Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคผิวหนังที่เกิดจากต่อมเหงื่อและต่อมไพโลซีบาซัส

Posted By Plookpedia | 17 ธ.ค. 59
2,848 Views

  Favorite

โรคผิวหนังที่เกิดจากต่อมเหงื่อและต่อมไพโลซีบาซัส

ในกลุ่มนี้โรคที่น่าสำคัญ และพบบ่อยโรคหนึ่งคือ การที่มีเหงื่อออก โดยถูกกระตุ้นจากบางสิ่งบางอย่างย่อมไม่เหมือนกันทุกคน ยากที่จะบอกว่า เหงื่อออกมากน้อยเพียงไร จึงจะเรียกว่า ปกติ และไม่ปกติ ฉะนั้นจึงต้องถือเอาสภาวะธรรมดาที่คิดว่า ปกติ แล้วเมื่อมีการกระตุ้น โดยความร้อน หรือโดยอารมณ์ และจิตใจเป็นหลัก การที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ ส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงความรู้สึก หรือการบอกเล่าของผู้ป่วยนั้นๆ เท่านั้นเอง

เหงื่อที่ออกมากผิดปกตินั้นเป็นอาการของโรคได้หลายโรค เช่น ในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะการกระตุ้นที่ไฮโพทาลามัส (hycothalamas) ในอาการไข้ของวัณโรค และในการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น 

เหงื่อที่ออกมากที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า หรือที่รักแร้ในผู้ที่รู้สึกว่า สุขภาพอย่างอื่นดี มักจะเกิดขึ้นขณะที่มีความเครียดทางสมอง หรือจิตใจ เช่น เวลาที่จะเข้าไปหาผู้ใหญ่ หรือผู้บังคับบัญชา หรือตื่นเต้นเวลาเข้าสังคมที่มีผู้คนมาก และผู้ป่วยอาจมีอาการของความกังวลอื่นๆ เช่น ชีพจรเร็ว เมื่อได้ผ่อนคลายความเครียดลงไปได้แล้ว เหงื่อก็จะแห้งหายไปเอง แต่ผู้ที่มีอาชีพต้องหยิบจับ หรือถือเครื่องมือบางชนิด ความชื้นจากเงื่อนที่ฝ่ามือ อาจเป็นปัจจัยช่วยให้เกิดเอ็กซีมา จากการสัมผัสได้ง่ายขึ้น 

ผด 

เป็นโรคที่ชาวบ้านรู้จักกันดี เพราะเป็นโรคที่สามัญชนพบเห็นกันบ่อยมากในฤดูร้อน หรือในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง 

ถ้าหากการอุดกั้นเกิดขึ้นที่ระดับตื้น และชั้นนอกสุดของผิวหนัง ทำให้เหงื่อไม่สามารถไหลซึมออกมาได้จะเกิดเป็นตุ่มพองน้ำใสๆ เล็กๆ ตื้น ๆ โดยมากจะเป็นบริเวณที่ไปถูกแดดหรือว่า ถูกความร้อนมา ซึ่งมักเรียกกันว่า "ผดแดด" ถ้ามีเหงื่อออกมาก ก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น และจะยุบหายไป เมื่อไม่มีเหงื่อออกอีก 

ผดธรรมดาจะขึ้นเป็นเม็ดตุ่มพองน้ำเล็กๆ สีแดงคันยุบยิบๆ ยิ่งมีเหงื่อมากยิ่งคันมาก การอุดกั้นของท่อเหงื่อในรายนี้ อยู่ลึกต่ำลงไปกว่าใน "ผดแดด" และมักเป็น เมื่ออากาศร้อนและชื้น โดยมากจะเป็นบริเวณในเสื้อ ซึ่งผิวหนังบริเวณนั้นจะชื้นมาก ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น เชื้อบัคเตรี หรือความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในเหงื่อเอง 

รังแค 

เป็นอีกโรคหนึ่งที่รู้จักกันดี เพราะเป็นกันมากพอสมควร แต่สาเหตุที่แท้จริงก็ยังไม่เข้าใจกันดีนัก ถึงแม้ในขณะนี้ จะมีการสันนิษฐานถึงสาเหตุว่า มีความโน้มเอียงไปในความผิดปกติของต่อมไขมันก็ตาม 

รังแคมีลักษณะเป็นสะเก็ดบางๆ หรือขุยละเอียดอ่อนบนหนังศีรษะ โดยมากจะเริ่มเป็น เมื่อเริ่มเข้าวัยหนุ่มสาว และจะน้อยลงในวัยชรา โดยขุยนี้จะเป็นทั่วๆ ไปทั้งศีรษะ และไม่มีการอักเสบ แต่อาจจะคันบ้าง 

สิว 

เป็นโรคสามัญที่รู้จักกันดีอีกโรคหนึ่ง และเป็นโรคที่มีสาเหตุจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดพยาธิสภาพกับต่อมไพโลซิบาชัส ของผิวหนัง

ลักษณะการเกิดสิว


ในกลุ่มของปัจจัยต่างๆ นั้นมีไขมัน ซึ่งขับถ่ายออกจากต่อมไขมัน เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเพราะเป็นตัวทำให้เกิด "หัวสิว" และการอักเสบได้ และการขับถ่ายไขมันออกมาผิดปกตินั้นก็ขึ้นอยู่กับวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว และฮอร์โมน ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะมีการเสียดุลระหว่างฮอร์โมนที่เรียกว่า แอนโดรเจน และอีสโทรเจนในร่างกาย ทำให้อัตราส่วนของแอนโดรเจน และอีสโทรเจนสูงขึ้น นอกจากนี้เชื้อบัคเตรีบนผิวหน้า ความเครียดทางจิตใจ สภาวะแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งอากาศร้อน การเสียดสี สารเคมีในเครื่องสำอาง ยากิน และกรรมพันธุ์ ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเช่นกัน

สิวจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า แผ่นหลัง หน้าอก และหัวไหล่มากน้อยตามลำดับ แถวลำตัวจะขึ้นมากตาม แนวสันกลางร่างกายและกระจายออกไป

ผู้ป่วยเป็นสิวเสี้ยน

    ลักษณะของผื่นก็มีหลายชนิดด้วยกัน หรือถ้าดูกันอย่างละเอียดจะเห็นว่า มีผื่นเกือบทุกชนิด แล้วแต่ชนิดไหนจะมากกว่ากันเท่านั้น

สิวที่ไม่มีการอักเสบนัก ได้แก่พวกที่เรียกว่า "สิวเสี้ยน" เป็นตุ่มนูนสูงเล็กน้อย หรือราบเรียบ ที่ตรงกลางจะมี "หัว" เป็นจุดดำ หรือค่อนข้างขาว บางชนิดก็จะไม่เห็น "หัว" เพราะเป็นชนิด "ปิด" โดยมีลักษณะ เป็นตุ่มนูนเล็กๆ สีซีดๆ เท่านั้น แต่ชนิดนี้มีความสำคัญที่จะกลายเป็นเม็ดใหญ่ๆ อักเสบต่อไปได้
เมื่อเกิดมีการอักเสบขึ้นแล้ว จะเห็นเป็นตุ่ม เล็กๆ บนฐานสีแดง หรือเป็นตุ่มหนองใหญ่ จนกระทั่ง เป็นเหมือนฝีใหญ่ๆ เจ็บ หรือเป็นถุงน้ำซึ่งเรียกกันว่า เป็น "สิวหัวช้าง" และเมื่อยุบหายไปแล้ว มักจะกลายเป็น แผลเป็น เป็นหลุมลงไป ลึกบ้างตื้นบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ดูผิวหนังขรุขระ และบางรายก็กลายเป็น คีลอยด์ (keloid) หรือเรียกกันว่า "แผลกลาย" ก็มี โดยเป็นก้อนนูนสูงขึ้นมาจากผิวหนัง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow