Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไซนัสอักเสบในเด็ก

Posted By Plook Parenting | 05 เม.ย. 61
3,779 Views

  Favorite

ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุไซนัสมากกว่า 1 จุดขึ้นไป

 

โดยมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการอักเสบมากมาย อาทิ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จมูกอุดตัน ผนังกั้นจมูกคด และเป็นหวัด เป็นต้น ซึ่งอาการของโรคไซนัสอักเสบในเด็กและผู้ใหญ่จะมีลักษณะต่างกัน โดยอาการของเด็กมักสังเกตได้จากความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้

      • เป็นหวัดรุนแรงเกิน 10 วัน

      • น้ำมูกไหลไม่หยุด หรือบางรายรู้สึกแน่นจมูกตลอดเวลา

      • น้ำมูกมีสีเขียว เหลือง หรือขาวเป็นมูก

      • ไอเพราะมีเมืองหรือหนองไหลลงคอ จะไอบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน

      • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

      • ปวดหัว มีไข้สูง

 

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์เอ็กซเรย์ค้นหาสาเหตุและวินิจฉัยว่าอาการอักเสบลุกลามไปถึงอวัยวะใดบ้าง จะได้รักษาได้อย่างถูกต้อง

 

ภาพ : Shutterstock

 

แนวทางการรักษา

      • กินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวะนะ อย่างน้อย 10-14 วัน หรือนานกว่านั้น ได้ถึง 3-6 สัปดาห์

      • รักษาภูมิแพ้จมูกร่วมด้วย โดยใช้ยาแก้แพ้ หรือยาพ่นจมูกสเตียรอยด์

      • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้น้ำมูกที่ข้นเหนียวออกมาได้ง่ายขึ้น

 

วิธีการป้องกัน

1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

สุขภาพที่แข็งแรงนับเป็นเกราะที่ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บให้ออกจากจากลูกได้ดีที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจในโภชนาการ ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และได้ออกกำลังกายบ้าง ก็จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพกายใจแข็งแรง ห่างจากโรคภัยต่าง ๆ มากขึ้น

2. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศ

ฝุ่นละออง ฝุ่นควัน ควันบุหรี่ หรือมลพิษทางอากาศต่าง ๆ ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อความระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจของลูก ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโรคไซนัสอักเสบได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ และจัดให้บ้านมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นควันและบุหรี่ เพื่อป้องกันการเกิดไซนัสอักเสบของลูก

3. ฝึกให้ลูกสั่งน้ำมูกให้เป็น

เมื่อลูกรู้สึกระคายเคืองจมูก หรือรู้สึกว่ามีน้ำมูก ควรให้ลูกสั่งน้ำมูกออกมา เพราะการสั่งน้ำมูกออกมาจะช่วยให้จมูกโล่งและหายใจได้สะดวกขึ้น สำหรับเด็กบางคนที่ยังสั่งน้ำมูกไม่ได้ หรือไม่ชอบสั่งน้ำมูกส่วนใหญ่มักสูดน้ำมูกกลับเข้าไปในจมูก ซึ่งพฤติกรรมนี้จะส่งผลให้สิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเชื้อโรคต่าง ๆ กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง หากเด็กเรียนรู้ที่จะสั่งน้ำมูกเองเมื่อรู้สึกคัดจมูกก็จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการไซนัสอักเสบได้อีกทางหนึ่ง

4. หลีกเลี่ยงภาวะการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างฉับพลัน

การเปลี่ยนอุณหภูมิกะทันหัน ส่งผลให้ร่างกายปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมกับบรรยากาศภายนอกไม่ทัน อาจทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานไม่สมดุลจนส่งผลให้เจ็บป่วย ลุกลามเป็นอาการไซนัสอักเสบได้ ฉะนั้นหากต้องเปลี่ยนอุณหภูมิกะทันหัน อาทิ เดินตากแดดมาเข้าห้องแอร์ หรือออกจากห้องแอร์ไปภายนอก ควรหยุดยืนพักให้ร่างกายปรับอุณหภูมิของร่างกายก่อนพักหนึ่ง จึงไปยังสถานที่ที่มีอุณหภูมิต่างกัน

5. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

ภูมิแพ้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดไซนัสอักเสบได้ หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกแพ้อะไรบ้างก็ควรหลีกเลี่ยงหรือเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

ถึงแม้ว่าโรคไซนัสจะเป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยให้เด็กเป็นโรคไซนัสอักเสบบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการผิดปกติหรือเป็นไข้หวัดนานหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow