Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พี่รักน้อง น้องรักพี่ เรื่องนี้มีเคล็ดลับ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 04 พ.ค. 61
7,283 Views

  Favorite

ทำอย่างไรให้ลูก “รักกัน” คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของพ่อแม่หลายคน ซึ่งจริง ๆ แล้วการที่จะสอนให้พี่น้องรักกันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก

 

เพราะพื้นฐานความรักของเด็ก ก็คือ ความรักที่มีให้คนในครอบครัวอยู่แล้ว ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากตัวแปรบางอย่าง ที่เด็กยังไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้ ดังนั้นหน้าที่นี้จึงเป็นของพ่อแม่ที่ต้องสร้างความปรองดองและความรักให้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งวันนี้แม่แหม่มมีวิธีการง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ให้ความเท่าเทียมกัน

คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อที่ว่า “คนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” “คนเป็นพี่ต้องรักน้อง” จริง ๆ แล้วความเป็นพี่น้อง ไม่ใช่หมายถึงว่าใครต้องเสียสละให้ใคร หรือใครต้องรักใครมากกว่ากัน แต่ความเป็นพี่น้องหมายถึง การที่ทั้งพี่และน้อง มีความรัก ความเข้าใจ มีการเสียสละและแบ่งปันซึ่งกันและกันมากกว่า

พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจว่าลูกนั้นยังเด็กนัก ดังนั้นพ่อแม่อาจจะต้องคอยสังเกตและเป็นผู้ช่วยในการประคองความสัมพันธ์ของลูก ๆ เช่น ถ้าเห็นพี่เล่นกับน้องแรงเกินไป ก็อาจจะต้องอธิบายให้พี่ฟังว่าน้องยังเล็ก การเล่นด้วยในบางครั้งอาจต้องเล่นเบา ๆ หน่อย จะเล่นแรง ๆ เหมือนเล่นกับพ่อแม่ หรือเล่นกับเพื่อนที่ตัวเท่ากันไม่ได้ หรือถ้าน้องเอาแต่ใจ งอแงเรียกร้องในสิ่งที่มากเกินไป เราก็ต้องบอกน้องว่า การแบ่งปันคืออะไร และการร้องไห้โวยวายไม่ได้เป็นการช่วยแก้ปัญหา

ซึ่งไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากพี่ หรือน้องก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ พ่อแม่ห้ามกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งเด็ดขาด จงอธิบายด้วยเหตุผล และชี้ให้ลูกเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า ที่สำคัญจงมองลูกด้วยความเท่าเทียมกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต หรือลูกคนเล็ก เขาทั้ง 2 ก็มีหัวใจเหมือนกัน  

2. ให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน 

พ่อแม่ควรให้ลูก ๆ ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเวลาลูกเล่นด้วยกัน ไม่ว่าลูกจะเริ่มเถียงกัน แย่งของเล่นกัน พ่อแม่จะต้องใช้ความอดทน คอยเป็นผู้สังเกตการณ์โดยไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือตัดสินปัญหานั้น ๆ ให้กับลูก เพราะเมื่อเราปล่อยให้ลูกได้เผชิญปัญหาด้วยกัน ลูกจะมีการคิดในการแก้ปัญหากันเอง และการให้เหตุผลตามมุมมองของตัวเอง นำไปสู่การตัดสินแก้ปัญหาได้เองตามวิธีคิดของเขา และได้เรียนรู้ทักษะการเล่นด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน

การที่พ่อแม่เข้าไปเป็นกรรมการตัดสินปัญหาให้ลูกนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าอาจจะจบลง แต่ก็จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะลูก ๆ ไม่ได้เกิดกระบวนการคิด ไตร่ตรองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกันและกันด้วยตนเอง ดังนั้นปมเหล่านี้ก็ยังจะอยู่ในใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกันในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีกนั่นเอง

3. ให้ลูกรู้จักช่วยเหลือกัน

พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้แสดงความมีน้ำใจและช่วยเหลือกัน พี่และน้องควรมีหน้าที่เป็นผู้ให้และผู้รับเท่า ๆ กัน หากเราต้องการให้ลูกรักกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พ่อแม่ต้องส่งเสริมลูกให้ทำกิจกรรมร่วมกัน อาจหากิจกรรมให้พี่ได้สอนน้องในเรื่องที่พี่ถนัด หรือหากิจกรรมให้น้องได้ช่วยเหลืองานบ้านของพี่บ้าง การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจกัน รู้จักเอาใจใส่ความรู้สึกของกันและกัน หากลูกเรียนรู้สิ่งนี้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อลูกในการปรับตัวเข้าหากัน และเป็นประโยชน์ในการปรับตัวเข้ากับคนอื่นในอนาคตอีกด้วย

 

เพราะลูกคือ “ดวงใจ” ของพ่อแม่ ขอเพียงแค่พ่อแม่มองลูกด้วความรัก และให้ความเข้าใจลูก ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ลูก ๆ ก็จะซึมซับถึงความรักนี้ และถ่ายทอดความรักที่มีให้แก่กันและกัน คอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นคู่หูพี่น้องที่จะคอยอยู่เคียงข้างกันตลอดไป      

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow