“เชฟ” (Chef) เป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นวิชาชีพใกล้ตัว และมีอัตราค่าตอบแทนหรือค่าตัวที่ค่อนข้างสูง ทำให้วงการอาหารไทยเปิดกว้างมากขึ้น ด้วยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งอุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ผนวกกับเสน่ห์ปลายจวักเฉพาะตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครัวไทยก้าวสู่ครัวโลก ด้วยเทคนิคฝีมือ วัตถุดิบ และโดดเด่นในเรื่องรสชาติ ความอร่อย ที่ใครได้ชิมต่างต้องยกนิ้วให้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่สนใจที่จะก้าวสู่การเป็นเชฟมืออาชีพกันมากขึ้น
เชฟมืออาชีพดีกรีมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ เชฟเคณฑ์ – วัชรวีร์ วิเสทโภชนาทิพย์ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพเชฟให้ฟังว่า เชฟเป็นอาชีพที่มีอนาคตสดใส แต่จะก้าวไปได้ไกลขนาดไหนก็อยู่ที่การตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า “คุณจะเป็นเชฟในอาชีพ หรือคุณจะเป็นมืออาชีพในอาชีพเชฟ” การเป็นเชฟในอาชีพ คือ เป็นคนปรุงอาหาร ถึงเวลาก็ไปทำงาน เลิกงานก็ตอกบัตรกลับบ้าน แต่ถ้าคุณเป็นมืออาชีพในอาชีพเชฟคุณจะต้องทำอาหารง่ายๆ ให้อร่อยได้ นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ลึก (Deep Inside) คือ ต้องรู้ที่มาของอาหาร ต้องรู้เรื่องเครื่องปรุง และต้องรู้แม้กระทั่งการเดินทางของวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารแต่ละเมนูด้วย
“คนทั่วไปจะเรียกผมว่าเชฟ แต่สำหรับตัวผมเองนั้นจะเรียกตัวเองว่าเป็นช่างแกง เป็นทายาทช่างแกง ซึ่งช่างแกงเป็นหนึ่งในบรรดาช่างสิบหมู่ของประเทศไทย ผมเกิดและเติบโตมาในครอบครัวช่างแกงมุสลิมต้นตำรับไก่ย่างจีระพันธ์ ตัวผมเองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่เติบโตมากับพวกเครื่องเทศ ข้าวหมกไก่ แกงมัสมั่น หอยทอด และเชี่ยวชาญการทำสลัดแขก ทุกครั้งที่ไปออกงาน คุณแม่จะทำขนมหวาน ส่วนคุณพ่อจะทำแกงและหุงข้าว เราก็ตามไปช่วยตลอด ซึ่งผมไม่เคยรู้ตัวเลยว่าสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุน ประสบการณ์ และความภาคภูมิใจมากมายในชีวิต” เชฟเคณฑ์ ย้อนอดีตถึงเส้นทางชีวิตก่อนก้าวสู่การเป็นสุดยอดเชฟมืออาชีพ
“ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผมอยู่ในแวดวงอาชีพเชฟ สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้ผมและครอบครัวมากที่สุดก็คือ การได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าจัดเลี้ยงของราชวงศ์ไทย ในรัชกาลที่ 9 เป็นเชฟที่มีตราครุฑอยู่บนหน้าอกเสื้อ ซึ่งแสดงถึงการเป็นเชฟผู้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นโอกาสและเป็นที่สุดของชีวิตผมแล้ว ซึ่งในประเทศไทยมี Chefs des Chefs เพียง 2 คน คนแรกคือ ท่านอาจารย์ขวัญแก้ว วัชโรทัย และผมคือคนที่ 2 ครับ นี่คือรางวัลและตำแหน่งที่เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของผม เป็นต้นกำเนิดของการเข้าสังกัดสมาชิกสโมสรเชฟชั้นนำของโลก Le Club des Chefs des Chefs โดยเป็นเชฟ 1 ใน 21 คนของโลก และเป็น Chef in charge of the Official Receptions of the Royal Family of Thailand” เชฟเคณฑ์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
เพื่อเป็นการถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์การเป็นเชฟมืออาชีพให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ล่าสุดเชฟเคณฑ์ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาและอาจารย์ให้กับหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (Rattanakosin International College of Creative Entrepreneurship : RICE) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์ กับ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้แก่ สถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ (Institut Culinaire Disciples Escoffier : ICDE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเชฟมืออาชีพ ดิซิพ เอสโคฟิเอร์ (Disciples Escoffier) และ ยูโรเปียน คอมมูนิเคชัน สกูล (European Communication School : ECS) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและธุรกิจดิจิทัลที่มีวิทยาเขตมากถึง 6 ประเทศทั่วโลก
เชฟเคณฑ์ แจกแจงรายละเอียดว่า หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี โดยจะศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา เป็นเวลา 3 ปี และศึกษาพร้อมฝึกปฏิบัติงานที่ฝรั่งเศสอีก 1 ปี โดยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิปริญญาตรีด้านศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหารจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และปริญญาตรีด้านการบริหารธุรกิจจากโรงเรียนยูโรเปียนคอมมูนิเคชัน สกูล (ECS) ที่รับรองโดยรัฐบาลฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านอาหารฝรั่งเศส (Certificat de Fin de Formation Niveau 5 in French Cuisine) จาก Lycée Renaissance, La Reunion, France และประกาศนียบัตร Disciples Escoffier Grande Diploma จาก Disciples Escoffier ซึ่งจะทำให้บัณฑิตมีเครือข่ายวิชาชีพทันทีที่จบการศึกษา
“หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรที่ดีมาก เป็นโอกาสสำหรับน้องๆ ที่จะเรียนในสายอาชีพที่เป็นคนปรุงอาหารหรือเชฟเพราะหลักสูตรนี้ได้คัดสรรสิ่งดีๆ มาผสานรวมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ประกอบกับสถาบันของฝรั่งเศสซึ่งเป็นแม่แบบของ Cuisine หรือแม่แบบการครัว หลายๆ คนมองว่าฝรั่งเศส คือ อันดับหนึ่งด้านอาหารโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีอาหารและวัฒนธรรมการกินหลากหลาย เด็กที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้จะมีโอกาสได้เจอเชฟเก่งๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ มากมาย ซึ่งวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรนี้ โดยนำเอาหลักสูตรทั้งในและต่างประเทศมาปรับเสริมเพิ่มเติมให้เป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุด บัณฑิตที่จบการศึกษาหลักสูตรนี้สามารถทำงานเป็นเชฟได้ทั่วยุโรป และสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่มีความรอบรู้ด้านศิลปะการประกอบอาหารอย่างแท้จริงอีกด้วย” เชฟเคณฑ์ กล่าว
สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) รุ่นแรกนี้จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 เปิดรับจำนวน 25 คน โดยผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากสถาบันที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ และต้องมีระดับสัมฤทธิผลทางภาษาอังกฤษ : IELTS 4.5 ขึ้นไป/Paper-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 475 /Internet-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 49 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02 441 6000 ต่อ 2890, 085 254 9535 หรือคลิกดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ rice.rmutr.ac.th
บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้จะมีโอกาสทางอาชีพและธุรกิจที่แตกต่างและโดดเด่น! ด้วยระบบการเรียนการสอนสาขาวิชาชีพเชฟที่ได้มาตรฐานสากล การันตีด้วยวุฒิปริญญาตรี 2 ใบ พร้อมประกาศนียบัตร อีก 2 ใบ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้ก้าวสู่โลกธุรกิจและโกอินเตอร์สู่ครัวโลกได้อย่างมืออาชีพ.