Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทบาทสมมุติ เล่นเพื่อเรียนรู้ชีวิต

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 23 ม.ค. 61
6,385 Views

  Favorite

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตการเล่นของลูกบ้างไหมคะว่า ลูกชอบเล่นของเล่นแบบไหน หรือชอบเล่นในลักษณะใด วันนี้แม่แหม่มมีประโยชน์ของการเล่นในรูปแบบหนึ่ง ที่เรามักเรียกว่า การเล่นบทบาทสมมุติมาฝากกันค่ะ

 

การเล่นบทบาทสมมุติของลูกจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเตาะแตะ (ตั้งแต่ 15-16 เดือน) และจะเริ่มซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการการเรียนรู้และช่วงวัย เช่น เริ่มนำตุ๊กตามาเล่นเป็นน้อง หรือเล่นเลียนแบบการทำกับข้าวของคุณแม่ ซึ่งการเล่นบทบาทสมมุติในลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยบ่งชี้ให้คุณพ่อคุณแม่ทราบได้ด้วยว่า ลูกมีพัฒนาการการเรียนรู้หรือปฎิสัมพันธ์ต่อเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวเป็นปกติหรือไม่ และประโยชน์ของการเล่นบทบาทสมมุติยังสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของลูกได้ ดังต่อไปนี้

 

ภาพ : Shutterstock

 

พัฒนาการ

1. พัฒนาการด้านร่างกาย

เด็กจะได้เรียนรู้การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ใช้หยิบหม้อ กระทะ เมื่อเล่นเป็นแม่ครัว ใช้ถักเปียตุ๊กตา เมื่อเล่นเป็นคุณแม่ หรือเรียนรู้และฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้คล่องแคล่ว ด้วยการปีนป่าย หรือกระโดด เมื่อเล่นบทบาทสมมุติในสิ่งที่ต้องมีการเคลื่อนไหว

2. พัฒนาการด้านอารมณ์

เด็กจะได้เรียนรู้ในเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น ถ้าเล่นกับน้องตุ๊กตาต้องล่นเบา ๆ พูดเพราะ ๆ หรือถ้าล่นกับเพื่อนต้องเล่นกับเพื่อนดี ๆ มีการแบ่งปัน และรอคอย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ และสามารถปรับอารมณ์ให้เหมาะสมเมื่อต้องออกไปเจอสังคมภายนอก เช่น โรงเรียน ได้

3. พัฒนาการด้านสังคม

เด็กจะได้เรียนรู้การแบ่งปันและการเล่นร่วมกับผู้อื่น โดยใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และเป็นการจำลองเหตุการณ์ว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เขาควรจะทำอย่างไร โดยในส่วนนี้พ่อแม่อาจจะร่วมเล่นด้วยการตั้งคำถาม หรือสร้างอุปสรรคให้ลูก ๆ ลองใช้ความคิด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดูว่าเขามีการเรียนรู้และต่อยอดจากการเล่นได้อย่างไร

4. พัฒนาการด้านสติปัญญา

โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านภาษา เด็กจะเรียนรู้การใช้ประโยค และคำพูดในลักษณะต่าง ๆ เพื่อนำมาสื่อสารและบอกเล่าให้พ่อแม่ฟัง พยายามที่จะแสดงบทบาทของตนเองออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจ ผ่านการเล่นบทบาทสมมุติตามรูปแบบที่พวกเขาได้สมมุติขึ้นมา เช่น เมื่อเล่นเป็นคุณหมอ ลูกก็จะมีการคิดคำถามเด็กในแบบคุณหมอ เช่น “คนไข้ไม่สบายหรือคะ” “เดี๋ยวคุณหมอจะรักษาคนไข้นะคะ” ซึ่งรูปประโยคเหล่านี้ เมื่อเด็กได้ฝึกใช้หรือพูดบ่อย ๆ ก็จะพัฒนาไปสู่การใช้รูปประโยคที่ยาวขึ้น หรือมีการเพิ่มคลังศัพท์ใหม่ ๆ ให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

 

ในช่วงวัยเด็กนั้น การเล่น ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อเด็กเป็นอย่างมาก ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การเล่นที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ และจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจก็จะสามารถนำกิจกรรมหรือใช้การเล่นมาเป็นสื่อกลางในการพัฒนาสมองของลูกได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

 

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow