Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการลดไข้เบื้องต้นเมื่อลูกน้อยไม่สบาย

Posted By Plook Parenting | 11 พ.ค. 61
4,005 Views

  Favorite

เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาลูกน้อยเป็นไข้ ตัวร้อน หากคุณพ่อคุณแม่ทราบวิธีการลดไข้เบื้องต้น จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการไข้ลุกลามเป็นอันตรายได้

 

การเป็นไข้ หรือตัวร้อน เป็นอาการที่แสดงออกว่าร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ส่งผลให้การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติไป ซึ่งวัยเด็กเป็นช่วงอายุที่เจ็บป่วยเป็นไข้ได้บ่อยที่สุด คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวัง และคอยสังเกตอาการลูกน้อยอยู่เสมอ

หากลูกน้อยมีอาการเซื่องซึม ตัวร้อน อาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ให้รีบวัดอุณหภูมิร่างกายของลูก หากลูกมีอุณหภูมิ 38-40 องศาเซลเซียส แสดงว่าลูกน้อยมีอาการไข้ และควรรีบดูแลลดไข้เบื้องต้นลูกน้อยทันที

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. เช็ดตัว

เมื่อลูกน้อยเป็นไข้ตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่ควรลดอุณหภูมิในร่างกายของลูกด้วยการเช็ดตัว เพื่อให้น้ำนำพาความร้อนออกจากร่างกาย โดยน้ำที่ใช้ควรอยู่ที่อุณหภูมิ 27-37 องศาเซลเซียส แล้วเช็ดย้อนรูขุมขนขึ้นไปเพื่อเปิดรูขุมขน ช่วยให้การระบายความร้อนออกจากร่างกายดีขึ้น และเน้นเช็ดตรงแนวข้อพับต่าง ๆ เช่น ซอกคอ รักแร้ และควรเช็ดตัวลูกน้อยทุก 3 ชั่วโมง

2. กินยาลดไข้สำหรับเด็ก

ควรเป็นยาที่เหมาะสมกับวัยของลูก หรือเป็นยาที่คุณหมอแนะนำ หรือลูกเคยกิน เพื่อให้ลูกไม่ต่อต้านการกินยา โดยการป้อนยาลูกมีทั้งหมด 3 แบบคือ ป้อนยาด้วยหลอด ป้อนยาด้วยช้อน และป้อนยาด้วยการหยด

3. เปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท

การเปิดแอร์เย็นเพราะกลัวลูกจะร้อน หรือการให้ลูกห่มผ้าห่มหนา ๆ และให้อยู่ในห้องร้อน ๆ จะได้มีเหงื่อออก เป็นวิธีที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ไข้สูงขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ลูกช็อกหมดสติได้

ควรเปิดหน้าต่าง หรือให้ลูกอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย

4. ให้สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย

ควรหาเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่ายและโปร่งสบายสวมให้ลูกน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดีขึ้น

5. ให้ลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ

การดื่มน้ำจะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากพิษไข้ของลูกน้อยได้ โดยน้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น

 

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินอาหารอ่อน อาทิ ข้าวต้ม ซุป โจ๊ก ฯลฯ โดยให้กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดแคลนพลังงาน และควรวัดอุณหภูมิของลูกเป็นระยะ หากผ่านไป 3-4 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือลูกน้อยมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow