องทำพิธีบนบานศาลกล่าว จุดประทัดถวายเอาฤกษ์เอาชัย เพื่อความเป็นสิริมงคลและความปลอดภัย รวมถึงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปในเรื่องของการอำนวยให้เกิดความสุข ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และโชคลาภมาช้านาน จึงเป็นที่มาของ “ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร” งานประเพณีสุดยิ่งใหญ่ที่ชาวสมุทรสาครพร้อมใจกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และยังได้รับเลือกให้อยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกด้วย
“กมล ไกรวัตนุสสรณ์” ประธานคณะกรรมการบริหารศาลเจ้าพ่อหลักสมุทรสาคร เล่าว่า เจ้าพ่อหลักเมืองเป็นที่เคารพสักการะของชาวสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวประมงและคนไทยเชื้อสายจีนจะให้ความเชื่อถือศรัทธามาก ก่อนออกเรือหาปลาทุกครั้งจะต้องมีการจุดประทัดเพื่อเป็นการเซ่นไหว้สักการะทุกครั้ง ซึ่งงานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 53 โดยเริ่มแห่ครั้งแรกเมื่อปี 2508 และด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ทำให้ขบวนแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังคงรูปแบบประเพณีแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน โดยกิจกรรมจะมีทั้งหมด 3 วัน ซึ่งในวันแรก จะเป็นพิธีเปิดงานที่ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปและกระถางธูปเจ้าพ่อหลักเมืองมาประดิษฐานบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จากนั้นจะเป็นพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครและโรงพยาบาลต่างๆ
ส่วนวันที่ 2 ของการจัดงาน และถือเป็นวันสำคัญเพราะมีพิธีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองให้ประชาชนได้สักการบูชา ทั้งทางน้ำและทางบก โดยขบวนแห่ทางน้ำ มีเรือประมงที่จัดแต่งอย่างสวยงามกว่า 30 ลำ นับเป็นขบวนแห่ทางน้ำด้วยเรือประมงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยในช่วงเช้าเป็นการอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหลักเมืองประทับเกี้ยวลงเรือแล้วแห่ไปตามแม่น้ำท่าจีน จากนั้นอัญเชิญกลับขึ้นฝั่งที่บริเวณหน้าวัดแหลมสุวรรณาราม หลังจากนั้นก็เข้าสู่พิธีแห่ทางบก ซึ่งในริ้วขบวน ประกอบไปด้วย รถน้ำมนต์ ขบวนธงทิว มังกรเงินมังกรทอง เกี้ยวเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมด้วยบรรดาคณะลูกศิษย์ที่เข้าร่วมเดินขบวน
ตลอดระยะทางการแห่เจ้าพ่อนั้น แต่ละบ้านจัดเครื่องเซ่นไหว้หน้าบ้าน บางบ้านต้อนรับเจ้าพ่อหลักเมืองด้วยการจุดประทัด รวมทั้งชาวบ้านจะจุดธูปของตนเองรอเพื่อทำการแลกธูปกับเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อนำไปบูชา พร้อมกับรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง โดยเมื่อเจ้าพ่อเสด็จผ่านจะได้ยินเสียงพูดว่า “เจ้าพ่อเสด็จแล้ว คุกเข่าแล้วรวย” เพื่อเป็นการปลุกใจและให้ผู้ที่มารอกราบไหว้อยู่อย่างเป็นระเบียบในท่าคุกเข่า ซึ่งการแห่เจ้าพ่อหลักเมืองใช้ระยะเวลานานพอสมควร จะแห่กันไปจนถึงช่วงบ่ายแก่ๆ หรือเย็น เมื่อแห่ไปรอบตามเส้นทางที่กำหนดแล้วก็จะอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองกลับมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครเช่นเดิม
และในวันสุดท้ายของการจัดงาน จะเป็นการผัดหมี่มหามงคลแจกให้กับประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคล อายุยืนยาว ร่ำรวยเงินทองตลอดปี และช่วงกลางคืนจะมีการแสดงมหรสพต่างๆ ทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน
ด้าน “เพิ่มเกียรติ โพธิเพียรทอง” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับคุณภาพในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และในฐานะชาวสมุทรสาครร่วมเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เจ้าพ่อหลักเมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสมุทรสาคร ประกอบกับบ้านของตนเองอยู่ริมแม่น้ำ ที่บ้านเป็นชาวประมง ตั้งแต่จำความได้ พอมีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองก็จะมายืนรอดูเรือขบวนแห่
ด้วยความศรัทธา ซึ่งทุกบ้านก็จะตั้งหิ้งบูชา ตั้งเครื่องสักการบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองบริเวณหน้าบ้าน เป็นภาพบรรยากาศที่คุ้นเคยและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี
งานแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานมาก เป็นงานประจำปีที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งจังหวัด และเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร โดยตลอด 2 ข้างทางที่ขบวนแห่ไป ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ ทุกบ้านจะมีการตั้งโต๊ะบูชาแล้วก็จะมีธูปกับเทียน คือทุกคนจะมีธูปของตนเองที่จุดไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง พอขบวนแห่มาก็จะมีคนมาเก็บแล้วก็นำไปเปลี่ยนกับธูปของเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อที่จะนำกลับไปบูชาที่บ้านด้วยความเชื่อว่าหากได้นำไปบูชาจะเป็นสิริมงคลกับชีวิตและคนในครอบครัว
“ความศรัทธาต่อเจ้าพ่อหลักเมืองยังสืบทอดต่อไปถึงเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นหลัง อย่างตัวผมมีลูก ผมก็พามาไหว้สักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ตามรอยที่เมื่อก่อนพ่อแม่ผมก็ติดตามอากงอาม่ามากราบไหว้สักการะ แล้วตัวผมก็ติดตามพ่อกับแม่มาสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ก็ติดสอยห้อยตามกันมา แล้วก็สืบทอดเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างจะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ต้องมาลาเจ้าพ่อหลักเมืองก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ” เพิ่มเกียรติ กล่าว
ด้วยความเป็นลูกหลานชาวสมุทรสาครที่ยังคงยึดมั่นและเคารพนับถือประเพณีดั้งเดิมของจังหวัดมาโดยตลอด ทำให้ เพิ่มเกียรติ มีความตั้งใจที่จะสืบสานประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ต่อไป ผ่านการดำเนินชีวิตปัจจุบันและการทำงานควบคู่ไปพร้อมกัน ทั้งในส่วนที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ดี-แลนด์ กรุ๊ป” ที่มีการนำคอนเซ็ปต์ “คนดี หัวใจดี” ที่มีวัตถุประสงค์ในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและชุมชน มาใช้ในการเดินหน้ากิจกรรม CSR ทั้งหมดของบริษัทฯ รวมถึงในส่วนที่เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งแรกของจังหวัดสมุทรสาครอย่าง “พอร์โต้ ชิโน่” ที่ตอกย้ำความเป็น “The Heart of your Community” ของชาวสมุทรสาครอย่างแท้จริง ตั้งแต่การออกแบบ การดีไซน์ รวมถึงการเติมเต็มสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง และนอกจากนี้ ทั้งสองส่วนได้ร่วมใจกันจัดขบวนแห่เพื่อร่วมงานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้รูปแบบขบวนรถได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ “คนดี หัวใจดี” เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกคนในจังหวัดสมุทรสาครหันมารักและใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น
สำหรับขบวนแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร แบ่งเป็น 9 ตอน เริ่มจาก ตอนที่ 1 เฉลิมพระเกียรติตอนที่ 2 ทุกถิ่นไทย ภูมิใจในประเพณี ตอนที่ 3 ชื่นชมยินดี สาครบุรีของเรา ตอนที่ 4 สมบูรณ์พูนผล ทุกคนสุขสบาย ตอนที่ 5 ประชาแน่วแน่ ร่วมแห่เจ้าพ่อหลักเมือง ตอนที่ 6 ศรัทธามหาชน ทุกแห่งหนร่วมใจ ตอนที่ 7 เจ้าพ่อหลักเมือง มิ่งเมืองสมุทรสาคร ตอนที่ 8 เจ้าพ่อหลักเมือง เสมือนหลักชัย ร่วมนำชัยให้เจริญรุ่งเรือง และ ตอนที่ 9 เป็นขบวนองค์เจ้าพ่อหลักเมือง โดยแต่ละตอนจะมีขบวนร่วมแห่นับสิบขบวน มีการประดับตกแต่งริ้วขบวนอย่างสวยงาม ส่วนประชาชนที่มารอรับเสด็จเจ้าพ่อก็จะได้รับการเปลี่ยนธูปกลับไปบูชา พร้อมกับรับน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจและพลังศรัทธาของชาวสมุทรสาคร ที่ยังเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีดั้งเดิมของจังหวัดมาโดยตลอด จึงทำให้ “ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร” กลายเป็นหนึ่งในประเพณีที่มีความยิ่งใหญ่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สร้างความประทับใจและสร้าง “ต้นแบบ” ที่ดี ที่จะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลานในอนาคต