Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหารและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Posted By thaiscience | 27 มิ.ย. 61
10,108 Views

  Favorite

โครงการ BIO4MAP ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2016 ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ ๆ ที่มีความยั่งยืนออกสู่ตลาด โดยคณะทำงานของโครงการได้กล่าวว่าบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดใหม่นี้จะสามารถช่วยยืดอายุของเส้นพาสต้าสดและชีสได้อย่างมีนัยสำคัญและยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 29 อีกทั้งต้นทุนของบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดใหม่นี้ยังถูกกว่าบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดอื่น ๆ ถึงร้อยละ 25

 

บรรจุภัณฑ์อาหารชนิดใหม่นี้มีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่ได้จากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนเป็นจำนวนถึงร้อยละ 75 และประกอบไปด้วยพลาสติกชีวภาพหลาย ๆ ชั้นเรียงตัวกัน ได้แก่ พอลิแลคติคแอซิด (polylactic acid, PLA) พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (polyvinyl alcohol, PVOH) และสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะรวมไปถึงไขที่เคลือบพลาสติกซึ่งผลิตจากใบของต้นมะกอก บรรจุภัณฑ์อาหารชนิดใหม่นี้ สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายและมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีเยี่ยมอีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและสามารถป้องกันอาหารจากการสัมผัสกับความชื้นและก๊าซออกซิเจน ด้วยเหตุนี้จึงป้องการการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี

 

โครงการ BIO4MAP ได้รับงบประมาณการวิจัยเป็นจำนวน 1.5 ล้านยูโรและทำงานร่วมกับสถาบัน AIMPLAS ซึ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยีและการวิจัยที่ตั้งอยู่ในประเทศสเปน โดยสถาบัน AIMPLAS มีประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนาพลาสติกมาแล้วถึง 25 ปี โดยหน้าที่หลักของสถาบัน AIMPLAS ในโครงการ BIO4MAP คือ การพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยได้ตามธรรมชาติและป้องกันการแทรกผ่านของก๊าซออกซิเจนได้โดยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายด้วย นอกจากนี้สถาบัน AIMPLAS ยังรับผิดชอบในกระบวนการผลิตวัสดุใหม่ ๆ ที่จะใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแบบหลายชั้น (multilayer packaging) ชนิดใหม่ ๆ 

ภาพ : Shutterstock

 

การผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์อาหารจากโครงการ BIO4MAP นั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ใช้บรรจุชีสและเส้นพาสต้าสดเป็นจำนวนร้อยละ 57 โดยพอลิแลคติคแอซิดเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีเยี่ยมและทำให้การรีไซเคิลของพลาสติกทำได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่พอลิไวนิลแอลกอฮอล์จะช่วยในการป้องกันความชื้นและก๊าซไม่ให้แทรกผ่านพลาสติกได้ สำหรับไขที่ใช้เคลือบพลาสติกนั้นถูกพัฒนาโดยสถาบัน Fraunhofer ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของโครงการ BIO4MAP โดยไขจะถูกใช้เคลือบชั้นนอกสุดของบรรจุภัณฑ์ เพื่อป้องกันการแทรกซึมของความชื้นและพัฒนาความยืดหยุ่นของพอลิแลคติคแอซิด

 

วัสดุตั้งต้นทั้งหมดที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์จะถูกเชื่อมติดกันโดยใช้ตัวยึดเกาะชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งตัวยึดเกาะนี้ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่พัฒนาโดยโครงการ BIO4MAP แม้ว่าวัสดุที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตบรรจุภัณฑ์จะสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด แต่กระบวนการหรือเทคโนโลยีที่จะใช้อัดวัสดุเหล่านั้นออกมาเป็นลามิเนตจำนวนหลาย ๆ ชั้นซ้อนทับกันยังอยู่ในการศึกษาและพัฒนา

 

โดย ณ ตอนนี้ มีบริษัทผลิตอาหารบางรายได้นานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่พัฒนาโดยโครงการ BIO4MAP ไปใช้แล้ว เช่น บริษัท Altoni Pasta และ บริษัท Sachsenmilch ในขณะที่ผู้จัดหาวัตถุดิบให้แก่บริษัท Mercadona และ Central Quesera Mon-tesinos กำลังพิจารณาตัดสินใจในการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่นี้กับชีสเค้ก โดยอาหารสดทุกชนิดที่จำเป็นต้องบรรจุและเก็บรักษาในบรรจุภัณฑ์แบบดัดแปลงบรรยากาศ (modified atmosphere pack-aging) จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่นี้ 

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากสถาบัน AIMPLAS และ สถาบัน Fraunhofer โครงการ BIO4MAP ยังทำงานร่วมกับสถาบัน Vallés Plàstic ซึ่งรับผิดชอบในการทดสอบการใช้ตัวเคลือบชนิดใหม่และบริษัท Artibal ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไข น้ำยาเคลือบเงา และน้ำหมึก โดยจะรับผิดชอบในการผลิตไขเพื่อใช้เป็นตัวเคลือบบรรจุภัณฑ์ สำหรับตัวยึดเกาะแบบย่อยสลายได้ตามธรรมชาติได้ถูกพัฒนาโดยบริษัท MAPEA และสถาบัน Abo Akademi ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในประเทศฟินแลนด์และสุดท้ายการผลิตและขึ้นรูปวัสดุบรรจุภัณฑ์ถูกดำเนินการโดยบริษัท Bobino Plastique ในประเทศฝรั่งเศส

 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/126003

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow