Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคพิษตะกั่ว

Posted By Plookpedia | 25 ธ.ค. 59
4,859 Views

  Favorite
ลักษณะสารตะกั่วที่ได้จากโรงหลอมตะกั่ว
ลักษณะงานที่สัมผัสกับหมึกพิมพ์

โรคพิษตะกั่ว (Lead Poisoning) 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก และรวดเร็ว โดยเฉพาะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมีการใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยมากมาย ผลจากการพัฒนานี้ ทำให้มีการปนเปื้อน และสะสมของสารพิษ ทั้งในสิ่งแวดล้อม และในสิ่งมีชีวิต 

ตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ผลิตและใช้มาตั้งแต่ ๖,๐๐๐ ปีก่อน ในแถบ Asia Minor และพิษจากสารตะกั่วเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ชาวกรีกและโรมัน ฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๓๗๐ ปี ก่อนคริสตกาล) ได้บรรยายถึงอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ในคนงานสกัดโลหะตะกั่ว ซึ่งเป็นอาการปวดเกร็งของพิษตะกั่ว สำหรับประเทศไทย มีรายงานอุบัติการณ์ของโรคพิษตะกั่วครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และมีรายงานผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วมาตลอด โดยมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้น 

คุณสมบัติโดยทั่วไปของสารตะกั่ว 

ตะกั่วเป็นโลหะหนัก มีเลขอะตอมิก ๘๒ โดยเป็นธาตุที่ ๕ ของหมู่ ๔A ในตารางธาตุ น้ำหนักอะตอมเท่ากับ ๒๐๗.๑๙ จุดหลอมเหลว ๓๒๗.๕ องศาเซลเซียส จุดเดือด ๑,๗๔๐ องศาเซลเซียส ความถ่วงจำเพาะ ๑๑.๓๔ วาเลนซี (Valency) ๐, +๒ และ +๔ ตะกั่วในธรรมชาติอยู่ในรูปของแร่กาลีนา คีรูไซต์ และแอนกลีไซต์ 

ตะกั่วบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของแข็ง สีเทาปนขาว สามารถแปรรูปได้ โดยการทุบ รีด หล่อหลอมได้ง่าย สามารถผสมเข้ากับโลหะต่างๆ ได้ดี รวมทั้งการทำปฏิกิริยาเกิดเป็นเกลือของตะกั่วต่างๆ 

การใช้ตะกั่วในวงการอุตสาหกรรม 

แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ 

๑. สารประกอบอนินทรีย์ตะกั่ว 

เช่น

๑.๑ โลหะตะกั่ว ใช้ผสมในแท่งโลหะผสม หรือผงเชื่อมบัดกรีโลหะ นำมาทำเป็นแผ่นหรือท่อโลหะ ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี เพื่อป้องกันการกัดกร่อน แผ่นกรองในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำลูกปืน ฉากกั้นสารกัมมันตรังสี 

๑.๒ ออกไซด์ของตะกั่ว ได้แก่
ตะกั่วมอนอกไซด์ (Lead monoxide) ใช้ในอุตสาหกรรมสี โดยใช้เป็นสารสีเหลือง ผสมสีทาบ้าน
ตะกั่วไดออกไซด์ (Lead dioxide) ใช้ทำเป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่รถยนต์ และเครื่องจักร 
ตะกั่วออกไซด์ หรือตะกั่วแดง (Lead red oxide) ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ สีทาโลหะ เพื่อกันสนิม เครื่องแก้ว ยาง และเครื่องเคลือบ 
๑.๓ สารประกอบของเกลือตะกั่ว คุณสมบัติมีสีต่างๆ กัน จึงนิยมใช้เป็นแม่สี หรือสีผสมใน อุตสาหกรรมสี เช่น
ตะกั่วเหลือง (Lead cromate) ตะกั่วขาว (Lead carbonate) 
ตะกั่วซัลเฟต (Lead sulfate) ใช้ใน อุตสาหกรรมสีและหมึกพิมพ์ 
ตะกั่วแอซิเตต (Lead acetate) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ครีมใส่ผม 
ตะกั่วซิลิเกต (Lead silicate) ใช้ในอุตสาหกรรมกระเบื้อง และเครื่องเคลือบเซรามิก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีผิวเรียบ เงางาม 
ตะกั่วไนเทรต (Lead nitrate) ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง 
ตะกั่วอาร์ซิเนต (Lead arsenate) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช
๒. สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่ว 

ได้แก่ 
เททระเอทิลเบด (Tetraethyl lead) และเททระเมทิลเลด (Tetramethyl lead) โดยใช้เป็น "สารกันน็อก" หรือสารป้องกันการกระตุกของเครื่องยนต์เวลาทำงาน โดยใช้ผสมในน้ำมันเบนซิน เพื่อให้เชื้อเพลิงมีค่าออกเทนสูงขึ้น สารนี้มีสีแดง ดังนั้นน้ำมันชนิดพิเศษทั้งหลาย จึงมีสีแดง สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่วค่อนข้างจะเป็นพิษมากกว่าตะกั่วอนินทรีย์ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดี สำหรับตะกั่วที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ จะอยู่ในรูปของตะกั่วออกไซด์ชนิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นตะกั่วอนินทรีย์ ปัจจุบันไม่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซินแล้ว

คนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ก็เสี่ยงต่อการได้รับพิษตะกั่ว
ผู้ที่ทำงานอยู่ตามปั้มน้ำมันก็เสี่ยงต่อการได้รับพิษตะกั่ว


 

การดูดซึมของตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย 

ตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทางคือ 

๑. การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร 

แหล่งสำคัญ คือ การปนเปื้อนของตะกั่วในอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ยาสมุนไพรแผนโบราณ และภาชนะเครื่องใช้ที่มีตะกั่วปนเปื้อน พบว่าร้อยละ ๗๐-๘๕ ของตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายคนปกติ ได้จากอาหาร โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่สามารถดูดซึมตะกั่วจากอาหารได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของ ปริมาณตะกั่วในอาหาร และเด็กสามารถดูดซึมได้มากถึงร้อยละ ๔๐-๕๐ ของปริมาณตะกั่วในอาหาร ตะกั่วที่เข้าไปกับอาหารจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น จากลำไส้เล็กจะเข้าสู่ตับ โดยผ่านทางเส้นเลือดดำใหญ่ เข้าสู่กระแสเลือด การดูดซึมตะกั่วในทางเดินอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ และภาวะโภชนาการ โดยในภาวะที่ท้องว่าง หรือได้รับอาหารที่ขาดธาตุแคลเซียม เหล็ก และทองแดง หรือมีสารฟอสเฟตต่ำ จะทำให้ตะกั่วถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น 

๒. การดูดซึมจากระบบทางเดินหายใจ การหายใจเอาควัน หรือฟูมของตะกั่ว ที่หลอมเหลวเข้าไป เช่น จากการหลอมตะกั่ว หรือเชื่อมโลหะ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ร่างกายอันดับแรกของผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสตะกั่ว เช่น คนงานในโรงงานหลอมตะกั่ว แบตเตอรี่ โรงงานผลิตสี ฯลฯ ตะกั่วสามารถดูดซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ โดยการดูดซึมจะเร็วมาก แต่ถ้าหายใจเอาอนุภาคของตะกั่วที่มีขนาดเล็กกว่า ๐.๗๕ ไมครอน เข้าไป เช่น จากสีเก่าที่หลุดออกมา การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะช้ากว่า โดยทั่วไปร้อยละ ๓๕-๕๐ ของตะกั่ว จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยวิธี ฟาโกไซโตซิส (Phagocytosis : คือ กระบวนการทำลายสิ่งแปลกปลอม โดยเม็ดเลือดขาว) อาการที่เกิดขึ้นมักจะรวดเร็ว และรุนแรง การหายใจเอาอากาศ ที่มีไอหรืออนุภาคตะกั่ว ปริมาณ ๑ ไมครอนต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ จะเพิ่มปริมาณตะกั่ว ในเลือดได้ ๑-๒ มิลลิกรัมต่อปริมาณเลือด ๑๐๐ มิลลิเมตร ได้มีการกำหนดความเข้มของตะกั่ว ที่ให้มีได้ในอากาศ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย คือ ในบริเวณทำงานไม่ควรเกิน ๐.๒ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ สำหรับผู้ที่ทำงาน ๘ ชั่วโมงต่อวัน หรือ ๔๐-๔๒ ชั่วโมงต่อ สัปดาห์ นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณสูงๆ ในอากาศ จะช่วยให้การดูดซึมของ ตะกั่วในปอดเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น 

๓. การดูดซึมทางผิวหนัง 

เกิดเฉพาะตะกั่วอินทรีย์เท่านั้น ผู้ที่มีโอกาสได้รับตะกั่วทางผิวหนังได้แก่ คนงานที่ทำงานในปั๊มน้ำมัน ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เนื่องจากในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการเติม เตตราเอธิล เลด (Tetraethyl lead) หรือ เตตราเมทธิล เลด (Tetramethyl lead) ผสมในน้ำมันเบนซิน ดังนั้นเมื่อคนงานถูกน้ำมันหกรดผิวหนัง หรือใช้น้ำมันเบซินล้างมือ เตตราเอธิลสามารถละลายชั้นไขมันของผิวหนังได้ ตะกั่วจึงสามารถซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายไปสู่ตับ และจะเปลี่ยนเป็นไตรเอธิล เลด (Triet hyl lead) ได้ช้ามาก โดยมีค่าครึ่งวีวิต เท่ากับ ๒๐๐ - ๓๕๐ วัน ตะกั่วจึงสามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน

การกระจายของตะกั่วในร่างกาย 

หลังจากตะกั่วดูดซึมจากลำไส้แล้ว ตะกั่วจะเข้าสู่ตับโดยผ่านทางเส้นเลือดดำ บางส่วนจะถูกขับออกทางน้ำดี และอุจจาระ ถ้าหากตะกั่วเข้าไปในปอด จะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงได้เลย กระแสเลือดจะพาตะกั่วไปทั่วร่างกาย โดยใช้เวลา ประมาณ ๑๔ วินาที ตะกั่วที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ระยะแรกจะอยู่ในสภาวะเลดไดฟอสเฟต (lead diphosphate) ซึ่งจะกระจายไปอยู่ที่เส้นผม และตามเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) เช่น สมอง ปอด ม้าม ตับ และไต จากนั้นบางส่วนจะถูกส่งไปสะสม ที่กระดูกยาว ในสภาวะเลดไทรฟอสเฟต โดยร้อยละ ๓๐ ของตะกั่วในร่างกาย จะเก็บไว้ที่เนื้อเยื่ออ่อน และร้อยละ ๗๐ จะเก็บไว้ที่กระดูกยาว ระดับตะกั่วในกระดูกค่อนข้างคงที่ แต่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ตะกั่วถูกปล่อยออกจากกระดูก คือ สภาวะที่ร่างกายมีภาวะเครียดเกิดขึ้น เช่น มีไข้ ภาวะความเป็นกรด-ด่างของร่างกายผิดปกติ การลดระดับแคลเซียมในร่างกาย หรือลดระดับแคลเซียมในเลือด ตะกั่วจะกลับออกจากกระดูก เข้าสู่กระแสเลือด และไปอยู่ที่เนื้อเยื่ออ่อนดัง กล่าวมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยซึ่งเดิมไม่มีอาการจะเกิด อาการโรคพิษตะกั่วเฉียบพลันได้

การสะสมของตะกั่วในร่างกาย 

๑. ในกระแสเลือด โดยกว่าร้อยละ ๙๐ จะรวมตัวกับเม็ดเลือดแดง และส่วนที่เหลือจะอยู่ในน้ำเลือด ค่าครึ่งชีวิตของตะกั่วในเลือดประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ 

๒. ในเนื้อเยื่ออ่อนที่สำคัญ คือ ตับ และไต มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ ๔ สัปดาห์ 

๓. ในกระดูก โดยร้อยละ ๙๐ ของตะกั่วที่สะสมอยู่ในร่างกายจะอยู่ในกระดูก ซึ่งอยู่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ ๑๖-๒๐ ปี ยกเว้นในเด็ก ซึ่งประมาณร้อยละ ๗๐ เท่านั้น ที่สะสมอยู่ในกระดูก

เขตที่มีการจราจรหนาแน่นมักมีปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม

  

การขับถ่ายตะกั่วออกจากร่างกาย

ร่างกายคนเราสามารถขับตะกั่วออกได้เต็มที่ ประมาณ ๒ มิลลิกรัมต่อวัน โดยขับออกทางปัสสาวะร้อยละ ๗๕-๘๐ โดยผ่านกระบวนการกรองของไต นอกจากนี้ถูกขับออกทางเหงื่อ น้ำดี น้ำนม และขับออกทางอุจจาระ ประมาณร้อยละ ๑๕

กลุ่มผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษตะกั่ว 

ได้แก่ 

๑. คนงานที่ประกอบอาชีพสัมผัสสารตะกั่ว 

ได้แก่ 

๑. คนงานทำเหมืองตะกั่ว 
๒. คนงานโรงงานถลุงแร่ตะกั่ว 
๓. คนงานโรงงานอุตสาหกรรมผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ 
๔. คนงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 
๕. คนงานโรงงานผลิตสี 
๖. คนงานโรงงานชุบโลหะ 
๗. คนงานโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา/ เซรามิก 
๘. คนงานโรงงานทำเครื่องประดับโลหะ 
๙. คนงานโรงงานทำลูกปืน 
๑๐. คนงานบัดกรีตะกั่ว 
๑๑. คนงานเรียงพิมพ์ และหล่อตัวพิมพ์ 
๑๒. คนงานโรงงานผลิตและบรรจุสาร กำจัดศัตรูพืช 
๑๓. คนงานทา หรือพ่นสีกันสนิม และ สีทาบ้าน 
๑๔. คนงานโรงงานผลิตแก้ว 
๑๕. คนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำมัน เบนซินที่ผสมสารตะกั่ว (ตะกั่วอินทรีย์) เช่น เด็ก สถานีบริการน้ำมัน ช่างซ่อมเครื่องยนต์ 
๑๖. อาชีพอื่นๆ เช่น ตำรวจจราจร ฯลฯ

๒. บุคคลทั่วไป 

ได้แก่ บุคคลที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณโรงงานหลอมตะกั่ว หรือใกล้โรงงาน ที่มีการใช้สารตะกั่ว บุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น หรืออยู่ใกล้ถนน และผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องติดอยู่ในการจราจรที่แน่นขนัด 

๓. เด็ก 

เนื่องจากพฤติกรรมของเด็กที่ชอบหยิบสิ่งของใส่ปาก ซึ่งบางครั้งของที่หยิบใส่ปากนั้น มีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ เช่น ของเล่นที่มีคุณภาพต่ำ จะมีสารตะกั่วปนเปื้อน 

๔. บุคคลในครอบครัวของคนงานที่ประกอบ อาชีพสัมผัสตะกั่ว 

เนื่องจากฝุ่นตะกั่วสามารถติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผิวหนัง และผมของคนงาน ทำให้ตะกั่วสามารถติดจากที่ทำงานไปสู่บ้านได้ 

๕. ทารกและเด็กที่ดื่มนมแม่ 

เนื่องจากในหญิงมีครรภ์ ตะกั่วสามารถซึมผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยระดับตะกั่วในสายสะดือมีค่าเท่ากับระดับตะกั่วในเลือดของมารดา และหญิงให้นมบุตรที่มีระดับตะกั่วในร่างกายสูง ตะกั่วสามารถผ่านทางน้ำนม สู่ทารกที่ดื่มนมแม่ได้

โรคพิษตะกั่วในเด็ก

  

พิษของตะกั่วต่อร่างกาย

พิษตะกั่วในผู้ใหญ่

เมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีใดก็ตาม หากมีการสะสมจนถึงระดับอันตราย ก็จะแสดง อาการให้เห็น ดังนี้

๑. อาการทางระบบทางเดินอาการ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเริ่มจากมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก บางรายมีอาการท้องเสีย อาการที่สำคัญคือ ปวดท้องอย่างรุนแรงมาก ที่เรียกว่า "โคลิก" เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจปวดท้องจนดิ้นตัวงอ อาการปวดท้องนี้ อาจทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดว่า เป็นอาการปวดท้อง
เนื่องจากสาเหตุทางศัลยกรรมได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ นอกจากนี้การดื่มสุรา หรือภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ จะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกั่ว จากที่เก็บสะสมไว้ออกมาในเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมากขึ้น นอกจากนี้อาจตรวจพบแนวเส้นตะกั่วบริเวณเหงือก (lead line) มีลักษณะเป็นเส้นสีน้ำเงิน-ดำ จับอยู่ที่ขอบเหงือกต่อกับฟัน ห่างจากฟันประมาณ ๑ มิลลิเมตร พบบ่อยบริเวณฟันหน้ากราม และฟันกราม

๒. อาการทางระบบประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา
บางครั้งมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ ถ้าร่างกายได้รับตะกั่วปริมาณมากๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อกลุ่มที่ทำหน้าที่เหยียด เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดข้อมืออ่อนแรง ทำให้เกิด อาการที่เรียกว่า ข้อมือตก หรือข้อเท้าตก การเป็น อัมพาตมักจะไม่ทำให้ประสาทความรู้สึกเสีย ส่วนมากมักจะเป็นเฉพาะกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งของแขนหรือขาเท่านั้น และมักจะมีอาการข้างที่ถนัดก่อน 

๓. อาการทางสมอง เป็นอาการแสดงที่พบว่า รุนแรงที่สุด มักพบในเด็ก ที่ได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณค่อนข้างสูง เช่น กินตะกั่วอนินทรีย์ หรือสูดเอาไอและละอองฝุ่นตะกั่วเข้าไปมาก สำหรับผู้ใหญ่พบได้น้อย โดยมากเกิดจากตะกั่วอินทรีย์ เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน มักมีอาการเริ่มต้นจากตื่นเต้น นอนไม่หลับ ฝันร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว ปฏิกิริยาสะท้อนไวกว่าปกติ สติคุ้มดีคุ้มร้าย ในที่สุดอาจชัก หมดสติ และถึงแก่กรรมได้ 

๔. อาการทางโลหิต ผู้ป่วยมักจะมีอาการซีด เลือดจาง อ่อนเพลีย นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ มึนงง ในรายที่เป็นเรื้อรัง พบว่า มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ได้ด้วย 

พิษตะกั่วในเด็ก 

๑. ระบบประสาท โดยตะกั่วจะทำลายทั้งระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ยิ่งอายุน้อยระบบประสาทยิ่งถูกทำลายมาก ดังนั้นในเด็กเล็กจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ระดับตะกั่วในเลือด ๓๕ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อาจมีอาการผิดปกติทางจิตประสาทได้ด้วย 

๒. ระบบทางเดินปัสสาวะ ตะกั่วทำลายไตโดยตรง ทำให้เกิดการฝ่อลีบของบริเวณที่กรองปัสสาวะ

๓. ระบบเลือด นอกจากจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายแล้ว ตะกั่วยังขัดขวางการสร้างฮีม ทำให้มีอาการซีด โลหิตจางได้ 

๔. พิษต่อหัวใจ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

๕. ระบบทางเดินอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อเรียบมีการเกร็ง เกิดอาการปวดท้องมาก 

๖. นอกจากนี้ระดับตะกั่วในเลือด ตั้งแต่ ๒๕ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมอายุ 

อาการโรคพิษตะกั่ว 

แบ่งได้เป็นระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง 

๑. พิษตะกั่วเฉียบพลัน 

อาการสำคัญที่พบ คือ อาการของโรคเนื้อสมองเสื่อมเฉียบพลัน มักเกิดเมื่อระดับตะกั่วในเลือดสูงเกิน ๑๒๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี อาการอาจเริ่มด้วยชักและหมดสติ หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น เบื่ออาหาร ซีด กระวนกระวาย ซึม เล่นน้อยลง กระสับกระส่าย เสียกิริยาประสานงาน อาเจียน มีอาการทักษะเสื่อมถอย โดยเฉพาะการพูด อาการจะมากขึ้นเรื่อยๆ ใน ๓-๖ สัปดาห์ จากนั้นจึงมีอาการของโรคสมองเสื่อมตามมา ใน ๒-๕ วัน เริ่มด้วยอาการเดินเซ อาเจียนมาก ซึม หมดสติ และชักที่ควบคุมลำบาก แต่จะไม่พบอาการปลายประสาทเสื่อม 

๒. พิษตะกั่วเรื้อรัง 

อาการแสดงทางคลินิกที่พบในระบบต่างๆ มีดังนี้ 

๒.๑ ระบบประสาทส่วนกลาง และ ประสาทสมอง อาการสำคัญที่พบ คือ สมองเสื่อมจากพิษตะกั่ว พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย ซึม เวียนศีรษะ เดินเซ หกล้มง่าย นอนไม่หลับ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ความจำเสื่อม ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการสั่นเวลาเคลื่อนไหว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นผลจากตะกั่วเข้าไปทำลายเซลล์ประสาท ทำให้เนื้อเยื่อสมองเกิดอาการบวม มีน้ำและสารต่างๆ ในเซลล์เพิ่มขึ้น เมื่อสมองถูกกดมากๆ ทำให้เนื้อสมองถูกทำลาย ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง มีอัตราตายประมาณร้อยละ ๒๕ สำหรับผู้ที่รอดชีวิต ภายหลังการรักษาจะพบว่า มีความผิดปกติตามมาได้ ส่วนอาการทางประสาทสมอง พบว่า ประสาทตาฝ่อ และมีความผิดปกติ ในการทำงานของกล่องเสียง

๒.๒ ระบบประสาทส่วนปลาย และกล้ามเนื้อ พบมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ กล้ามเนื้อที่ใช้บ่อยมีอาการอ่อนแรง หรือ เป็นอัมพาต เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดข้อมือ ข้อเท้า อ่อนแรง ทำให้เกิดอาการข้อมือตก ข้อเท้าตก อาจเป็นข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ อาการของระบบประสาทส่วนปลาย พบมีอาการชา ปลายประสาทอักเสบ 

๒.๓ ระบบทางเดินอาหาร เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน โดยเริ่มแรกมักมีอาการท้องผูก แต่บางราย อาจมีอาการท้องเดิน น้ำหนักลด รู้สึกลิ้นรับรสของโลหะ เมื่อภาวะเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องบีบเกร็ง และกดเจ็บ ทำให้มีอาการปวดท้องมาก เรียกว่า "โคลิก" นอกจากนี้อาจตรวจพบเส้นสีน้ำเงิน-ดำที่เหงือก ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา ระหว่างไฮโดรเจนซัลไฟด์ของแบคทีเรียในช่องปากกับตะกั่ว โดยอาจพบได้ถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วสะสมมาเป็นเวลานานๆ 

๒.๔ ระบบโลหิต มักพบมีอาการซีด โดยทั่วๆ ไป จะมีลักษณะซีด จากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากตะกั่วจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์ฮีมในไขกระดูก โดยขัดขวางการใช้เหล็ก และการสร้างโกลบินในไขกระดูก นอกจากนี้ยังมีผลให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะต่างจากปกติ มีจุดสีน้ำเงิน กระจายอยู่ภายใน (basophilic stippling) เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และแตกง่าย อายุสั้นกว่าปกติ ความเป็นพิษต่อระบบโลหิตนี้ มีผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ 

๒.๕ ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วเป็นเวลานานๆ อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากตะกั่วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และหน้าที่ของไต โดยทำให้เซลล์ที่บุส่วนต้นของท่อภายในไต เกิดสารประกอบของตะกั่วกับโปรตีน ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างพลังงานของไต โดยจะตรวจพบน้ำตาล กรดอะมิโน และฟอสเฟตในปัสสาวะสูง รวมทั้งฟอสเฟตในเลือดต่ำ เนื่องจากการดูดกลับลดลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง จากการที่ร่างกายดึงฟอสเฟตจากกระดูกมาใช้ และในรายที่เป็นเรื้อรังไตจะมีขนาดเล็กลง เส้น เลือดแข็ง และผู้ป่วยอาจเสียชีวิต เนื่องจากภาวะ ไตวาย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะกรดยูริกคั่ง ในร่างกาย เกิดอาการของโรคเกาต์ได้ 

๒.๖ ระบบโครงสร้าง ตะกั่วจะไปสะสมที่กระดูก โดยเฉพาะที่ส่วนปลายของกระดูกยาว เมื่อเอกซเรย์ดู จะพบรอยหนาทึบของตะกั่วฟอสเฟต พบได้ในเด็ก ถ้าร่างกายขาดแคลเซียม จะทำให้ร่างกายดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ เป็นผลให้ตะกั่วกลับเข้าสู่กระแสเลือดด้วย 

๒.๗ ระบบสืบพันธุ์ ผู้ที่ได้รับตะกั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจพบอาการเป็นหมันได้ ทั้งชายและหญิง โดยเพศชาย จะมีจำนวนเชื้ออสุจิน้อย อ่อนแอ และมีลักษณะผิดปกติ ส่วนใหญ่เพศหญิงจะมีความผิดปกติของประจำเดือน รังไข่ทำงานผิดปกติ และแท้งได้ ๒.๘ ระบบอื่นๆ ทำให้เกิดความผิดปกติ ในการทำงานของต่อมไทรอยด์ และต่อมหมวกไตได้ นอกจากนี้ตะกั่วเป็นสารก่อมะเร็ง อาจทำให้เกิด มะเร็งที่ไต เนื้องอกที่ระบบทางเดินหายใจและระบบ ทางเดินอาหาร รวมทั้งเป็นสารก่อกลายพันธุ์ โดย ทำให้เกิดความผิดปกติของดีเอ็นเอได้

ผู้เสี่ยงต่อการได้รับพิษตะกั่วควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำ

 การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

๑. ระดับตะกั่วในเลือด บอกถึงการดูดซึมของตะกั่วในร่างกาย และภาวะสมดุลของตะกั่วในเลือด กระดูก และการขับถ่าย เทคนิคที่ใช้ คือ การตรวจวัดด้วยเครื่องอะตอมิกแอ็บซอปชัน (Atomic Absorption) 

๒. ระดับตะกั่วในปัสสาวะทั่วไป
และปัสสาวะหลังให้ยาแก้พิษ (Chelating agent) การมีระดับตะกั่วในปัสสาวะสูง เป็นข้อบ่งชี้ของการได้รับตะกั่วเข้าไปในร่างกาย ในระดับสูงที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการเก็บปัสสาวะ ๒๔ ชั่วโมง และปัสสาวะ หลังให้ยาแก้พิษ 

๓. ระดับตะกั่วในเนื้อเยื่อ (ฟัน ผม และเล็บ) การวัดระดับตะกั่วในเนื้อเยื่อ ใช้สำหรับการได้รับตะกั่วเป็นเวลานาน เป็นการเก็บตัวอย่างที่ง่าย โดยเฉพาะผม และเล็บ ส่วนฟันนั้นใช้ได้ดีในกรณีฟันน้ำนมของเด็ก 

๔. ระดับเอนไซม์ Aminolevulinic Acid Dehydrase (ALAD) ในเลือด ใช้ได้เช่นเดียวกับระดับตะกั่วในเลือด 

๕. ระดับเอนไซม์ Aminolevulinic Acid Dehydrase (ALAD) และ Coproporphyrin (CP) ในปัสสาวะ ระดับ d-Aminolevulinic Acid (ALA) และ CP ในปัสสาวะ จะชี้ให้เห็นการสัมผัสตะกั่วในระยะสั้นได้ดี และจะมีปริมาณลดลง เมื่องดการ สัมผัสตะกั่ว

๖. ระดับ Erythrocyte Photoporphyrin (EP) ระดับ EP ที่เพิ่มขึ้น แสดงความบกพร่องในการ สังเคราะห์ฮีม ซึ่งอาจเป็นผลจากเป็นพิษตะกั่ว หรือขาดธาตุเหล็ก 

๗. การตรวจทางโลหิตวิทยา ได้แก่ การ ตรวจเฮโมโกลบิน เบโซฟิลิค สติปปลิง (basophilic stippling) ซึ่งความผิดปกติทางโลหิตวิทยา จะช้ากว่า ALA และ CP ในปัสสาวะ

ในผู้ใหญ่ 

การวินิจฉัย 

๑. ประวัติการสัมผัสสารตะกั่ว ในรูปออกไซด์ ฝุ่นละออง โดยทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และทางผิวหนัง 

๒. มีอาการของพิษตะกั่วอนินทรีย์ ได้แก่ ซีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดศีรษะ วิงเวียน เบื่ออาหาร หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ มือและแขนอ่อนแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น มีอาการของพิษตะกั่วอินทรีย์ ได้แก่ มี อาการผิดปกติทางสมอง กระสับกระส่าย พูดมาก ขึ้น นอนไม่หลับ จิตใจฟุ้งซ่าน ซึม และหมดสติ 

๓. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

๓.๑ การตรวจทั่วไป โดยทำการตรวจนับเม็ดเลือด (Complete Blood Count) ใช้เป็นเครื่องชี้บ่งว่า น่าจะมีการเกิดโรคพิษตะกั่ว สมควรใช้การตรวจอื่น เพื่อยืนยันการวินิจฉัย 

๓.๒ การวินิจฉัย 
พิษตะกั่วอนินทรีย์ อาศัยการตรวจวิเคราะห์ระดับตะกั่วในเลือด เป็นการยืนยัน การวินิจฉัย 
พิษตะกั่วอินทรีย์ อาศัยการตรวจวิเคราะห์ระดับตะกั่วในปัสสาวะ เป็นการตรวจยืนยันการวินิจฉัย
การรักษา 

๑. การรักษาตามอาการ
ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ พร้อมกับแก้ไขสภาวะความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่ในสภาวะกรด 
รักษาอาการหมดสติ 
รักษาอาการสมองบวม อาการชัก 
อาการปวดท้องอย่างรุนแรง ในผู้ใหญ่ รักษาด้วย ๑๐% Calcium gluconate เข้าหลอดเลือด- ดำ ๑๐ มิลลิเมตร ถ้าไม่ดีขึ้นให้ซ้ำได้อีก ๑ ครั้ง ภาย หลัง ๑๕ นาที 
๒. รักษาเฉพาะ คือ การใช้ยาแก้พิษ เพื่อขับตะกั่วออกจากร่างกาย

๒.๑ ในผู้ป่วยพิษตะกั่วอนินทรีย์ใช้ยาแก้พิษ (Chelating agent) 
ชนิดรับประทาน ได้แก่ D- penicillamine ขนาด ๑๕-๒๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่อวันนาน ๑ วัน เป็นระยะๆ 
ชนิดฉีด ได้แก่ Calcium disodium edetate ขนาด ๗๕ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน นานไม่เกิน ๕ วัน ให้ผู้ป่วยหยุดพักจากงาน หรือพฤติกรรมที่ต้องสัมผัสสารตะกั่ว เช่น กรณีตรวจพบระดับตะกั่วในเลือดเท่ากับ ๖๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ให้การรักษาจนกระทั่งระดับตะกั่วในเลือดลดลงต่ำกว่า ๔๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จึงอนุญาตให้กลับเข้าทำงานเดิมได้ 
๒.๒ ในผู้ป่วยพิษตะกั่วอินทรีย์ ไม่มียาแก้พิษ ต้องรีบนำออกจากการสัมผัสโดยเร็ว

ในเด็ก 

การวินิจฉัย 

เราจะสงสัยโรคพิษตะกั่วในเด็ก เมื่อมีการชัก โดยไม่ทราบสาเหตุ ความประพฤติเปลี่ยนแปลง ปัญญาอ่อน การวินิจฉัยอาศัยการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการดังนี้ 

๑. ตรวจนับเม็ดเลือด 
๒. ตรวจระดับ ALA ในปัสสาวะ 
๓. การฉายภาพรังสีกระดูก 
๔. ระดับตะกั่วในเลือดมากกว่า ๒๕ ไมโครกรัมต่อกรัม 
๕. เส้นผมมีระดับตะกั่วมากกว่า ๘๐ ไมโครกรัม
๖. CaNa2EDTA provocation 

วิธีทำ CaNa2EDTA 

เจาะเลือด เพื่อหาระดับตะกั่ว หลังจากนั้นให้ถ่ายปัสสาวะทิ้ง แล้วให้ CaNa2 EDTA ๕๐๐ มิลลิกรัมต่อตารางเมตร ใน ๒๕๐ มิลลิลิตรต่อตารางเมตร ของ ๕% Dextrose โดยทางหลอดเลือดดำ ในเวลา ๑ ชั่วโมง จากนั้นเก็บปัสสาวะ ๘ ชั่วโมง หาระดับตะกั่ว นำมาหาอัตราส่วนการขับตะกั่ว (lead excreation ratio) ดังนี้
อัตรส่วนการขับตะกั่ว =    ปริมาณตะกั่วที่ถูกขับออกมา (ไมโครกรัม)
ปริมาณ CaNa2EDTA ที่ให้ (มิลลิกรัม)

ถ้า ratio น้อยกว่า ๐.๐๖ ยังไม่ต้องการการรักษา

การรักษา

๑. เด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดมากกว่า ๒๕ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ต้องได้รับการรักษา

๒. ก่อนใช้ยาแก้พิษ เพื่อขับตะกั่วออกจากร่างกาย (Chelation threapy) ต้องถ่ายภาพรังสีช่องท้องก่อน ถ้ามีตะกั่วในลำไส้ให้ถ่ายออกก่อน 

๓. เพิ่มการขับถ่ายปัสสาวะ โดยการให้สาร น้ำทางหลอดเลือดดำ 

๔. เริ่มให้ยาแก้พิษ (chelating agent) 

๕. ในเด็กที่ไม่มีอาการ และระดับตะกั่วในเลือดต่ำกว่า ๖๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร อาจใช้ Calcium EDTA เพียงอย่างเดียว 

๖. เมื่อรักษาจนระดับตะกั่วต่ำกว่า ๕๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร สามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้าน โดยให้อยู่แยกจากสิ่งแวดล้อมที่มีตะกั่วมาก และให้ D-penicillamine ๓๐-๔๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ ๒ ครั้ง เป็นเวลา ๓-๖ เดือน หรือจนกว่าระดับตะกั่วจะต่ำกว่า ๓๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ขนาดเต็มที่ของ D- penicillamine ต่อวัน คือ ๕๐๐-๗๐๐ มิลลิกรัม และรับประทานขณะท้องว่าง คือ ประมาณ ๙๐ นาที ก่อนรับประทานอาหาร

๗. รักษาอาการสมองบวม ด้วย ๒๐% Manitol ๕-๑๐ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ด้วยอัตรา ๑ มิลลิลิตรต่อนาที และระงับการชักด้วยการฉีด ไดอะซีแพม ๐.๑ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเข้าหลอดเลือดดำ 

๘. ในรายที่ปวดท้องอาจใช้ antispasmodic เช่น Atropine โรคพิษตะกั่ว นับเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้ ทั้งในกลุ่มคนงานที่ทำงานสัมผัสตะกั่ว ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและสตรีมีครรภ์ เนื่องจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม และสิ่งของบริโภคต่างๆ ทำให้เกิดการสะสมของตะกั่ว ในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคพิษตะกั่ว ดังนั้นการควบคุม และป้องกันโรคพิษตะกั่ว จึงเป็นสิ่งสำคัญ
 สามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑. กลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่ว โดยตรง 
๒. กลุ่มประชาชนทั่วไป 

การควบคุมและป้องกันในกลุ่มคนงานที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับตะกั่วโดยตรง

๑. ควบคุมกระบวนการผลิต เพื่อให้มีระดับตะกั่วในบรรยากาศการทำงานต่ำที่สุด และต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด การควบคุมประกอบด้วย 
ขบวนการผลิต ควรเป็นระบบปิดและอัตโนมัติ หรือแยกส่วนออกไปต่างหาก เพื่อให้มีการสัมผัสโดยตรงน้อยที่สุด 
มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ 
๒. การควบคุม และสภาวะการทำงาน ได้แก่ 
ลดระยะเวลาการสัมผัสสารตะกั่ว โดยสัมผัสเฉพาะเมื่อจำเป็น 
ผลัดเปลี่ยนหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะๆ 
จัดการเรื่องความสะอาดภายในโรงงาน เพื่อให้พื้นที่ในโรงงานปราศจากฝุ่นตะกั่ว 
ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ที่เหมาะสม เช่น หน้ากาก ถุงมือ
ไม่รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ ในขณะที่ร่างกายมีสารตะกั่วปนเปื้อน หรือในขณะทำงาน และก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ คนงานต้องทำความสะอาดร่างกายก่อนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ในอาหาร และเครื่องดื่ม หรือบุหรี่ 
๓. ให้ความรู้แก่คนงานเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วต่อสุขภาพอนามัย การควบคุม และป้องกัน การเกิดโรคพิษตะกั่ว การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ที่เหมาะสม 

๔. การเฝ้าระวังทางการแพทย์ โดยมีการตรวจร่างกายก่อนรับเข้าทำงาน และการตรวจร่างกายประจำปี 

๕. เฝ้าระวังด้านสภาวะแวดล้อมในการทำงาน โดยการตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วในบรรยากาศการทำงานเป็นประจำ เพื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารตะกั่ว ในบรรยากาศการทำงาน 

การตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วในบรรยากาศ การทำงานควรทำอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ต้องทำการตรวจวัดทุกครั้ง 

การควบคุมและป้องกันในกลุ่มประชากรทั่วไป 

ประชากรทั่วไปมีโอกาสเกิดโรคพิษตะกั่ว เนื่องจากสัมผัสสารตะกั่วที่ปนเปื้อน ในอาหาร น้ำดื่ม และในบรรยากาศรอบๆ ตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใส่สี ที่มีสารตะกั่ว เช่น ในขนมหวาน กุ้งแห้ง กะปิ กุนเชียง ฯลฯ การใช้พลาสติกภาชนะ บรรจุอาหารกระป๋อง หรือภาชนะเคลือบสีต่างๆ บรรจุอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู ทำให้ตะกั่ว ที่เป็นส่วนประกอบของสีในภาชนะบรรจุ มีโอกาสละลายปนออกมากับอาหาร การปล่อยน้ำทิ้งที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ การกำจัดกากของเสีย หรือกากตะกอนที่มีตะกั่ว ซึ่งจะไปสะสมอยู่ในวงจรอาหาร การควบคุม และป้องกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดย

๑. เปลี่ยนการใช้น้ำมันเบนซินมาเป็นชนิดไร้สารตะกั่ว 

๒. ควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้มีปริมาณสารตะกั่วในน้ำทิ้งจากโรงงานไม่มากกว่า ๐.๒ มิลลิกรัมต่อลิตร และกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำทิ้ง ต้องมีการทำลายอย่างถูกหลักวิชาการ 

๓. ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษตะกั่ว และการป้องกัน 

๔. ควบคุมไม่ให้มีการใช้สารประกอบตะกั่ว ในการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอาง 

๕. ใช้วัสดุ หรือสารอื่นทดแทนสารตะกั่ว เช่น ใช้ท่อพีวีซี (PVC) แทนท่อตะกั่ว หรือท่อโลหะอาบตะกั่ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow