Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กระบวนการผลิตโลหะมวลเบาสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม

Posted By thaiscience | 06 พ.ค. 61
4,978 Views

  Favorite

เทคโนโลยีการสร้างโลหะมวลเบาจะช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์และอวกาศให้สามารถผลิตยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพทางพลังงานสูงขึ้นได้

 

อุตสาหกรรมยานยนต์และอวกาศสามารถนำเทคโนโลยีโลหะมวลเบาไปผลิตยานพาหนะมวลเบา ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นอกจากนี้โลหะมวลเบายังถือเป็นวัสดุทางเลือกเพื่อนำไปพัฒนาเครื่องมือทางนวัตกรรมต่าง ๆ แต่การผลิตโลหะมวลเบาที่มีคุณภาพดีถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากขั้นตอนการกลึงโลหะจะมีเรื่องของความดันและความสั่นสะเทือนเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ต้องใช้แรงงานคนเท่านั้นในการปฏิบัติ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการผลิตจึงค่อนข้างสูง
 

ภาพ : Shutterstock
 

โครงการ DYNAMILL ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 ได้ค้นคว้าและพัฒนาวิธีการที่คุ้มค่าและปลอดภัยในการผลิตชิ้นส่วนโลหะที่มีผนังบางและมีมวลเบาเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตของตลาด อาทิเช่น การขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และเทคโนโลยีทางการแพทย์

 

ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี นั่นคือ การสร้างแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการวางแผนกระบวนการผลิตอย่างสมบูรณ์ และการปรับปรุงสภาวะในการตัดโลหะ โดยการควบคุมกระบวนการจะมุ่งเน้นการเพิ่มการหน่วงและลดการกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของชิ้นโลหะ ซึ่งการวางแผนกระบวนการผลิตจะถูกดำเนินการผ่านการใช้เครื่องมือทางซอฟท์แวร์ที่ล้ำสมัย เช่น แบบจำลองพลวัตที่เลียนแบบการแกว่งของโลหะหรือจะเป็นวิธีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย

 

นวัตกรรมในการผลิต เช่น ระบบจับยึดโดยแม่เหล็ก และอุปกรณ์ในการจับยึดเพื่อใช้สร้างใบพัดขนาดใหญ่ หรือจะเป็นชิ้นส่วนโลหะชนิดผนังบางที่มีโครงสร้างซับซ้อน ก็ได้ถูกนำไปใช้ร่วมกับวัสดุที่มีความทนทานสูง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ความปลอดภัยและคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมการบิน โดยโครงการย่อย 5 โครงการภายใต้โครงการ DYNAMILL ได้สาธิตให้เห็นถึงประโยชน์ของนวัตกรรมการผลิตโลหะมวลเบาที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่สามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น การพัฒนาการผลิตใบพัดขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ทำจากเหล็กกล้าผสมให้ดีขึ้นได้ของภาคอุตสาหกรรมพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตใบพัดขนาดเล็กที่ทำจากไทเทเนียมเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องบิน รวมไปถึงการผลิตชิ้นส่วนของดาวเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

จากนั้นก็มีการวิเคราะห์ถึงผลการดำเนินงานของโครงการย่อย 5 โครงการ โดยผลการวิเคราะห์ชี้ว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการผลิตได้ร้อยละ 30 เพิ่มเสถียรภาพในกระบวนการผลิตได้ร้อยละ 80 ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบอากาศอัด และสารหล่อเย็นได้ร้อยละ 30 และลดการสูญเสียวัตถุดิบได้ร้อยละ 70 ความคุ้มค่าของเทคโนโลยีนี้จะช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการกลึงโลหะในยุโรปได้อย่างมีนัยสำคัญอีกทั้งยังจะส่งผลทางอ้อมต่อภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

 

อุตสาหกรรมอวกาศเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมของยุโรปที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งสามารถก่อให้เกิดการสร้างงานมากกว่า 500,000 งาน และมีมูลค่าเกือบ 1,400 ล้านยูโรในปี ค.ศ. 2013 สหภาพยุโรปนั้นถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตยานพาหนะบินพลเรือน เช่น เฮลิคอปเตอร์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของเครื่องบิน โดยโครงการอย่าง DYNAMILL จะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถรักษาความเป็นผู้นำในด้านการบินและอวกาศได้ในภาวะที่มีการแข่งขันสูงทั่วโลก ซึ่งจะต้องขอบคุณสถาบันวิจัยสองสถาบัน สี่บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี และสี่ผู้ใช้เทคโนโลยีที่ร่วมกันก่อตั้งโครงการ DYNAMILL ขึ้นมา
 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/124463_en.html

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow