Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสืบพันธุ์และชีวประวัติของสัตว์ทะเลหน้าดิน

Posted By Plookpedia | 26 ธ.ค. 59
2,469 Views

  Favorite
หอยนางรม
ลักษณะตะปิ้งปูตัวเมีย เป็นครึ่งวงกลมขนาดใหญ่

การสืบพันธุ์และชีวประวัติของสัตว์ทะเลหน้าดิน 

การสืบพันธุ์ในสัตว์ทะเลหน้าดิน จะพบได้ทั้งการสืบพันธุ์แบบมีเพศ และการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ จะพบเป็นส่วนน้อย และพบในสัตว์ที่มีขนาดเล็กอยู่รวมกลุ่มกัน สัตว์ทะเลที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ ได้แก่ ฟองน้ำ ซึ่งสืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ สัตว์ทะเลที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศที่พบมากอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกดอกไม้ทะเล และปะการัง พวกดอกไม้ทะเลสามารถสลัดส่วนเท้าที่ใช้ยึดเกาะกับพื้น ทิ้งไว้ให้งอกขึ้นมาเป็นตัวใหม่ได้ การที่สัตว์ทะเลหน้าดินสามารถสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศได้ ก็มีผลดี คือ สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยการแบ่งตัว หรือแตกหน่อ เพื่อครอบครองพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การลงเกาะของตัวอ่อน นอกจากนี้ มันยังไม่ต้องเสียพลังงานมากในการผสมพันธุ์ หรือในการรอโอกาส เพื่อให้เชื้อตัวผู้ และเชื้อตัวเมียมาผสมกัน ตัวอ่อนของปะการังที่พร้อมจะลงเกาะ จะทำการสำรวจพื้นที่ลงเกาะ เมื่อพบบริเวณที่เหมาะสม มันจะจมตัวลงจากมวลน้ำลงเกาะที่พื้น เจริญเป็นตัวแก่หนึ่งตัวเรียกว่า โพลิป โพลิปมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีส่วนท้ายยึดเกาะกับพื้น และด้านตรงข้ามเป็นรยางค์ส่วนหนวดอยู่ล้อมรอบปาก จากโพลิปหนึ่งตัวของปะการัง ก็จะมีการแตกหน่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปะการังแต่ละหัวที่เราเห็น ซึ่งประกอบด้วยโพลิปอีกหลายพันตัว ไส้เดือนทะเลจำพวกแม่เพรียงก็มีการสืบพันธุ์ แบบไม่มีเพศ โดยการแยกส่วน (Fragmentations) ซึ่งเป็นการเตรียมการขั้นสำคัญ สำหรับการผสมพันธุ์แบบมีเพศ ไส้เดือนทะเลเหล่านี้ ในฤดูกาลผสมพันธุ์ จะมีลำตัวแบ่งเป็นปล้อง แต่ละปล้องเป็นเสมือนตัวเล็กที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ดังนั้นในแต่ละปีไส้เดือนทะเลเหล่านี้ จะมีการรวมกลุ่มกัน ที่ผิวหน้าน้ำ โดยเฉพาะในยามพระจันทร์เต็มดวง มันจะว่ายน้ำไปมา และสลัดปล้องออกมาปล้อง แต่ละปล้องเหล่านี้จะจับคู่กัน และผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ขึ้นมา ไส้เดือนทะเลเหล่านี้ มักจะเรืองแสงเป็นสีเขียวแกมแดงด้วย ทำให้ผิวน้ำตอนกลางคืนแสงระยิบระยับ ที่เรียกกันว่า พรายน้ำ

การสืบพันธุ์แบบมีเพศจะพบมากที่สุดในกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดิน โดยที่เชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และตัวเมีย จะรวมกันเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะเจริญต่อไปเป็นตัวแก่ เราพบว่า สัตว์ทะเลหน้าดินบางชนิด จะมีลักษณะเป็นกะเทย (Hermaphroditism) โดยที่ในตัวเดียวกันนั้น จะมีทั้งเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และตัวเมียอยู่ด้วยกัน เช่น พวกเพรียงหิน เพรียงหิน จะไม่ปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ของมันออกสู่มวลน้ำในทะเล เมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ เพรียงหินจะยืดส่วนอวัยวะเพศผู้ ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อเรียวยาวออกสัมผัสกับตัวอื่น ที่อยู่ใกล้เคียงเป็นการหาคู่ เมื่อเลือกคู่ได้แล้ว มันจะใช้ส่วนอวัยวะเพศผู้สอดเข้าไปในตัวอื่น เพื่อถ่ายเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ลงไปให้ผสมพันธุ์ ไข่ที่ถูกผสมแล้ว จะเจริญภายในเพรียงหินตัวแม่ จนกลายเป็นตัวอ่อนระยะนอเพลียส ตัวอ่อนระยะนี้ว่ายน้ำได้ ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน เพรียงหินแต่ละตัวอาจปล่อยตัวอ่อนระยะนอลเพลียสได้ครั้งละประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตัว ตัวอ่อนระยะนอเพลียสจะมีลักษณะคล้ายครัสเตเชียนทั่วไปที่มีลักษณะเปลือกหุ้มตัว และมีรยางค์เป็นปล้อง มันจะมีการลอกคราบเป็นระยะๆ ในขณะที่มีการเติบโตจากตัวอ่อนระยะนอเพลียสเป็นตัวอ่อนระยะไซพริด (cyprid larvae) ลำตัวของตัวอ่อนระยะนี้ ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกที่มีลักษณะคล้ายฝาหอย และมีรยางค์เพิ่มขึ้นจากเดิม รยางค์ส่วนหนวดยาวขึ้นมาก ตัวอ่อนระยะนี้จะว่ายน้ำลงสัมผัสกับพื้นท้องทะเล เพื่อหาพื้นที่ลงเกาะ ตามปกติมันจะชอบลงเกาะบริเวณที่มีตัวแก่ของเพรียงหินเกาะอยู่ก่อนแล้ว และชอบบริเวณพื้นผิวที่หยาบ จากการทดลองล่อลูกเพรียงหินด้วยวัสดุที่มีพื้นผิวต่างๆ กัน พบว่า ท่อประปาพีวีซีที่มีผิวเรียบมากนั้น ก็มีเพรียงลงเกาะได้ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่เราหย่อนเชือกทิ้งไว้ในทะเล ก็มีเพรียงมาเกาะ เต็ม เราอาจพบเพรียงหินเกาะอยู่ตามผิวหนังของพวกปลาวาฬด้วย นอกเหนือจากพื้นผิววัสดุต่างๆ เมื่อตัวอ่อนระยะไซพริดพบพื้นผิวที่มันต้องการลงเกาะแล้ว มันจะลงเกาะติด โดยอาศัยสารจำพวกหินปูน ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมพิเศษที่อยู่ที่หนวดของมัน มันจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกครั้งหนึ่ง มีการสร้างเปลือกห่อหุ้มตัวมัน โดยเริ่มจากแผ่นล่างสุด ที่ยึดตัวมันเองกับพื้น และสร้างเปลือกอื่นๆ ซึ่งเคลื่อนที่ออกจากกันได้ รยางค์ส่วนอกที่ยื่นออกมาจากเปลือกหุ้มตัว จะทำหน้าที่หลักในการกรองอาหารจากน้ำ และส่งเข้าปากในเพรียงหินที่โตเต็มวัย

การเป็นกะเทยอีกรูปแบบหนึ่งที่พบมากในพวกสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังคือ การมีเพศสลับกัน ในขณะที่มีการเจริญวัย เช่น หอยนางรม ในระยะแรกจะเป็นตัวผู้ แต่พอเจริญวัยมากขึ้น จะกลายเป็นตัวเมีย ปลาที่อาศัยอยู่บริเวณแนวปะการัง จะมีลักษณะเป็นกะเทย โดยที่เป็นตัวเมียในระยะแรก ต่อมากลายเป็นตัวผู้ การที่มีเพศสลับกัน ตามอายุของสัตว์นี้ เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติ ที่บางช่วงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการแพร่ขยายพันธุ์ และบางช่วงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการเติบโต และแข่งขันแก่งแย่งกับตัวอื่น 

การสืบพันธุ์แบบมีเพศ ซึ่งมีเพศผู้ และเพศเมีย แยกออกจากกันนั้น ช่วยในการคัดเลือกพันธุ์ ทำให้เกิดยีน ที่หลากหลาย ปัญหาที่สำคัญคือ การปรับตัว เพื่อให้มีการย้ายถ่ายเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ให้ได้ ผสมกับเชื้อสืบพันธุ์ตัวเมียหรือไข่ การขนย้ายถ่ายเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ในสัตว์ทะเลหน้าดิน อาจทำได้หลายวิธี คือ การปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และเชื้อสืบพันธุ์ตัวเมียออกมา ในเวลาเดียวกัน ในมวลน้ำ เพื่อให้มีโอกาสผสมพันธุ์กัน ซึ่งวิธีนี้พบมาก ในสัตว์ทะเลทั่วไป เช่น ฟองน้ำ ปะการัง หอยสองฝา และไส้เดือนทะเล พวกแม่เพรียง เราพบว่า การปล่อยไข่และเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ของสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง มักกระตุ้นให้ตัวอื่นปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ออกมาด้วย ในเวลาเดียวกัน ดังเช่นการรวมกลุ่มของไส้เดือนทะเลพวกแม่เพรียง และฤดูกาลการปล่อยไข่และเชื้อสืบพันธุ์ของปะการัง ในแนวปะการัง การขนย้ายถ่ายเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้อีกวิธีหนึ่งคือ การที่มีอวัยวะพิเศษ ที่ทำหน้าที่นำเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ เข้าไปผสมพันธุ์ในสัตว์เพศเมีย วิธีนี้จะเป็นการประกันอย่างดีว่า เชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้จะมีโอกาสผสมพันธุ์กับไข่ นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสในการเลือกคู่ของสัตว์ทะเลอีกด้วย กลยุทธ์นี้พบมาก ในพวกครัสเตเชียน เช่น พวกกุ้ง และปู พวกปูม้าตัวผู้ และตัวเมีย จะสังเกตเพศได้ง่าย จากลักษณะตะปิ้งปู คือ ส่วนท้อง ที่พับงออยู่ใต้ส่วนกระดองปู ในปูตัวผู้ มีลักษณะตะปิ้งเป็นรูปสามเหลี่ยม ในขณะที่ปูตัวเมีย จะมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ ในช่วงที่มีการผสมพันธุ์ ปูตัวผู้ และปูตัวเมีย จะกอดรัดสัมผัสกัน ปูตัวผู้ จะมีอวัยวะเพศ ที่อยู่บริเวณตะปิ้ง จำนวน ๑ คู่ ที่ทำหน้าที่นำเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้เข้าไปในช่องเปิดอวัยวะสืบพันธุ์ของปูตัวเมีย ตามปกติปูจะมีการลอกคราบเป็นระยะๆ ปูตัวผู้มักจะลอกคราบก่อนฤดูกาลผสมพันธุ์ แต่ปูตัวเมีย เมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะเริ่มดำเนินการลอกคราบ ปูตัวเมียอาจมีการปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมากับมวลน้ำ เป็นการล่อตัวผู้ ปูตัวผู้จะกอดรัดจับปูตัวเมียไว้แน่น จนกระทั่งตัวเมียเริ่มลอกคราบ ปูตัวผู้ จะคลายการกอดรัด เพื่อให้ปูตัวเมียสามารถดีดตัวออกจากคราบเก่า เมื่อกระดองใหม่ของปูตัวเมียเริ่มแข็งตัวนั้น จะเป็นช่วงที่ปูตัวเมียยินยอมให้ปูตัวผู้สอดอวัยวะเพศเข้าไปในตัวมัน เพื่อผสมพันธุ์ ปูตัวผู้จะยังคงกอดรัดปูตัวเมียไว้แน่น จนกว่ากระดองของปูตัวเมียจะแข็งขึ้น ซึ่งเป็นการปกป้องปูตัวเมียไว้ด้วย

ไข่ที่ถูกผสมแล้ว จะถูกปล่อยออกมาจากช่องเปิดอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวเมีย ไข่เหล่านี้จะถูกยึดเกาะบริเวณตะปิ้งปูภายนอก ไข่จะเกาะเป็นพวง และเติบโตอยู่ระยะหนึ่ง อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าไข่เหล่านี้จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนระยะซูเอีย (zoae larvae) ตัวอ่อนระยะซูเอีย จะว่ายน้ำเป็นอิสระ ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน สามารถจับแพลงก์ตอนชนิดอื่นเป็นอาหารได้ ตัวอ่อนระยะนี้ จะมีการลอกคราบอีกหลายครั้งกว่ามันจะเจริญเป็นระยะที่สอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงปู ขนาดเล็ก เราเรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า ตัวอ่อนระยะตัวอ่อนเมกะโลปา (megalopa larvae) ตัวอ่อนระยะดังกล่าว จะจับตัวลงสู่พื้น และเจริญเป็นปู ที่โตเต็มวัยต่อไป 

เรามักพบว่า สัตว์ทะเลบางชนิด ที่ประสบปัญหาในการจับคู่ ตัวผู้จะมีขนาดเล็กลง และเกาะอยู่บนตัวของตัวเมีย ที่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นการประกันว่า จะมีโอกาสผสมพันธุ์แน่นอน ลักษณะดังกล่าว พบในพวกไส้เดือนตัวกลม ที่มีขนาดเล็ก และฝังตัวอยู่ในดิน สัตว์ทะเลบางชนิดที่ดำรงชีพเป็นพยาธิ ก็จะมีลักษณะการสืบพันธุ์แบบนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม โดยเฉพาะอุณหภูมิ ความเค็ม ความเข้มของแสง และปริมาณอาหาร จะมีอิทธิพลในการกำหนดช่วงเวลาสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเล ฤดูกาลผสมพันธุ์ของสัตว์ทะเลหน้าดิน ในเขตหนาว ขึ้นกับอุณหภูมิ และปริมาณอาหารเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังขึ้นกับช่วงพระจันทร์เต็มดวง หรือช่วงเดือนมืด แต่สัตว์ทะเลหน้าดินในเขตร้อนเช่นบ้านเรานั้น มักวางไข่ต่อเนื่องตลอดทุกเดือน แต่อาจมีช่วงที่วางไข่ หรือปล่อยเชื้อสืบพันธุ์สูงสุด ประมาณสองช่วงต่อปี ช่วงเวลาดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความเค็ม และปริมาณอาหารในมวลน้ำ

ชีวประวัติของสัตว์ทะเลหน้าดิน 

ลักษณะกลุ่มประชากรของสัตว์ทะเลหน้าดิน มักจะอยู่รวมกลุ่มกันเป็นแห่งๆ ตามปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม สัตว์ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวช้า เคลื่อนที่ช้า และมักอยู่กับที่ โอกาสที่จะไปสร้างประชากรใหม่ในบริเวณอื่นมีน้อยมาก นอกจากนี้ ยังไม่ค่อยมีการผสมพันธุ์ หรือแลกเปลี่ยนลักษณะทางพันธุกรรมกับกลุ่มประชากรใกล้เคียง ทำให้กลุ่มประชากรมีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ ผลเสียอีกประการหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สัตว์เหล่านี้ มักอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่น้อยมาก คือ ทำให้มันต้องปักหลักอยู่แต่ในบริเวณที่อาจมีอาหารขาดแคลน หรือลดน้อยลง นอกจากนี้สภาพแวดล้อมอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล วิธีแก้ปัญหาของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ สัตว์ทะเลหน้าดินส่วนใหญ่ จะมีช่วงระยะไข่และตัวอ่อนเป็นแพลงก์ตอน ล่องลอยไปกับกระแสน้ำ ประโยชน์จากการดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนของระยะตัวอ่อนโดยตรง คือ หลบหลีกสภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสม และลอยไปตามน้ำ เพื่อหาที่ลงเกาะ สร้างเป็นประชากรใหม่ได้ ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงการแก่งแย่งอาหาร และที่อยู่กับพ่อแม่ด้วย ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปริมาณอาหาร ในมวลน้ำ ย่อมมีมากกว่าบริเวณพื้นท้องทะเล และไม่ต้องแก่งแย่งอาหารกับตัวแก่ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย เราพบว่า พวกสัตว์ทะเลหน้าดินกว่าร้อยละ ๗๐ มีตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน

ลักษณะตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหน้าดินมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๓ แบบ ซึ่งมีวงจรชีวิต และกลยุทธ์ ในการสร้างกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน ขึ้นกับปริมาณพลังงานที่ใช้ในการสร้างตัวอ่อน และสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มแรก จะมีไข่จำนวนมาก แต่มีอาหารสะสมภายในไข่แต่ละฟองน้อยมาก ไข่เหล่านี้จะฟักตัว ภายในเวลาสั้นกลายเป็นตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็น แพลงก์ตอน ตัวอ่อนเหล่านี้สามารถหาอาหารกินเอง ได้โดยกินพวกแพลงก์ตอนพืชหรือแพลงก์ตอน สัตว์ด้วยกันเอง การอยู่รอดของตัวอ่อนเหล่านี้ขึ้น อยู่กับความสามารถในการหาอาหารของมันหลัง จากฟักตัวออกจากไข่ นอกจากนี้การที่มันมี จำนวนมากก็มีโอกาสถูกจับเป็นอาหาร โดยพวก สัตว์น้ำชนิดอื่นและปลาก็มีได้มาก 

สัตว์ทะเลหน้าดินอีกกลุ่มหนึ่ง จะมีไข่จำนวนน้อย แต่ในไข่แต่ละฟอง จะมีอาหารสะสมอยู่ในปริมาณมาก ตัวอ่อนเหล่านี้หลังจากฟักตัวออกจากไข่แล้ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกได้ระยะหนึ่ง เราจึงพบตัวอ่อนกลุ่มนี้ ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนไม่นาน ต้องหาที่ลงเกาะกับพื้น ข้อดีของการมีตัวอ่อนในแบบนี้คือ ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนนั้น หมายถึง มันมีโอกาสรอดสูงกว่าพวกที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนเป็นเวลานานๆ พวกที่ล่องลอยเป็นแพลงก์ตอน ในมวลน้ำได้นานกว่าย่อมหมายถึง โอกาสในการหาที่ลงเกาะใหม่ได้มากกว่า และมีขอบเขตการกระจายได้ใกล้กว่า นอกจากนี้ ถ้าเทียบสัดส่วนของพลังงาน ที่สูญเสียไปในการสร้างไข่และตัวอ่อน ก็พบว่า การมีไข่และตัวอ่อนในแบบแรก ค่อนข้างจะคุ้มค่ากว่า เนื่องจากลงทุนน้อย แต่ได้ปริมาณมาก ตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน ทั้งสองแบบนี้ จะล่องลอยเป็นอิสระอยู่ในมวลน้ำอยู่ระยะหนึ่ง จนกว่ามันจะพบสภาพพื้นท้องทะเลที่เหมาะสม มันก็จะลงเกาะ และเจริญไปเป็นตัวแก่ที่พร้อมจะสร้างกลุ่มประชากรใหม่ขึ้นมา สัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น ปะการัง กุ้ง หอย ปู และปลา มักมีลักษณะตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน

ลักษณะไข่และตัวอ่อนอีกแบบหนึ่งที่พบน้อยกว่าคือ ช่วงระยะที่ตัวอ่อนดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนจะหายไป ในกรณีนี้พบว่าสัตว์ทะเลหน้าดิน มีไข่ขนาดใหญ่ และมีจำนวนไม่กี่ฟอง ภายในไข่ จะมีอาหารสะสมอยู่มาก เพียงพอแก่การพัฒนาการของไข่และตัวอ่อน ซึ่งจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ที่มีลักษณะสมบูรณ์คล้ายตัวแก่ ที่เจริญวัยแล้วทุกประการ รูปแบบวงจรชีวิตแบบนี้ จะช่วยให้ไข่แต่ละฟอง มีโอกาสเจริญเป็นตัวอ่อนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่ตัวแม่ต้องสูญเสียพลังงานอย่างมากในการสร้างไข่ และในการดูแลไข่และลูกของมัน นอกจากนี้ตัวอ่อนจะเจริญอยู่ภายในบริเวณพื้นท้องทะเล ที่พ่อแม่ของมันอยู่ ไม่สามารถ กระจายไปได้ไกล เรามักพบลักษณะตัวอ่อนแบบนี้ ในพวกหอยฝาเดียว เช่น หอยนางชีหรือพวกหอย ขมทะเลที่จะวางไข่อยู่ในปลอกหุ้มไข่ หรือมีไข่ อยู่รวมกันเป็นพวงไข่หอย ไข่จะเจริญเป็นตัวอ่อน อยู่ภายในปลอกหุ้มไข่ ตัวอ่อนอาจกินอาหารที่ สะสมอยู่ภายในหรืออาจกินกันเองจนเหลือเฉพาะ ตัวที่แข็งแรงที่สุดอยู่รอดเป็นตัวอ่อนที่มีลักษณะ คล้ายตัวแก่ที่เจริญวัยออกจากปลอกหุ้มไข่ดังกล่าว

สัตว์ทะเลหลายชนิด มีการดูแลฟูมฟักไข่และตัวอ่อนของมันระยะหนึ่ง ดังเช่น ปูตัวเมีย จะอุ้มไข่ที่ถูกผสมแล้วของมัน หรือที่เราเรียกว่า ไข่แก่ ไว้ระยะหนึ่ง ที่ตะปิ้งใต้ท้องของมัน หรือการที่พวกหอยฝาเดียว มีการวางไข่ในปลอกหุ้มไข่ ก็เป็นการดูแลไข่และตัวอ่อนแบบหนึ่ง ปลาดาวบางชนิด จะใช้แขนของมันเกาะแน่นกับพื้น ทำเสมือนเป็นถุงอุ้มไข่ไว้ โดยหันด้านปากเข้าหาพื้น แล้วอยู่ในลักษณะนี้ในขณะที่มันดูแลไข่และตัว อ่อนของมัน ปลาฉลามเองก็ดูแลไข่และตัวอ่อน ของมันอย่างมากโดยมีการวางไข่ซึ่งมีปลอกหุ้มที่ แข็งแรง ตัวอ่อนจะเจริญวัยภายในปลอกหุ้มไข่ ปลาฉลามบางชนิดจะตั้งท้องโดยที่ตัวอ่อนจะ เจริญอยู่ภายในช่องอวัยวะสืบพันธุ์ของแม่ปลา การพัฒนาของตัวอ่อนจะเกิดขึ้นในตัวแม่จน กระทั่งคลอดออกมาเป็นตัว ซึ่งพบได้สองแบบคือ แบบแรกตัวอ่อนที่อยู่ในแม่จะได้อาหารจากไข่ ไข่จะมีการสะสมอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ ส่วน แบบที่สองนั้นตัวอ่อนจะได้รับอาหารจากตัวแม่ โดยผ่านทางรกและสายสะดือ ปลาทะเลกระดูกแข็งหลายชนิด จะดูแลไข่และตัวอ่อนของมัน โดยการที่มีไข่ที่ถูกผสมแล้ว เจริญภายในตัวของมัน และตัวมัน จะออกลูกเป็นตัวเลย ปลาบางชนิด จะอมไข่ไว้ เช่น ปลาดุกทะเลบางชนิด จะอมไข่ที่ถูกผสมไว้เป็นเวลานานเป็นเดือน ตัวที่มีบทบาทคือ ปลาดุกตัวผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคุณพ่อที่แสนดี และเสียสละ ตลอดเวลาที่อมไข่อยู่นี้ ปลาดุกตัวผู้ จะอดอาหาร มันจะดูแลไข่ จนพัฒนาเป็นลูกปลาตัวเล็กๆ ว่ายน้ำเข้าออกช่องปากของพ่อปลา ลูกปลาจะอาศัยอยู่กับพ่อ จนกว่ามันจะดูแลตัวเองได้ คุณพ่อดีเด่นในทะเล ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีคือ ม้าน้ำ และปลาจิ้มฟันจระเข้ แม่ม้าน้ำจะวางไข่ไว้ในกระเป๋าช่องท้องของพ่อม้าน้ำ พ่อม้าน้ำจะปล่อยเชื้อตัวผู้ไปผสมกับไข่ และดูแลฟูมฟักไข่เหล่านี้เอง ตัวอ่อนจะได้อาหารจากตัวพ่อจนกว่ามันจะฟัก เป็นลูกม้าน้ำตัวเล็กๆ พ่อม้าน้ำจะบิดตัวไปมาเพื่อ สลัดเอาลูกม้าน้ำที่โตแล้วออกจากช่องกระเป๋า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow