Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คำนิยาม

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
876 Views

  Favorite

คำนิยาม 

ฝนหลวง เป็นกรรมวิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงคิดค้นขึ้นมา พระราชทานให้ใช้เทคโนโลยี ในการทำให้เกิดฝน ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในการดัดแปรสภาพอากาศที่กระทำโดยความตั้งใจของมนุษย์ ซึ่งมีการวางแผนหวังผล ให้เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่กำหนด แผ่เป็นบริเวณกว้าง มีวันฝนตกถี่ และปริมาณฝนมากยิ่งขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

กรรมวิธีฝนหลวง

ปัจจุบันใช้กรรมวิธีที่ใช้เครื่องบินในการดัดแปรสภาพอากาศ (Weather modification) ให้เกิดฝน ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ

ขั้นที่ ๑ ก่อกวน (Triggering) 

เป็นการดัดแปรสภาพอากาศ ด้วยการก่อกวนสมดุล (Equilibrium) หรือเสถียรภาพ (Stability) ของมวลอากาศเป็นแห่งๆ โดยการโปรยสารเคมีประเภทดูดซับความชื้น แล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น (Exotyhermic chemicals) ในท้องฟ้าที่ระดับใกล้เคียงกับระดับกลั่นตัว เนื่องจากการไหลพาความร้อนในแนวตั้ง (Convective condensation Level) ซึ่งเป็นระดับฐานเมฆของแต่ละวัน และโปรยสารเคมี ประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้ว ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง (Endothermic chemicals) ที่ระดับสูงกว่าระดับฐานเมฆ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ฟุต ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกิดเมฆเร็วขึ้น และปริมาณมากกว่าที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเริ่มก่อกวนในช่วงเวลาเช้าทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย หวังผลที่วางแผนกำหนดไว้ในแต่ละวัน

    การโปรยสารเคมีประเภทดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในขั้นก่อกวน

ขั้นที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วน (Fatten) 

เป็นการดัดแปรสภาพอากาศ และก้อนเมฆ ด้วยการกระตุ้น หรือเร่งการเจริญเติบโตของก้อนเมฆที่ก่อตัวแล้ว ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทางฐานเมฆ และยอดเมฆขนาดหยดน้ำใหญ่ขึ้น และปริมาณน้ำ ในก้อนเมฆมากขึ้น และหนาแน่นเร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเองตามธรรมชาติ ด้วยการโปรยสารเคมี ประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้ว ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง ที่ระดับฐานเมฆ หรือทับยอดเมฆ หรือระหว่างฐาน และยอดเมฆ โดยบินโปรยสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆโดยตรง หรือโปรยรอบๆ และระหว่างช่องว่างของก้อนเมฆทางด้านเหนือลม ให้กระแสลมพัดพาสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆ หรือโปรยสารเคมีสูตรร้อนสลับสูตรเย็น ในอัตราส่วน ๑:๔ ทับยอดเมฆ ทั่วบริเวณที่เกิดสภาพเมฆที่มีความหนา ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ฟุต ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง หรือที่บริเวณพื้นที่ใต้ลมของบริเวณที่เริ่มต้นก่อกวน ทั้งนี้สุดแล้วแต่สภาพของเครื่องบิน ภูมิประเทศ และอากาศขณะนั้นจะอำนวยให้ 

การโปรยสารเคมีประเภทดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิต่ำลง
ในขั้นเลี้ยงให้อ้วน


ขั้นที่ ๓ โจมตี (Attack) 

เป็นการดัดแปรสภาพอากาศในก้อนเมฆ โดยตรง หรือบริเวณใต้ฐานเมฆ หรือบริเวณที่ต้องการชักนำเมฆฝนที่ตกอยู่แล้ว เคลื่อนเข้าสู่ เป็นการบังคับ หรือเหนี่ยวนำให้เมฆที่แก่ตัวจัดแล้ว ตกเป็นฝนลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผล ที่วางแผนกำหนดไว้ โดยบินโปรยสารเคมี ประเภทที่ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง เข้าไปในเมฆโดยตรง ที่ฐานเมฆ หรือยอดเมฆ หรือที่ระดับระหว่างฐานเมฆ และยอดเมฆชิดขอบเมฆทางด้านเหนือลม หรือใช้เครื่องบิน ๒ เครื่อง โปรยพร้อมกันแบบแซนด์วิตช์ (Sandwitch) เครื่องหนึ่งโปรยที่ฐานเมฆด้านใต้ลม อีกเครื่องหนึ่งโปรยด้านเหนือลมชิดขอบเมฆที่ระดับยอด หรือไหล่เมฆ เครื่องบินทั้งสองทำมุมเยื้องกัน ๔๕ องศา หรือสารเคมีเย็นจัดที่ระดับต่ำกว่าฐานเมฆ ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ฟุต หรือสร้างจุดเย็น ด้วยสารเคมีเย็นจัด เป็นบริเวณแคบ ในบริเวณพื้นที่เป้าหมายหวังผล เพื่อเหนี่ยวนำให้ฝนที่กำลังตกอยู่ เคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่ต้องการนั้น

    การโปรยสารเคมีที่ทำให้อุณหภูมิต่ำลงในขั้นโจมตี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow