Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากแสงแดด

Posted By Plookpedia | 17 ธ.ค. 59
1,309 Views

  Favorite

โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากแสงแดด

ในปัจจุบันได้มีการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ในเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพลของแสงแดด ที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผิวหนังเป็นด่านแรกของร่างกายที่จะปะทะ หรือรับกับแสงแดด และประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนที่ต้องรับแสงแดด มากกว่าประเทศอื่น แต่เคราะห์ดีที่คนไทยมีผิวคล้ำจึงมีการต้านทาน หรือทนต่อแสดงแดดได้ดีกว่าผู้ที่มีผิวขาว

ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แสงแดด ที่ได้รับในปริมาณมาก และเป็นเวลานาน


แสงแดด (จำนวนของรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะเป็นอันตราย) จะทำให้เกิดอันตรายได้มากในภูมิประเทศที่อยู่ในละติจูดต่ำ และไม่ว่าจะอยู่ในละติจูดใดก็ตาม เวลาที่จะเกิดอันตรายมากที่สุดคือ กลางฤดูร้อนระหว่าง ๑๐.๐๐-๑๔.๐๐ น. นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ ในสภาวะแวดล้อม เช่น หาดทราย และพื้น หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นคอนกรีต อันเป็นสิ่งสะท้อนแสง เป็นต้น 

ปฏิกิริยาไวเกินต่อแสงแดด (photosensitivity reaction) เป็นการตอบโต้ที่ผิดปกติของผิวหนังที่มีต่อแสงแดด หรือแสงอื่นๆ 

ปฏิกิริยาไวเกินต่อแสงแดดโดยตรง 

อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกันคือ 

๑. ปฏิกิริยาไหม้แดดเฉียบพลัน 

เกิดขึ้น เพราะผิวหนังถูกแสงแดด หรือแสงอัลตราไวโอเลตขนาดคลื่นสั้นมากเกินไป ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยเพียงผิวหนังแดงๆ ไปจนถึงแดงจัด ปวดแสบปวดร้อน เจ็บ บวม หรือมีเม็ดตุ่มพองน้ำด้วย 

อาการเล็กๆ น้อยๆ จะเริ่มประมาณ ๖-๑๒ ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มถูกแดดจนถึงระยะสูงสุดภายใน ๒๔ ชั่วโมง และเริ่มคลายความรุนแรงลงทีละน้อย ใน ๔-๕ วัน บางครั้งอาการรุนแรงจะเกิดขึ้นคล้ายคลึงกันถึงขีดสูงสุดในประมาณ ๔๘ ชั่วโมง และภายในอีก ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ผิวหนังจะตาย และหลุดลอกออก ทำให้ผิวหนังมีสีเข้มไม่สม่ำเสมอกัน หรือเป็นแผลเป็นไปเลย 

ถ้าผิวหนังส่วนใหญ่ของร่างกายถูกแดดเผาไหม้อย่างหนัก จะมีอาการเป็นพิษเกิดขึ้นในประมาณ ๑๒ ชั่วโมงล่วงแล้วไป โดยมีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง และเพ้อ 

๒. ปฏิกิริยาจากแสงแดดอย่างล่าหรือเรื้อรัง 

เกิดจากถูกแดดซ้ำๆ ซากๆ อยู่เป็นเวลานาน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากลักษณะของผิวหนังปกติไปเป็นเหี่ยวย่น เป็นปื้น หรือตุ่มหนา แดง หรือเป็นสีน้ำตาล และมีจุดของหลอดเลือดฝอยละเอียดพองกระจายเหมือนใยแมงมุม การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวแล้วนี้ มักจะเป็นสิ่งที่นำมา หรือทำให้เกิดเป็นมะเร็ง หรือลักษณะของผิวหนังที่ก่อนจะเป็นมะเร็ง 

ปฏิกิริยาทั้งสองชนิดนี้เกิดขึ้นจากแสงแดดที่ทำอันตรายต่อผิวหนังโดยตรง ซึ่งเหตุสำคัญคือ แสงอัลตราไวโอเลตขนาดคลื่นสั้น (๒๙๐-๓๒๐ นาโนมิเตอร์) 

การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังต่อแสงแดดที่มิใช่ปฏิกิริยาไวเกินแสงโดยตรง

อาจจัดออกไปได้เป็น ๒ ชนิดด้วยกันคือ 

๑. ภาวะไวเกินต่อแสงเนื่องจากสาเหตุภายนอกร่างกาย 

เช่น จากยา หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มาสัมผัสผิวหนัง หรือโดยทางอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายภาวะเหล่านี้ ได้แก่ แสงเป็นพิษ และการแพ้แสง 

ก. แสงเป็นพิษ อาการที่เกิดแสงแดดเป็นพิษขึ้นนี้ หมายถึง กรณีที่ถูกแสงแดดไหม้อย่างรุนแรงเกินควร เนื่องจากสารเคมีบางชนิด เช่น พวกยาซัลโฟนาไมด์ และกริซีโอฟุลวิน (griseofulvin) สีบางชนิด เช่น อะคริดิน (acridin) และอีโอซิน (eosin) เป็นปัจจัยสำคัญ 

เมื่อผิวหนังถูกแสงแดดที่แรงๆ เข้า ก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน อักเสบแดง บวม หรือเป็นตุ่มพองน้ำ หรือเริ่มเป็นผื่นคล้ายลมพิษ ภายใน ๒-๖ ชั่วโมง 

การอักเสบนี้จะทุเลาลงใน ๒-๔ วัน ทำให้ผิว หนังสีคล้ำขึ้นและลอกออก บางรายจะเกิดมีอาการ รุนแรงที่สุดประมาณ ๔๘ ชั่วโมง โดยผิวหนังบวมแดง และมีตุ่มพองน้ำ แต่ไม่มีอาการปวดแสบปวดร้อนรวดเร็วเหมือนในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน ปกติจะมีอาการ ภายหลัง ๒๔ ชั่วโมงไปแล้ว และจะเจ็บอยู่เฉพาะบริเวณที่อักเสบเท่านั้น 

อาการต่างๆ มักจะทุเลาลงภายหลังใน ๗-๑๔ วัน โดยผิวหนังจะคล้ำและลอกออกเล็กน้อย 

ข. การแพ้แสง ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเกิดอาการแพ้แสงขึ้น ภายหลังได้สัมผัสกับสารเคมีบางชนิดที่มีคุณสมบัติ ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมาก่อน เช่น สารเคมีที่มีอยู่ในสบู่ และเครื่องสำอาง นับเป็นปฎิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับเซลล์ เช่นเดียวกับภาวะไวเกินในผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสธรรมดา และแตกต่างกับในรายของแสงเป็นพิษ ซึ่งในการแพ้นี้ อาจเกิดขึ้นโดยพลังงานจากแสงแดดที่น้อยกว่ามากมาย 

อาการแรกเริ่มที่เดียวคือ คันมาก และผิวหนังอักเสบแบบเอ็กซีมาภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง หลังจากสัมผัสกับสารเคมี และได้ถูกแดดแล้ว ผิวหนังที่อยู่ในโอเลตมีขนาดคลื่นยาว สามารถจะผ่านเสื้อผ้าเข้าไปถึงผิวหนังได้ 

การอักเสบจะมีมากที่สุดใน ๗๒ ชั่วโมง และค่อยๆ ทุเลาลงใน ๑๐-๑๔ วันแต่ในบางรายอาจเป็น อยู่นานกว่านี้ก็ได้ เพราะผู้ป่วยยังได้รับการสัมผัสกับ สารเคมีที่เป็นต้นเหตุอยู่เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว 

๒. ภาวะไวเกินต่อแสงเนื่องจากสาเหตุภายในร่างกาย 

เช่น การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี เมเทบอลิซึม ฮอร์โมน เอนไซม์ อิมมูโนโลจี กรรมพันธุ์ การอักเสบติดเชื้อ และเหตุอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย 

หรือเกิดจากพยาธิสภาพที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกาย เช่น โรคลูพัสเอริทึมาโทซัส (lupus erythematosus) และพอร์ฟีเรีย (porphyria) ซึ่งมิใช่โรคธรรมดาสามัญ ซึ่งมิได้นำมากล่าวโดยละเอียด ณ ที่นี้

แม้ว่าโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากแสดงแดดนี้ จะมีสาเหตุหลายอย่าง แต่สาเหตุที่สำคัญคือ แสงอัลตราไวโอเลตในขนาดคลื่น ๒๙๐-๓๒๐ นาโนมิเตอร์ และแสงที่เห็นได้ขนาดคลื่นยาว ๓๒๐-๗๐๐ นาโนมิเตอร์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow