Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมผู้หญิงหงุดหงิดง่ายเมื่อเป็นประจำเดือน?

Posted By Ammay | 02 เม.ย. 61
52,426 Views

  Favorite

เชื่อว่าผู้หญิงหลายคน ไม่ว่าเป็นจะวัยรุ่นหรือวัยทำงาน คงเคยประสบกับปัญหาภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่า PMS (Premenstrual Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้หญิงโดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20 – 40 ปี มีอาการไม่สบายตัว อารมณ์หงุดหงิด และเหวี่ยงวีนได้ง่ายกว่าปกติ มักจะเป็นในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5 - 11 วัน และอาการพวกนี้จะเริ่มดีขึ้นหลังประจำเดือนมาได้ 4-7 วัน

ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS มักมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด คือ

 

เอสโตรเจน (Estrogen)

เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้เกิดส่วนโค้งเว้าต่าง ๆ ของร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของผู้หญิง ดังนั้น หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงที่เป็นประจำเดือน ก็จะส่งผลให้ผู้หญิงมีอารมณ์ฉุนเฉียวและอ่อนไหวง่าย

 

โปรเจสเตอโรน

เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรังไข่และรก มีหน้าที่ในการสลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น (จากการทำงานร่วมกันกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์) ให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ช่วงที่มีโปรเจสเตอโรนสูง (ช่วงหลังไข่ตก) ผู้หญิงจะมีสิวขึ้น เนื่องจากโปรเจสเตอโรนที่หลั่งเพิ่มขึ้นนี้จะไปทำให้เกิดการคั่งน้ำในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้รูขุมขนบวม อีกทั้งยังหลั่งน้ำมันมาหล่อเลี้ยงผิวมากขึ้นจนเกิดการสะสมอุดตัน

 

นอกจากนี้ภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือสภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินหรือเกลือแร่น้อยเกินไป อาการที่เกิดขึ้นจาก PMS สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อาการทางกาย และอาการทางจิตใจหรืออารมณ์

  • อาการทางกาย ได้แก่ ตัวบวม อึดอัด เจ็บคัดตึงเต้านม ปวดตามเนื้อตัว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเหมือนเป็นไข้ต่ำ ๆ  
  • อาการทางจิตใจหรืออารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว ขี้น้อยใจ เศร้าง่ายกว่าปกติ หรืออารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติจนตนเองหรือคนใกล้ชิดสามารถสังเกตได้

 

หากอาการเหล่านี้มีความรุนแรงมากอาจทำให้มีปัญหา หรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างยากลำบาก เช่น นอนไม่หลับ มีปัญหาความสัมพันธ์กับครอบตัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

 

ใครที่อยากจะป้องกันหรือแก้ไขอาการก่อนมีประจำเดือนมาแบบนี้ ก็สามารถทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้ที่ให้วิตามินบีรวม เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง สาหร่าย ตำลึง ผักโขม ผักปวยเล้ง แอปเปิล องุ่น กล้วย และผลไม้ตระกูลเบอร์รี หรือหันมาดื่มน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศหญิง (Anti-Estrogen) อย่างอ่อน จึงช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้

 

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือรสจัด ชา กาแฟ บุหรี่และสุรา เพราะการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงมีประจำเดือนจะทำให้ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้นอนหลับยากและเกิดอาการซึมเศร้าได้มากขึ้น ที่สำคัญควรหาเวลาในการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เล่นโยคะ เต้นแอโรบิก หาวิธีผ่อนคลายจิตใจโดยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเพลงเบา ๆ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดต่าง ๆ

 

สำหรับผู้หญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่แล้ว ก็สามารถเลือกรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนช่วยลดอาการอันไม่พึงประสงค์ก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น ฮอร์โมนดรอสไพรีโนน เป็นต้น ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้นอกจากจะลดอาการอันไม่พึงประสงค์ด้วยการปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายแล้ว ยังมีฤทธิ์ต้านฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย จึงใช้ในการรักษาสิว ผิวมัน ขนดกได้ดีอีกด้วย 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow