Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเภทของพายุ

Posted By Plook Creator | 24 ธ.ค. 60
217,318 Views

  Favorite

นักอุตุนิยมวิทยา รวมถึงนักข่าวใช้ศัพท์เฉพาะทางเพื่อเรียกลมหมุน หรือพายุชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามแต่ภูมิภาคของโลก ซึ่งทำให้เราสับสนกับคัพท์อย่างพายุ ไต้ฝุ่น ไซโคลน ดีเปรสชัน จนเหนื่อยกับการแยกแยะว่ามันคืออะไรกันแน่ นอกจากรับรู้ว่ามันเป็นพายุ

 

นักอุตุนิยมวิทยาเรียกชื่อพายุตามการกำเนิดของมัน แม้ว่าพายุโดยทั่วไปจะหมายถึง อากาศที่ไม่ดี ลมแรงจัด แต่อันที่จริงมันยังหมายรวมถึงลมที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง มันเริ่มต้นมาจากอากาศ 2 บริเวณที่อยู่ติดกันซึ่งมีความแตกต่างของอุณหภูมิอย่างมาก ซึ่งความแตกต่างนี้จะทำให้อากาศบริเวณหนึ่งซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า ลอยตัวขึ้นสู่ด้านบนอย่างรวดเร็ว และทำให้อากาศในอีกบริเวณซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าไหลเข้ามาแทนที่ในแนวราบ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการหมุนของอากาศจนกลายเป็นพายุ

ภาพ : Shutterstock


พายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)

เกิดขึ้นในบริเวณที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง โดยปกติแล้วจะเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตร พายุที่ประเทศไทยมักพบก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยจะมาในรูปแบบของลมแรง ฝนตกหนักและติดต่อกันยาวนานมากกว่า แต่ไม่ได้มีพายุลมหมุนให้เห็นชัดเจน


กลุ่มที่ 2 พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)

เป็นพายุที่มีลมหมุนให้เห็นได้ โดยเกิดขึ้นในแถบเส้นศูนย์สูตรเช่นกัน ซึ่งเริ่มเกิดเมื่อมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส พายุในกลุ่มนี้จะก่อตัวเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่กินวงกว้าง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 100 กิโลเมตรขึ้นไป ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทิศทางการหมุนวนของพายุ หากพายุเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะหมุนวนทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรหรือซีกโลกใต้ จะหมุนวนตามเข็มนาฬิกา

 

พายุหมุนเขตร้อนสามารถแบ่งย่อยตามความรุนแรงได้เป็น
     - ดีเปรสชั่น (Tropical Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุดในบรรดาพายุหมุนเขตร้อนด้วยกัน คือ มีความเร็วลมสุงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลุ่มเมฆหมุนวนเป็นวงกลม แต่ไม่เป็นเกลียว และไม่มีตาพายุชัดเจน ลมไม่แรงพอจะพังบ้านเรือน แต่ฝนอาจตกหนักติดต่อกันจนน้ำท่วมได้      

     - พายุโซนร้อน ( Tropical Storm) เมื่อพายุซึ่งเกิดขึ้นในทะเลเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง และพบกับความกดอากาศที่แตกต่างกว่าเดิม จะทำให้ความเร็วลมเพิ่มขึ้น ลมกรรโชกแรงพอที่จะพังบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ ทำให้มีฝนตกหนักมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น พายุโซนร้อน ซึ่งจะมีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเริ่มเห็นเกลียวแขนของพายุบ้างแล้ว

     - ไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือเฮอริเคน (Hurricane) หากพายุโซนร้อนมีความเร็วลมเพิ่มขึ้นสูงกว่า  118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป มีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณศูนย์กลางตาพายุจะฟ้าโปร่ง อาจมีเพียงฝนปรอย ลมสงบ ขัดต่อสภาพรอบนอกของตาพายุ ความรุนแรงก็เพิ่มระดับไปสู่ขั้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง น้ำท่วมฉับพลันทันที บ้านเรืองปลิวหรือพังถล่มเสียหาย รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือได้ด้วย กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า ไต้ฝุ่นหรือเฮอริเคน

 

โดยปกติแล้วประเทศไทยมักจะพบเพียงแค่ดีเปรสชัน  เนื่องจากพายุมักเกิดที่มหาสมุทรแปซิฟิก และกว่าจะเคลื่อนตัวมาถึงเขตประเทศไทยก็อ่อนกำลังลงไปมากแล้ว พายุหมุนเขตร้อนยังมีชื่อเรียกที่ปรับเปลี่ยนไปตามภาษาถิ่นของพื้นที่ที่เกิดด้วย
     หากพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะเรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon)
     หากเกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย อ่าวเบงกอล หรือทะเลอาหรับ จะถูกเรียกว่า ไซโคลน (Cyclone)
     หากเกิดบริเวณมหาสมุทรรอบ ๆ ออสเตรเลีย บริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ จะเรียกว่า วิลลี-วิลลี (Willy-Willy)
     หากเกิดใกล้หมู่เกาะฟิลิปปินส์จะถูกเรียกว่า บาเกียว (Baguio)
     หากเกิดบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก หรือบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ จะเรียกว่า เฮอริเคน (Hurricane)


กลุ่มที่ 3 พายุทอร์นาโด (Tornado)

เกิดจากการปะทะกันของลมร้อนและลมเย็น โดยปกติแล้วมักพบมากในแผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากมีความแตกต่างกันของสภาพอากาศค่อนข้างมาก และกว่า 90% ของพายุกลุ่มนี้เกิดขึ้นบนบก ลักษณะของพายุจะมีเกลียวงวงช้างเห็นได้ชัดเจน และมีลมดูดยกเอาสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มากนักให้ลอยขึ้นได้ การก่อตัวของพายุกลุ่มนี้จะรวดเร็ว คาดเดาไม่ได้ และคงตัวอยู่ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะสลายตัวไปเมื่ออุณหภูมิของอากาศเริ่มใกล้เคียงกัน แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและความไม่แน่นอนของเวลาและสถานที่ที่จะเกิด ทำให้มันเป็นกลุ่มพายุที่อันตรายมากที่สุด ซึ่งพายุชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในนิทานเรื่องพ่อมดออสด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
     - การตั้งชื่อพายุ
     - เกร็ดความรู้เรื่องพายุ
     - สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย
     - การเกิดของพายุฟ้าคะนอง
     - ปรากฏการณ์ของอากาศ
     - พายุและฝนในประเทศไทย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow