Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีใหม่สำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม

Posted By thaiscience | 27 พ.ค. 61
5,539 Views

  Favorite

นักวิจัยในยุโรปได้พัฒนาชุดเครื่องมือชนิดใหม่ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับแอนติบอดี ซึ่งจะเอื้อต่อการศึกษาและตรวจหามะเร็งเต้านมและค้นพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ชนิดใหม่ ๆ

 

อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในยุโรปนั้นสูงถึง 430,000 รายต่อปี โดยถ้าเซลล์มะเร็งมีระดับของโปรตีนตัวหนึ่งที่เรียกว่า Human epidermal growth factor receptor (HER2) ในจำนวนมาก ระดับความรุนแรงและอัตราการตายก็จะสูงขึ้นไปด้วย โดยโปรตีน HER2 เป็นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

 

แม้ว่าโมโนโคลนอล แอนติบอดี (anti-HER2 monoclonal anti-bodies) จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของโปรตีน HER2 แต่เซลล์มะเร็งก็จะยังสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้เนื่องจากความสามารถในการต้านทานของเซลล์มะเร็งต่อการรักษา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพัฒนาวิธีการใหม่ที่สามารถจัดการกับโปรตีน HER2 ได้อย่างเฉพาะเจาะจงรวมไปถึงระบุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่มีความสัมพันธ์กับโปรตีน HER2 เพื่อใช้ในการทำนาย ตรวจวินิจฉัย และติดตามโรคมะเร็งเต้านมได้ดีขึ้น

 

โครงการ IMAGINT ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้พยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้ โดยได้รวบรวมนักวิจัยทั่วยุโรปในหลากหลายสาขาเพื่อมาศึกษาถึงศักยภาพของการใช้โปรตีน DARPins เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมซึ่งโปรตีนชนิดนี้เป็นโปรตีนขนาดเล็กที่มีลักษณะการทำงานคล้ายแอนติบอดีและสามารถเข้าจับกับโปรตีน HER2 ได้อย่างแน่นหนา 

 

โครงการ IMAGINT ได้พัฒนาชุดเครื่องมือที่ใช้สังเคราะห์และควบคุมโปรตีน DARPins เพื่อใช้เป็นพาหะในการนำส่งสารเคมีซึ่งสามารถเข้าทำลายตัวรับชนิดต่าง ๆ ของโปรตีน HER2 ได้ นอกจากนี้ทางโครงการยังได้ศึกษาการกระจายตัวของโปรตีน HER2 ในระดับเซลล์และได้เสนอให้วิธีนี้เป็นหนทางใหม่เพื่อใช้ตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อของผู้ป่วย 

ภาพ : Shutterstock

 

นักวิจัยของโครงการได้ค้นพบถึงความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อดีและเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งผ่านการใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า imaging cycler microscopy อีกทั้งยังพบการเปลี่ยนแปลงของไมโครอาร์เอ็นเอ และโปรตีนหลังจากให้การรักษาโดยใช้โปรตีน DARPins นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศในการแสดงออกของยีนก็ทำให้พบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ๆ ที่ใช้ในการทำนายการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้

 

โดยหนึ่งในชุดทดสอบการวิเคราะห์ของโครงการ IMAGINT เพื่อระบุหาตำแหน่งของโปรตีน HER2 มีแนวโน้มที่จะนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้เหล่านักวิจัยจากโครงการยังได้พัฒนาเครื่องมือชนิดใหม่ที่แสดงให้เห็นภาพของเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีน HER2 ในร่างกายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายและระดับความรุนแรงของโรคภายในร่างกายได้

 

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ๆ ที่ถูกค้นพบจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเฉพาะเจาะจงและยังช่วยพัฒนายาชนิดใหม่ที่ใช้ในการรักษา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าผู้ป่วยนั้นมีความเสี่ยงสูงที่เซลล์มะเร็งจะกลับมาแพร่กระจายซ้ำอีก แพทย์ผู้ให้การรักษาก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมโดยสรุป งานวิจัยของโครงการ IMAGINT สามารถช่วยให้จัดการและติดตามโรคมะเร็งเต้านมได้ดีขึ้น

 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/result/rcn/91913_en.html

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow