Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

‘โรคหลอดลมอักเสบ’ โรคร้ายที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก

Posted By Plook Parenting | 07 มิ.ย. 61
4,417 Views

  Favorite

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบ ส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมบวมและมีเสมหะอุดหลอดลม ลูกน้อยจึงมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และหอบเหนื่อย

 

แม้โรคหลอดลมอักเสบ จะไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กส่วนมากมักเป็นโรคนี้หลังจากเป็นไข้หวัดเป็นเวลานาน หากลูกน้อยไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างถูกต้อง โรคหลอดลมอักเสบอาจลุกลามกลายเป็นโรคปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรงกว่าได้

 

ประเภทของโรคหลอดลมอักเสบ

1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ ส่วนมากมักเป็นหลังไข้หวัดที่ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลุกลามไปถึงหลอดลม หากไอมีเสมหะมากกว่า 1 สัปดาห์ ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) มีอาการมากกว่า 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด ฯลฯ ที่มีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน/ปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังนี้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการของลูกน้อยแย่ลงได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุของโรค

1. เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ฯลฯ ซึ่งสาเหตุจากไวรัสนี้พบได้บ่อยที่สุด

2. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาทิ ไมโคพลาสมา นิวโมคอคคัส และคลามัยเดีย ฯลฯ

3. เกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารบางอย่างที่สูดดมจนทำให้หลอดลมเกิดการอักเสบ เช่น ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ ฝุ่น เป็นต้น

 

อาการของโรค

ส่วนใหญ่อาการจะเหมือนกับไข้หวัด ดังนี้

1. น้ำมูกไหล

2. มีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว

3. เด็กหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ

4. หอบหรือหายใจดังผิดปกติ

5. ไอเรื้อรังมากกว่า 7 วัน

 

วิธีการรักษา

โรคหลอดลมอักเสบ ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการ คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้

1. พาลูกน้อยไปพบแพทย์

หลังจากวินิจฉัยโรค คุณหมออาจใช้วิธีพ่นยา หรือให้กินยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม และยาจำพวกฆ่าเชื้อ ตามลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคที่ลูกน้อยเป็นอยู่

2. ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายของลูกน้อยฟื้นฟูเยียวยาได้ดีที่สุด

3. ไม่ดื่มหรืออาบน้ำเย็น

การดื่มหรืออาบน้ำเย็น อาจทำให้หลอดลมระคายเคืองได้ ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อากาศเย็น และให้ลูกน้อยดื่มน้ำอุ่น และอาบน้ำอุ่นแทน เพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกายลูกให้คงที่

4. ล้างจมูกของลูก

หากลูกน้อยมีน้ำมูกจนทำให้หายใจไม่ออก สามารถใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อเอาเมือกน้ำมูกออกจากจมูก ให้ลูกหายใจสะดวกขึ้นได้

5. ให้ลูกอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท

การให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้ปอดของลูกได้รับอากาศดี ๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว และช่วยบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลงได้

 

โรคหลอดลมอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัด หรือโรคหัด ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ และดูแลรักษาสุขอนามัยของอย่างสม่ำเสมอ หากลูกน้อยรู้จักดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามคำสอน 3 ข้อคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมไปถึงการใส่ผ้าปิดปากเมื่อต้องอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัด ก็ช่วยป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคนี้ได้อีกทางหนึ่ง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow