Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคผิวหนังที่เกิดจากบัคเตรี

Posted By Plookpedia | 17 ธ.ค. 59
3,334 Views

  Favorite

โรคผิวหนังที่เกิดจากบัคเตรี

ตามปกติ ผิวหนังของผู้ที่มีสุขภาพดีย่อมจะมีความต้านทานต่อเชื้อบัคเตรีที่มีอยู่ทั่วไปได้เป็นอย่างสูง การติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้ ก็มักจะเนื่องจากการเสียสภาพของการป้องกันตัวเองของผู้นั้น เช่น ผิวหนังถลอกถูกของมีคมบาด หรือถูกทิ่มตำ โดยวัตถุแปลกปลอม การอักเสบจากการติดเชื้อก็จะเกิดขึ้นโดยง่าย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่เป็นพิษ และศักยะของความรุนแรง ของแต่ละเชื้อบัคเตรีด้วย 

ตัวอย่างของผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อบัคเตรี ได้แก่ ผื่นที่คนทั่วไปรู้จัก หรือเรียกกันว่า "พุพอง" ซึ่งมักจะเป็นในเด็ก ที่ค่อนข้างสกปรก อยู่กันอย่างแออัด และถูกละเลย เมื่อมีบาดแผลอะไรเล็กๆ น้อยๆ 

แรกทีเดียว ผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มน้ำพองใสก่อน แล้วกลายเป็นหนองโดยรวดเร็ว และรอบๆ ตุ่มหนองมักมีการอักเสบแดง แตกออกง่าย และหนองนั้นจะแห้งเกรอะเป็นสะเก็ดหนาสีเหลืองๆ ถ้าแกะสะเก็ดออกจะเห็นเป็นแผลแดงเยิ้ม และมีสะเก็ดเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว บัคเตรีที่เป็นสาเหตุมักจะเป็นพวกสเตร็พโทค็อกไซกลุ่มเอ (group A streptococci) หรือผสมกับสเตร็พโทค็อกไซ ออรุอุส (S.aureus) ด้วย 

ผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อบัคเตรีนี้ ความจริงยังมีอีกหลายโรคด้วยกั นชนิดที่เป็นที่ผิวหนัง เช่น ไฟลามทุ่ง (erysipelas) และฝี หรือกระจายมาจากการอักเสบติดเชื้อจากที่อื่น เช่น จากโรคแบคทีเรียลเอนโดคาร์ดิทิสเกือบเฉียบพลัน (subacute bacterial endocarditds) หรือพวกวัสคูลิทิส (vasculitis) เป็นต้น

โรคเรื้อน 

โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อไมโคแบคทีเรียม เลพรี ซึ่งรู้จักกันมาแต่โบราณกาลแล้ว องค์การอนามัยโลกได้ให้ตัวเลขของผู้ป่วยโรคเรื้อนไว้ประมาณ ๑๑ ล้านคน ซึ่งที่จริงแล้วอาจถึง ๑๕ ล้านคน เพราะผู้ป่วยด้วยโรคนี้ มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ หรือเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ปรากฏลักษณะออกมาให้เด่นชัด ในประเทศไทยก็เคยมีผู้สำรวจไว้หลายปีมาแล้วว่า คงจะไม่ต่ำกว่า ๒ แสนคน

การติดเชื้อโรคเรื้อนเข้าใจว่า จะเกิดจากการสัมผัสโดยใกล้ชิด และยาวนานจากผู้ที่มีเชื้อแพร่หลายได้ไปยังผู้ที่ง่ายต่อการรับเชื้อ ซึ่งอาจเป็นน้ำมูกของผู้เป็นโรคที่ติดอยู่กับภาชนะเครื่องใช้สอย เสื้อผ้า อาหาร และเด็กๆ ย่อมติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ 

ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ซึ่งหมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนปรากฏอาการแสดงนั้นไม่แน่นอน เชื่อกันว่า ประมาณ ๑.๑/๒-๕ ปี หรืออาจนานไปกว่านี้ก็ได้ 

อาการเริ่มแรก มักจะเป็นที่ปลายประสาทที่ผิวหนัง ทำให้มีความรู้สึกผิดปกติหรือชา ณ ที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง และอาจมีเลือดกำเดาออกเป็นครั้งคราว 

อาการของโรคในระยะแรกๆ จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ โดยไม่เจ็บปวดอะไร ซึ่งอาจเป็นเวลาหลายปีดังกล่าวแล้ว จะกระทั่งมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งจะมีลักษณะได้หลายชนิด คือ 

๑. โรคเรื้อนชนิดที่มีลักษณะไม่ชัดเจน (indeterminate leprosy) 

โรคเรื้อนชนิดนี้มักจะเป็นระยะแรกๆ ของโรค ผิวหนังเป็นบริเวณเรียบๆ ไม่ชัดเจนนัก ขนาดเล็กและอาจมีหลายๆ หย่อม ที่ผิวหนังก็ได้ สีค่อนข้างซีดกว่าปกติ ซึ่งอาจยุบหายไปได้เองใน ๒-๓ เดือน หรือคงอยู่เช่นนี้ ๑-๒ ปี ก่อนที่จะยุบ หรือเปลี่ยนไปเป็นชนิดที่มีลักษณะชัดเจนขึ้น 

๒. โรคเรื้อนชนิดทูเบอร์คูลอยด์ (tuberculoid leprosy) 

ชนิดนี้พบได้บ่อย อาจเป็นแห่งเดียว หรือหลายๆ แห่งก็ได้ ผิวหนังจะมีสีซีดชัดเจน ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่มาก ตรงกลางอาจยุบหายไป ขอบลามออก นูนสูงขึ้นกว่าผิวหนังธรรมดา และเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ความรู้สึกที่ผิวหนังจะเสื่อมไป ทั้งความรู้สึกทางสัมผัส และอุณหภูมิ เหงื่อในบริเวณที่เป็นจะไม่ค่อยมี หรือหายไป ขนจะร่วง และไม่มีขึ้นมาแทนที่ใหม่อีก

โรคเรื้อนชนิดทูเบอร์คูลอยด์

    โรคเรื้อนชนิดนี้ถ้าไม่เป็นรุนแรง หรือมากมายนักก็อาจจะยุบหายไปได้เองเหมือนกัน
๓. โรคเรื้อชนิดเลโพรมาทัส (lepromatous leprosy) 

ชนิดนี้เป็นชนิดที่แพร่เชื้อได้ง่าย มักจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ที่พบบ่อยๆ คือ เริ่มด้วยเป็นตุ่มก่อน หรือหย่อมผิวหนังเรียบๆ มีสีซีดกว่าปกติ หรือแดงเรื่อๆ เท่านั้น ในระยะนี้ไม่มีการเสื่อมต่อความรู้สึกทางผิวหนัง หรือต่อมเหงื่อแต่อย่างใด จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานเป็นเดือนหรือปี หย่อมของผิวหนังที่กว้าง จนอาจลรามไปทั่วร่างกายได้ รวมทั้งเกิดเสื่อมความรู้สึกทางผิวหนัง และเหงื่อออกไปบ้าง อีก ๓-๔ ปี ต่อไป เส้นประสาทของแขนขาจะโตขึ้นและเจ็บ
ลักษณะที่เป็นตุ่มหรือก้อนนูนสูงขึ้นมา มักจะ เกิดตามหลังลักษณะที่ราบเรียบในอีกนับปี หรือเกิดขึ้น เองตั้งแต่แรกก็ได้ ลักษณะที่เป็นตุ่มหรือก้อนนี้ ถ้า เกิดขึ้นที่หู หน้าผาก แก้ม จมูก ริมฝีปาก และ คาง ชาวบ้านเรียกกันว่า "หูหนาตาเร่อ" แต่อาจเป็นที่อื่น เช่น ตามตัว หรือแขนขาก็ได้ และเมื่อโตใหญ่ มากขึ้นก็อาจรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ และในผื่นเหล่านี้ จะมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้รวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก    

โรคเรื้อนชนิดเลโพรมาทัสที่เรียกว่า หูหนาตาเร่อ


โรคเรื้อนชนิดเลโพรมาทัสนี้ บางครั้งไม่เป็นตุ่ม หรือก้อน แต่ผิวหนังจะมีลักษณะหนากระจาย โดยทั่วๆ ไป ทำให้มีลักษณะบิดเบี้ยว นูนบ้างย่นบ้าง ใบหน้าดูย่นเหมือนสิงโต แม้แต่ขนคิ้ว ขนตา ผม และหนวดก็จะร่วงบางไป 

๔. โรคเรื้อนชนิดคาบเส้นหรือสองแบบ (borderline or dimorphous leprosy) 

ชนิดนี้มีลักษณะที่บอกไม่ได้แน่ชัดว่า เป็นชนิดทูเบอร์คูลอยด์ หรือเลโพรมาทัส จะใกล้ไปบางชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ และมีโอกาส ที่จะกลายเป็นชนิดทูเบอร์คูลอยด์ หรือเลโพรมาทัส โดยชัดเจนในระยะหลังๆ ก็ได้

ผลของโรคเรื้อนต่อการทำลายเส้นประสาทส่วน ปลายนั้น ทำให้กล้ามเนื้อเหี่ยวแฟบ การรู้สึกเจ็บของ ผิวหนังเสื่อม เหงื่อไม่ค่อยจะออก ผิวหนังซีดจาง มือเท้าเป็นแผลได้ง่าย และหงิกงอ หรือนิ้วกุดเข้าไป ทีละน้อยๆ ในที่สุด 

ปัจจุบัน โรคเรื้อนเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ถึงแม้จะกินเวลานานและคงมีร่องรอยของความพิการเหลืออยู่ ความพิการบางประการก็ยังอาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยทางศัลยกรรม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow