Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จิตเวชเด็ก

Posted By Plookpedia | 19 ธ.ค. 59
2,621 Views

  Favorite

จิตเวชเด็ก

เมื่อเด็กเจ็บป่วย พ่อแม่จะพาไปหากุมารแพทย์ หรือแพทย์ประจำครอบครัว เมื่อแพทย์ตรวจแล้วเห็นว่า เด็กควรได้รับการรักษา จากจิตแพทย์เด็ก ก็จะแนะนำหรือส่งต่อจิตแพทย์เด็ก ความผิดปกติทางจิตเวชในเด็ก มีสาเหตุจากปัจจัย ๒ ประการ คือ 

๑. โครงสร้างของเด็กเอง เมื่อเด็กคลอดออกมา ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น บางคนหงุดหงิด บางคนร้องบ่อย บางคนนอนสงบ บางคนมีเชาวน์ ปัญญาดี บางคนมีความกังวล โดยเฉพาะเด็กหญิง สำหรับเด็กชายมักมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวสูงกว่า

๒. สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก

๒.๑ ท่าทีของพ่อแม่ต่อเด็ก อาจไม่รักเด็ก ถ้าเด็กที่เกิดมาพิการ หรือปกป้องคุ้มครองตามใจมาก เกินไป 

๒.๒ ลำดับการเกิดของเด็ก ถ้าเป็นลูก คนแรก แม่อาจกังวลในการเลี้ยงมากกว่าลูกคนรองๆ ลงมา ลูกคนกลางอาจได้รับการเอาใจใส่น้อยลง ลูกคนสุดท้องอาจได้รับความทะนุถนอมและตามใจมาก จนทำให้เด็กไม่รู้จักช่วยตัวเอง และมักถือตนเองเป็นใหญ่ 

๒.๓ เหตุการณ์อื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศทางอารมณ์ในครอบครัว เช่น ความยากจน การหย่าร้าง การมีลูกมากเกินไป ทำให้เด็กขาดความรักความใจใส่ ไม่ได้รับการสนองตอบความ ต้องการที่จำเป็น ขาดปัจจัยต่างๆ ในการช่วยให้เรียนรู้

ท่าทีของพ่อแม่ที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก

ลักษณะท่าที หรือเจตคติ (attitude) ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ๒ ประการ คือ 

๑. การไม่รักหรือรังเกียจ (refection) 
๒. การรักและปกป้องคุ้มครองเด็กมากเกินไป (overaffection and overprotection)

การที่พ่อแม่จะมีท่าทีต่อลูกของตนอย่างไรนั้น ส่วนมากจะเป็นไปในจิตไร้สำนึก โดยที่มิได้มีเจตนา หรือโดยไม่รู้ตัว ท่าทีที่พ่อแม่แสดงต่อลูก ได้แก่

๑. ทอดทิ้ง กระทำทารุณ หรือประณามอย่างไม่สมควร เช่น เด็กไม่ยอมให้ของเล่นแก่น้อง แม่จะว่าเด็กว่า เป็น "เด็กเลว เห็นแก่ตัว" เด็กจะรู้สึกว่า การที่เขาปกป้องสิทธิของเขานั้นเป็นความชั่ว เด็กจะมีพฤติกรรม เมื่อโตขึ้น คือ เป็นคนที่ยอมคนอื่นไปหมด หรืออาจประพฤติชั่วเห็นแก่ตัว ตามแบบที่พ่อแม่ลั่นวาจาไว้กับเด็กบ่อยๆ 

๒. เข้มงวด ดุ ลงโทษเสมอๆ ลูกจะเป็นคนขี้กลัว กังวล มีปมด้อย ยอมให้คนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรักที่ไม่เคยได้รับ ขาดความมั่นคงทางใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หรือมีพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามคือ ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร ต่อบุคคลอื่น และไม่ยอมลงใคร เมื่อโตขึ้น 

๓. แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพี่น้อง เด็กที่รู้สึกว่า พ่อแม่ไม่รัก มักจะกังวล อารมณ์หวั่นไหว สมาธิเสื่อม เป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชังคนอื่น 

๔. แสดงความห่วงใย และตามใจเกินขอบเขต วุ่นวาย ปรนนิบัติ คอยระมัดระวังเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รับผิดชอบตนเองเท่าที่ควร บุคลิกภาพไม่เจริญสมวัย หรือมีวุฒิภาวะต่ำ 

๕. แสดงความโอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไป อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนเปราะ ไม่มีความอดทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิต โรคประสาทได้พอๆ กับเด็กที่ขาดความรัก เพราะชีวิตจริงนอกบ้าน ทุกคนจะต้องพบความผิดหวัง และความคับข้องใจบ้างเป็น ธรรมดา ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นความทะเยอทะยาน และช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้แข็งแกร่ง นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่จะช่วยสร้างบุคลิกภาพให้สมบูรณ์ และสุขภาพจิตที่ดีให้แก่เด็กก็คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้าพ่อแม่รักใคร่ยกย่องนับถือซึ่งกันและกัน และทั้งพ่อแม่ต่างก็รักลูก เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และมีความสุข ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ และแสดงความไม่รักกัน ลูกก็จะขาดความมั่นคงทางใจ ขาดความ อบอุ่น หรืออาจจะทำอะไรแผลงๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ

ความผิดปกติทางจิตเวชเด็ก

องค์การอนามัยโลกได้จำแนกความผิดปกติทางจิตเวชเด็กไว้ดังนี้ 

๑. ความประพฤติแปรปรวน จะมีพฤติกรรมในทางก้าวร้าว ทำลายข้าวของ วิวาทชกต่อย พูดปด ลักขโมย เป็นต้น

๒. อารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น แสดงออกด้วยความกังวลมากเกินไป ขี้อาย แยกตัว อิจฉาพี่น้อง กลัวโรงเรียน เป็นต้น

๓. อารมณ์เคลื่อนไหวมากผิดปกติ ขาดการยับยั้งควบคุม สนใจสิ่งต่างๆ ชั่วครั้งคราว อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ก้าวร้าว โผงผาง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ดี

๔. พัฒนาการล่าช้าเฉพาะด้าน เนื่องจากปัจจัยทางชีวะร่วมกับทางอารมณ์ เช่น มีพัฒนาการล่าช้าในการอ่าน ในการคำนวณ เป็นต้น

๕. ความผิดปกติทางสรีรวิทยา เนื่องจากสาเหตุทางจิตใจ อาการของความผิดปกติอาจเกิดขึ้นในระบบใดระบบหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งระบบก็ได้ ที่พบบ่อยๆ คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะแสดงออกด้วยการหอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด จะแสดงออกด้วยการเป็นลมหน้ามืด ใจสั่น เวียนศีรษะ ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบผิวหนัง จะมีอาการเป็นผื่น เป็นลมพิษ ความผิดปกติเกียวกับระบบขับถ่าย และอวัยวะสืบพันธุ์ จะมีการถ่ายปัสสาวะบ่อย และการปวดรอบเดือน ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท และกล้ามเนื้อ จะมีอาการกระตุก ปวดศีรษะ และเจ็บปวดตามที่ต่างๆ ที่พบบ่อยมากคือ อาการหายใจเกิน คือ มีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจเร็ว หอบลึก ชาตามริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้า มือเกร็งหงิกงอ วิงเวียนอ่อนเพลีย มีท่าทางสีหน้าวิตก หวาดกลัว มักพบร่วมกับโรคประสาทชนิดกังวลแบบเฉียบพลัน

๖. โรคประสาทในเด็ก มักจะมีอาการคละปนกันแบบผสม คือ อาการเศร้าแฝงก้าวร้าว ดื้อดึง ต่อต้าน หงุดหงิด มีพฤติกรรมในทางทำลายตนเอง เช่น มักทำอะไรเสี่ยงต่ออันตราย หรือทำให้ตนเองต้องเจ็บปวด เป็นต้น

ครอบครัวอบอุ่น พร้อมหน้าพ่อแม่ลูก

   เด็กที่แม่เลี้ยงมาอย่างทะนุถนอมเกินไป เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียน เกิดความกังวลต่อการแยก หรือการจาก ทำให้เกิดอาการกลัวไม่อยากไปโรงเรียน อาจเกิดอาการตั้งแต่วันแรก หรือหลังเข้าเรียนนานแล้วก็ได้ คือ แสดงอาการปวดศีรษะ ปวดหลัง อาเจียน แน่นหน้าอกตอนเช้า หรือภายหลังไปถึงโรงเรียนสักพัก เมื่อครูส่งกลับบ้าน อาการจะหายไป วิธีที่ครูควรปฏิบัติ คือ ไม่ส่งเด็กกลับบ้าน แต่ให้ความใกล้ชิดเด็กมากขึ้น หาทางให้เด็กสนใจเรื่องอื่น เพราะถ้าพ่อแม่และครูให้เด็กหยุดเรียนนาน จะยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น จะยิ่งเรียนไม่ทัน และห่างเหินครูและเพื่อนๆ มากขึ้น
๗. โรคจิตใจเด็ก มีหลายชนิด เช่น ก่อนอายุ ๓ ปี ดูเสมือนเลี้ยงง่าย ไม่ กวน ไม่สนใจใคร ไม่พูด หรือพูดคำแปลกๆ พูด ลอยๆ แต่ถ้าถูกรบกวน เช่น ไปเปลี่ยนที่ของที่วาง ไว้ เขาจะแสดงอารมณ์โกรธรุนแรง และแสดงพฤติกรรมแปลกๆ
หลังอายุ ๑๘ เดือน - ๓ ปี ติดพี่เลี้ยงหรือผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งมากผิดปกติ ถ้าผู้ที่เขาติด จากไปไหน เด็กจะอาละวาดมาก และอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ และขณะเดียวกัน เด็กจะบังคับหรือกระทำการใดๆ กับผู้ที่เขาติดนั้น และถ้าไม่พอใจจะทุบ หยิก ข่วน กัด    

การได้เข้ากลุ่มเล่นสนุกกัน ทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี


อายุ ๓ - ๔ ปีขึ้นไป จะแยกตัวไม่พูดกับใคร หรือพูดมากด้วยภาษาแปลก ที่ไม่มีใครฟังเข้าใจ บางทีมีสีหน้าอารมณ์เฉย หัวเราะคนเดียว หลงผิดว่า ตนเป็นผู้มีอภินิหาร กระโดดลงมาจากหน้าต่าง

เริ่มวัยรุ่น จะพบอาการโรคจิตทางอารมณ์เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ 

๘. อาการสมองพิการและพฤติกรรมแปรปรวน เด็กที่เกิดความพิการทางสมองตั้งแต่คลอด หรือเมื่อกำลังเจริญวัยจนถึงวัยรุ่น ถ้าเกิดสมองอักเสบ หรือเป็นโรคลมชัก หรือสมองเสื่อมจากพิษสารเคมีที่ทำลายเซลล์ของสมอง จะมีอารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เคลื่อนไหวซุกซนมากผิดปกติ อยู่ไม่สุข ทำลายของ ขาดสมาธิ อารมณ์ผันแปรง่าย โต้ตอบโผงผาง เด็กเหล่านี้จะเรียนหนังสืออย่างปกติ ไม่ได้ เพราะมีภาวะที่เรียกว่า ปัญญาอ่อน และอารมณ์ที่ผิดปกติ จะทำให้การเข้าใจภาษาบกพร่อง เข้ากับใครไม่ ได้ จึงมักไม่มีเพื่อน

การช่วยเหลือเด็กที่มีความผิดปกติทางจิตเวช 

๑. จิตแพทย์จะขอความร่วมมือจากพ่อแม่ ครู และบุคคลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กโดยการชี้แจง ให้ความรู้ให้ความมั่นใจ และช่วยให้เข้าใจ พฤติกรรมในกระบวนการจิตไร้สำนึก เพื่อให้มีท่าทีควร ปฏิบัติต่อเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีต่อเด็กและครอบ ครัวของเด็กเอง 

๒. จิตแพทย์จะช่วยเหลือให้เด็กได้ถ่ายทอด ความรู้สึกนึกคิด และความขัดแย้งทางใจภายใน โดย ผ่านการรักษาแบบต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสม 

๓. จิตแพทย์จะใช้ยาสำหรับบางโรค และ บางคนที่จำเป็น และมีบางรายที่จำเป็นต้องรับไว้รักษา ในโรงพยาบาล 

ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก 

๑. ในวัยเด็กเล็ก จะมีปัญหาเกี่ยวกับ การกิน การนอน การขับถ่าย
๒. ในวัยก่อนเข้าเรียน จะมีปัญหาเกี่ยวกับ พฤติกรรมบางอย่าง เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ เล่นอวัยวะเพศ เป็นคนเจ้าอารมณ์ 
๓. ในวัยเรียน จะมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด การเรียน ปัสสาวะรดที่นอน ละเมอเดิน

ปัญหา สาเหตุ และวิธีแก้ไข เกี่ยวกับการพูด การถ่าย และการนอน 

อาการ เบื่ออาหาร เบื่อนม 
สาเหตุ เหนื่อยมาก ทุเลาจากความเจ็บป่วย เกิดอารมณ์ตื่นเต้น กลัว โกรธ ถูกดุ ถูกลงโทษระหว่างกินอาหาร 
วิธีแก้ไข ท่าทีของผู้ใหญ่ ทำให้บรรยากาศระหว่างการกินอาหารคลายความตึงเครียด เด็กจะกินอาหารได้เป็นปกติ 

อาการ อาเจียน 
สาเหตุ เกิดอารมณ์ และความเครียดทางใจที่เด็กทนไม่ได้ กลัวโรงเรียน 
วิธีแก้ไข แพทย์ตรวจอาการทางกายว่า ลำไส้ถูกอุดกั้น หรือมีเนื้องอกในสมองหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ต้องไแก้ไขทางจิตเวช 

อาการ ขับถ่ายเรี่ยราด ท้องผูกเป็นประจำ 
สาเหตุ ถูกจับนั่งถ่ายในขณะที่กล้ามเนื้อยัง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ การมีแผลบริเวณอวัยวะขับถ่าย มีการย้ายที่อยู่อาศัย มีปฏิกิริยาต่อการมีน้องใหม่ ทำให้กังวล 
วิธีแก้ไข โดยการปฎิบัติที่เหมาะสมของพ่อแม่ บางครั้งแพทย์จะช่วยด้วยการให้ยาระบายอย่างอ่อนๆ เฉพาะช่วงสั้น 

อาการ ปัสสาวะรดที่นอน 
สาเหตุ ส่วนมากเกิดจากอารมณ์ และจิตใจที่ตึงเครียด เนื่องจากถูกดุ ถูกลงโทษบ่อยๆ ส่วนน้อยเกิดจากสาเหตุทางร่างกาย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคเบาหวาน และโรคลมชัก เป็นต้น 
วิธีแก้ไข ผู้ใหญ่ช่วยตั้งนาฬิกาปลุกเวลากลางคืนให้ลุกขับถ่ายปัสสาวะ ผู้ใหญ่และแพทย์ร่วมมือกันค้นหาปัญหาทางอารมณ์ของเด็ก แพทย์ใช้ยาบางอย่างช่วย 

อาการ ตื่นบ่อยๆ กลางคืน นอนละเมอ ละเมอกลัว เดินละเมอ 
สาเหตุ กังวล เจ็บป่วยทางกาย ขาดความรัก กลัวถูกลงโทษ มีการจากหรือการตายของสมาชิกในครอบครัว ได้ยิน ได้เห็นเรื่องตื่นเต้นตกใจ สิ่งแวดล้อมตึงเครียด ท่าทีของผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่เหมาะสม 
วิธีแก้ไข แก้ไขท่าทีของผู้ใหญ่ในครอบครัว ถ้ามีอาการอื่นของโรคประสาท หรือโรคจิตร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์

ปัญหานิสัยแปรปรวน 

๑. การส่ายศีรษะ โยกตัว เขย่าตัวพบ ในวัยเด็ก ๓-๔ เดือนขึ้นไป อาการมักหายไปเมื่อวัย ๒ ๑/๒ - ๓ ปี พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อาการ เกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์โกรธ หรือถูกขัดใจ อาจพบในเด็กปัญญาอ่อน เด็กตาบอด หรือถูกทอดทิ้ง

หนังสือและเครื่องเล่น สิ่งที่ช่วยพัฒนาจิตใจของเด็ก

    การช่วยเหลือ บางรายแพทย์ใช้ยาช่วย ชั่วคราว และควรหาสาเหตุที่กระเทือนใจเด็ก ให้ความ สนใจ และเล่นกับเขามากขึ้น หาทางให้เขาโยกตัว และเคลื่อนไหวอย่างมีความหมาย เช่น เปิดดนตรีให้เข้าจังหวะเต้นรำ หรือเล่นชิงช้า เป็นต้น
๒. การดูดนิ้ว มักเกิดเวลาง่วงหรือดูอะไรเพลินๆ บางครั้งดึงหู ไชหู จับผ้าอ้อมผ้าห่ม ฯลฯ นอกจากนี้อาจเกิดเวลาอารมณ์เครียด โกรธ เสียใจ ผิดหวัง การลงโทษด้วยการทาบอระเพ็ด หรือเอาผ้าพันนิ้ว ล้วนเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง อาจช่วยเหลือ โดยหาสิ่งอื่นมาทดแทนให้จับ หรือหาทางช่วย 

๓. การกัดเล็บ พบมากในวัยรุ่น มักเกิด จากความเครียดทางอารมณ์ ควรช่วยเหลือ โดยลดบรรยากาศตึงเครียดในครอบครัว ตัดแต่งเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ให้กำลังใจเด็ก หรือหาสิ่งอื่นมาทดแทน เมื่อจำเป็น เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง เป็นต้น 

๔. การแสดงอารมณ์รุนแรง เมื่อถูกขัดใจ หรือไม่สมหวัง พบในเด็กอายุ ๒ - ๓ ๑/๒ ปี เมื่อต้องการให้แม่ซื้อของเล่น แล้วไม่ได้อย่างใจ เด็กจะกรีดร้องเสียงดัง ทุ่มตัวนอนดิ้น บางคนขว้างปา ทุบตีคน หรือวัตถุ วิธีแก้ไข ผู้ใหญ่ควรมีทีท่าที่สงบ และไม่ให้อะไรแก่เด็ก ไม่ดุไม่ลงโทษ เมื่อเด็กสงบแล้ว อธิบายให้เด็กเข้าใจ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ต้องสำรวจตัวเองว่า ไม่ได้แสดงความโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ให้เป็นตัวอย่าง แก่เด็ก และไม่ตามใจ หรือเข้มงวดแก่เด็กเกินไป

๕. หายใจดั้น เด็กอายุเกิน ๖ เดือนขึ้นไป จนถึง ๓-๔ ปี อาจมีอาการร้องแล้วกลั้นหายใจนิ่งเงียบ จนหน้าเขียว ตัวเกร็ง กระตุก สักพักหนึ่ง แล้วจึงร้องดังต่อไป ผู้ใหญ่ควรช่วยเหลือ โดยไม่ตกใจ หรือกังวล ตบตามตัวเด็ก ใช้น้ำแข็งแตะ จับตัวเขย่า เมื่อเด็กหายใจได้ก็ปลอดภัย ผู้ใหญ่ไม่ควรให้สิ่งที่เด็กต้องการ เมื่อเด็กใช้วิธีนี้

๖. การดึงหรือถอนผมและขน พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย เกิดในวัย ๒-๓ ปี จนถึงวัยรุ่น ส่วนมากเกิดอาการ เมื่อมีความตึงเครียดทางอารมณ์ หรือเวลาที่เพลินไม่รู้ตัว ส่วนมากพบว่า มีปัญหาในครอบครัว ช่วยเหลือโดยการปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัว และแก้ไขท่าทีต่อเด็ก หรืออาจตัดผมให้สั้น เพื่อดึงยาก ควรตรวจว่า ไม่มีโรคผิวหนัง หรือโรคของรากผม ส่วนแพทย์อาจใช้ยาสงบประสาทช่วย 

๗. การเขม่น หรือกระตุกที่กล้ามเนื้อบริเวณ ใบหน้า ลำคอ ไหล่ แขน เช่น ขยิบตา กระแอม ยักไหล่ ทำจมูกฟุดฟิด พบในเด็กชายมากกว่า เด็กหญิง ในวัยระหว่าง ๘-๑๒ ปี สาเหตุเนื่องจากความตึงเครียดทางอารมณ์ มักเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบสูง ตื่นเต้นตกใจง่าย เจ้าอารมณ์ ซุกซน หรือชอบล้อเลียนผู้อื่น จนติดนิสัย ส่วนมากอาการไม่รุนแรง จะหายได้เอง 

๘. การพูดติดอ่าง เนื่องจากไม่สามารถใช้ คำพูด และคำศัพท์ต่างๆ ได้ทันใจคิด บางครั้งเป็นผลมาจากการล้อเลียน การถูกลงโทษ หรือการตกใจ อย่างรุนแรง อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการ กลัว อาเจียน ฯลฯ ช่วยเหลือได้โดยไม่คอยจับผิด การพูด ไม่ดุ หรือลงโทษ เพราะจะทำให้ตึงเครียดยิ่งขึ้น ช่วยสอนคำศัพท์เพิ่มเติมให้ เด็กโตควรช่วยด้านจิตบำบัด ฝึกพูด บริหารกล้ามเนื้อ เช่น ร้องเพลง ว่ายน้ำร่วมด้วย ร้อยละ ๘๐ ของเด็กติดอ่างจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนไม่ดี

ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนไม่ดี อาจมีสาเหตุหลายอย่างคือ 

๑. สุขภาพทางกายไม่ดี เป็นโรคบางอย่าง เช่น โลหิตจาง สายตาผิดปกติ หูตึง ต่อมทอนซิล อักเสบบ่อยๆ ทำให้เด็กขาดเรียน อ่อนเพลีย ง่วงเหงา และการรับรู้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น

การบริหารกล้ามเนื้อ ด้วยการฝึกให้เด็กว่ายน้ำ ช่วยแก้ปัญหาการพูดติดอ่าง

   ๒. โครงสร้างเฉพาะตัวแตกต่างกัน เด็กบางคนเรียนรู้ได้เร็ว และรับได้มาก บางคนเรียนรู้ช้า และรับได้น้อย บางคนไม่ถนัดทางคำนวณ แต่มีความไวทางภาษา บางคนมีความสามารถพิเศษทางศิลปะ ดนตรี บางคนมีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าปกติ
๓. สภาพแวดล้อม จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาสูง และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเสริมประสบการณ์ จะฉลาดกว่าเด็กพวกตรงกันข้ามไม่มากก็น้อย 

 

   การจัดหาอุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวก
ในการศึกษา ช่วยส่งเสริมการศึกษาของเด็ก

๔. ความผิดปกติบางอย่างของสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในการเรียนรู้ มักมีปัญหาในการอ่าน การเขียน หรือการพูด พ่อแม่ให้ความช่วยเหลือได้ โดยให้เด็กได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ครูช่วยเหลือได้ โดยการฝึกให้เด็กอ่านและเขียน

วิธีการช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริม การศึกษาของเด็ก 

๑. จัดหาอุปกรณ์ และเครื่องอำนวยความสะดวกในการศึกษาตามควรแก่ฐานะของพ่อแม่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ตู้ ชั้นเก็บหนังสือ เครื่อง เล่น เพื่อการศึกษา หนังสือที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน นอกจากตำรา เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และการใฝ่หาความรู้ 
๒. พาไปทัศนาจรสถานที่ต่างๆ ร่วมงานสังคมตามโอกาสและวัยอันสมควร เพื่อเพิ่มความรู้ ประสบการณ์ เพื่อฝึกการปรับตัวเข้ากับสังคมได้    

การพาเด็กไปทัศนศึกษาช่วยฝึกการปรับตัวให้เข้ากับหมู่คณะและสังคม


๓. ให้กำลังใจในการเรียนด้วยการแสดงความสนใจ เมื่อเรียนดีก็ยกย่องชมเชย หรือให้รางวัล เมื่อพลาดควรปรึกษากับครู หาสาเหตุ และทางแก้ไข ไม่ แสดงความกังวลใจจนเกินไป 

๔. ไม่เคี่ยวเข็ญเรื่องการเรียนมากไป หรือเมื่อลูกเรียนไม่ดีดังที่ตั้งความหวัง ก็ไม่ควรดุเกรี้ยวกราด หรือตำหนิ และไม่ควรผลักดันที่จะให้เก่งหลายด้าน 

๕. การเลือกโรงเรียนให้เด็ก ควรคำนึงถึง ฐานะทางการเงิน และทางสังคมของพ่อแม่ด้วย เพราะเด็กอาจมีปมด้อย ถ้ามีเครื่องใช้ เสื้อผ้าไม่เทียมหน้า เพื่อนฝูง จะทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความไม่สบายใจ และขาดสมาธิในการเรียน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow