Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อร้ายเเรงที่ป้องกันได้

Posted By Plook Parenting | 13 มี.ค. 61
4,785 Views

  Favorite

โรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อร้ายแรงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะโรคนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น เด็ก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากไม่แพ้กัน

 

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือ โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) เป็นโรคติดต่อร้านแรง ซึ่งพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม "ทุกชนิด" ไม่ว่าจะเป็น คน สุนัข แมว กระรอก ค้างราว วัว ม้า ฯลฯ โดยโรคพิษสุนัขบ้านี้มักแสดงอาการทางระบบประสาทเป็นหลัก โรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง ถ้าหากฉีดวัคซีนป้องกันโรคไม่ทันท่วงที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

 

สำหรับเด็กเล็ก ๆ ในช่วงหน้าร้อนคือช่วงที่เด็กปิดเทอม การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีมากขึ้น เนื่องจากเด็ก ๆ มักชอบเล่นกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัด ดังนั้น เด็กจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากพอกับผู้ใหญ่เลยทีเดียว

 

ภาพ : Shutterstock

 

การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

เชื้อพิษสุนัขบ้าจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลบนผิวหนังที่ถูกสัตว์ติดเชื้อกัด ข่วน หรือเข้าผ่านทางรอยถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแผลที่ถูกน้ำลายสัตว์ (แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะเข้าไปไม่ได้) หรือเข้าผ่านทางเยื่อเมือกต่าง ๆ ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุช่องปาก รวมไปถึงการหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ด้วย

 

ลักษณะอาการในคน

ระยะฟักตัวของเชื้อในคนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อวัยวะที่ถูกกัด, ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด, ชนิดของสัตว์ที่กัด, ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังสัตว์กัด แต่สามารถแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะได้ ดังนี้

1. ระยะอาการเริ่มแรก

ผู้ป่วยจะมีการอักเสบที่สมองและเยื่อสมองในระยะ 2-3 วันแรก โดยอาจปวดเมื่อยตัว มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบบริเวณที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว

2. ระยะอาการทางระบบประสาท

จะเริ่มหงุดหงิด กระสับกระส่าย อาละวาด ไม่อยู่สุข โดยจะมีอาการเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะเริ่มซึมเศร้า และมีอาการกลัว ทั้งไม่ชอบแสงสว่าง ลม เสียงดัง กลัวน้ำ ซึ่งอาจพบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ มีน้ำลายไหล กลืนอาหารลำบากและเจ็บ เพราะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังพูดจารู้เรื่อง

3. ระยะสุดท้าย

เอะอะมากขึ้น สงบสลับกับชัก บางรายอาจเป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เพราะส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตใน 2-6 วัน เนื่องจากอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อและระบบทางเดินหายใจ เพราะโรคลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

 

ลักษณะอาการในสัตว์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีอาการ 2 แบบ ดังนี้

1. แบบดุร้าย

สัตว์จะมีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ๆ บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหัก ลิ้นเป็นแผล เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด รวมระยะเวลาประมาณ 10 วัน

2. แบบเซื่องซึม

สัตว์จะมีอาการปากอ้า หุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ มีสิ่งสกปรกติดอยู่ และลิ้นจะห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้ม ปาก และคอจนบวม จะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง

แต่สุนัขไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมากว่าเป็น โรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน

ส่วนแมวที่ป่วยจะมีอาการคล้ายสุนัขแต่ไม่ชัดเจนเท่า และพบอาการแบบดุร้ายมากกว่าแบบซึม

 

วิธีการปฏิบัติตัวหลังได้รับเชื้อ

1. แยกผู้ป่วย โรคพิษสุนัขบ้า ออกจากสิ่งเร้าต่าง ๆ

2. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด

3. ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นบาดแผล เพราะจะทำให้เชื้อกระจายไปยังส่วนอื่น

4. ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน

5. ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ

6. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนโดยด่วน

7. ผู้ที่คอยดูแล ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใส่แว่นตา ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย

 

วิธีการป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า

2. ระวังอย่าให้ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน และผู้ปกครองควรระวังอย่าให้เด็กเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดจนเกินไป โดยเฉพาะการกอดจูบสุนัข

3. เมื่อพบสุนัขหรือสัตว์ต้องสงสัย ควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ร้องเสียงดัง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สุนัขอยากไล่ล่าเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ

4. ไม่แหย่หรือรบกวนสัตว์ในขณะที่กำลังกินอาหารหรือนอนหลับ

5. ถ้าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยง ควรนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี

 

การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังได้รับเชื้อ โดยแนะนำว่า การฉีดวัคซีนก่อนได้รับเชื้อมักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เพื่อให้ร่างกายเตรียมความพร้อมในการต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า

ข้อดีของการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนได้รับเชื้อ

การฉีดวัคซีคโรคพิษสุนัขบ้าก่อนได้รับเชื้อ ทำได้โดยการฉีดวัคซีน 3 เข็มต่อเดือน หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล

การฉีดวัคซีนหลังจากได้รับเชื้อ

การฉีดวัคซีนหลังจากได้รับเชื้อ มีทั้งหมด 2 แบบ คือ แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเข้าชั้นผิวหนัง โดยวัคซีนทั้ง 2 แบบ ฉีดทั้งหมดเพียง 4-5 เข็มเท่านั้น และไม่ต้องฉีดทุกวัน วัคซีนเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท และสามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ แต่ถ้าหากจะให้ผลการป้องกันที่ดี ควรฉีดควบคู่กับเซรุ่มด้วย

กลุ่มอาการที่ควรฉีดวัคซีน มีดังนี้

1. ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก

2. ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล

3. ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ

4. ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก

5. มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

ทั้งนี้ สูตร ชนิด และปริมาณของการฉีดวัคซีน รวมไปถึงเซรุ่มที่ต้องฉีดหลังจากได้รับเชื้อ ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และดุลยพินิจของแพทย์ อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ในกรณีที่ลืมมาฉีดวัคซีนตามนัดหมาย

การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ถ้าลืมหรือไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ ควรรีบมาฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด

 

ข้อควรรู้

1. การรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน

2. กว่า 90% ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ เป็นเพราะผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด

3. โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เกิดจากความเครียดที่มาจากความร้อน

4. การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการให้อาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิด จะเป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า

5. ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่พบบ่อย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น, หลังถูกกัดให้รดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคนี้ได้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคนี้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ฆ่าสุนัขให้ตายแล้วเอาตับสุนัขมากินจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้, คนท้องห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า, วัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ ฯลฯ

6. โรคนี้ถ้ามีอาการแสดงแล้ว (เชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายได้แล้ว) ผู้ป่วยมักจะ เสียชีวิตทุกราย เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนหรือวิธีรักษาใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือรักษาให้หายได้

7. หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลินได้โดยไม่มีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์

 

การทราบสาเหตุ การปฏิบัติตน และการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคใด ๆ ก็ตาม นอกจากจะช่วยป้องกันลูกหลานให้ห่างไกลจากโรคภัยดังกล่าวแล้ว หากได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ หรือมีคนใกล้ตัวติดเชื้อโรค ก็สามารถหาวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และช่วยเหลือให้ทันท่วงทีได้ไม่ยาก

 

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์

Website : https://dcontrol.dld.go.th/

โทร : 02-653-4444 ต่อ 4141, 4142, 4117

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

FB : @anamaidoh 

Website : https://www.anamai.moph.go.th

โทร : 02-590-4000

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Website : https://www.ddc.moph.go.th/

โทร : 02-590-3000 หรือสายด่วน 1422

 

สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า

กรุงเทพมหานคร

ศูนย์โรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ถนนโยธี เขตราชเทวี

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาคกลาง

สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี

สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 จังหวัดปทุมธานี

สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 7 จังหวัดนครปฐม

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท

หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต จังหวัดสระบุรี

โรงพยาบาลสระบุรี

ภาคตะวันออก

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดชลบุรี

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี

หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต จังหวัดจันทบุรี

สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภาคเหนือ

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดพิษณุโลก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่

สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาคอีสาน

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนครราชสีมา

สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ จังหวัดสุรินทร์

โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ

ภาคใต้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 9 จังหวัดสงขลา

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดสงขลา

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow