Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลาย

Posted By thaiscience | 24 พ.ค. 61
11,117 Views

  Favorite

บริษัท startup ในประเทศสหราชอาณาจักรได้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนหนึ่งพันล้านต้นต่อปี ซึ่งจะเป็นการช่วยจัดการกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกได้ พร้อมทั้งส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

 

อัตราการตัดไม้ทำลายป่านั้นเพิ่มตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนความพยายามในการอนุรักษ์ป่าที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถที่จะทดแทนต้นไม้ที่ถูกตัดไปได้ การลักลอบตัดไม้ การหักร้างถางพงพื้นที่ในป่า และการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายได้ส่งผลให้เกิดการสูญเสียต้นไม้ทั่วโลกจำนวนถึง 6.6 พันล้านต้นต่อปี ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุ โดยหนึ่งสาเหตุนั่นก็คืออัตราการปลูกป่าทดแทนนั้นยังมีน้อยกว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเนื่องจากการปลูกป่าทดแทนเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากอีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง 

 

บริษัท BioCarbon ซึ่งเป็นบริษัท startup ณ ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้และได้คิดค้นหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะพลิกโฉมวิธีการปลูกต้นไม้แบบดั้งเดิมซึ่งจะส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและก่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดหาทรัพยากรที่ได้จากป่าซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่สหภาพยุโรปได้ตั้งเอาไว้คือการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคเชิงเส้นไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน 

 

บริษัท BioCarbon ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อใช้ในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดหาวัตถุดิบที่ได้จากป่าอย่างยั่งยืนซึ่งทุนจำนวนนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนโครงการระยะที่ 1 ซึ่งมุ่งเน้นการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ รูปแบบทางธุรกิจที่ดีและกลยุทธ์เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  โดยในโครงการนี้มีการวางแผนการใช้เทคโนโลยีโดรนเข้ามาช่วยในการปลูกต้นไม้โดยไม่ใช้คนซึ่งจะถูกนำไปทดสอบในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศต่าง ๆ กันทั่วยุโรป โดยโครงการนำร่องนี้มีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 เดือน และเพิ่งจะสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016

 

ระบบการปลูกต้นไม้แบบใหม่นั้นอาศัยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (unmanned aerial vehicle) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวพาหนะและซอฟต์แวร์ที่ใช้คู่กัน โดยเทคนิคนี้เป็นเทคโนโลยีการปลูกต้นไม้แบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ไม่มีการใช้แรงงานคนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย อีกทั้งยังถือเป็นวิธีการปลูกป่าที่ถูกและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ โดยบริษัท BioCarbon ได้ประมาณว่าโดรนหนึ่งตัวจะสามารถปลูกเมล็ดลงบนพื้นดินได้ 10 เมล็ดภายใน 1 นาที และทางบริษัทมีเป้าหมายที่จะปลูกเมล็ดพืชให้ได้จำนวนหนึ่งพันล้านเมล็ดต่อปี นอกจากจะช่วยประหยัด เวลาและค่าใช้จ่าย เทคโนโลยีนี้ยังให้ประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การใช้เทคโนโลยีการสร้างแผนที่จากโดรนจะช่วยเพิ่มอัตราการพัฒนาป่าไม้ นอกจากนี้โดรนยังสามารถเข้าไปปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก

 

โดยเมล็ดจะถูกปล่อยจากโดรนลงสู่พื้นดินทำให้เราสามารถปลูกต้นไม้จำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น นอกจากนี้เมล็ดแต่ละอันจะถูกปล่อยลงมาพร้อมกับไฮโดรเจลเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารและแร่ธาตุและให้ความชุ่มชื้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอกของเมล็ดได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นการพลิกโฉมเทคนิคการปลูกต้นไม้แบบเดิม ๆ ที่ใช้มนุษย์ในการปลูกโดยการปลูกโดยใช้แรงงานคนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน นอกจากนี้เทคนิคการปลูกพืชแบบใหม่ยังสร้างโอกาสให้แต่ละประเทศในการบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ โดยในการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติหรือ UN Climate Summit ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ได้มีการกำหนดพันธกิจเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจำนวน 350 เฮกเตอร์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเทคนิคการปลูกต้นไม้แบบดั้งเดิมไม่สามารถที่จะทำให้พันธกิจนี้สำเร็จลุล่วงได้ 

 

ก้าวต่อไปของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือการขยายและพัฒนานวัตกรรมไปใช้ในระดับที่ใหญ่ขึ้นพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการกระตุ้นให้นักลงทุนและหุ้นส่วนเกิดความสนใจในเทคโนโลยีนี้เพื่อต่อยอดนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์

 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/125479_en.html

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow