Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไข้กาฬนกนางแอ่น หรือไข้กาฬหลังแอ่น

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 59
1,026 Views

  Favorite

ไข้กาฬนกนางแอ่น หรือไข้กาฬหลังแอ่น 

โรคนี้พบได้ทั่วโลก พบได้บ่อยในเขตร้อน และเขตอบอุ่น อาจมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว มักเป็นในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาพแออัด เช่น ในกองทหาร ในโรงเรียน เป็นต้น 

เชื้อต้นเหตุ 

เกิดจากเชื้อบัคเตรี ที่มีชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) หรือ เมนิงโกค็อกไซ (Meningococci) ลักษณะเป็นเชื้อรูปถั่ว อยู่เป็นคู่ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม กลุ่มที่ ก่อโรคคือ กลุ่มเอ บี และซี 

ระยะฟักตัว 

ประมาณ ๓-๔ วัน แต่อาจพบได้ ตั้งแต่ ๒-๑๐ วัน 

ลักษณะอาการ 

เป็นโรคที่มีอาการเฉียบพลันไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ และอาเจียน คอแข็ง ปวดหลัง มักมีจุดแดงเป็นผื่นขึ้นแบบตุ่มน้ำ ระยะต่อมาซึมหมดสติ ในรายที่อาการรุนแรงมากๆ จะเริ่มด้วยอาการอ่อนเพลียมาก ช็อค ตั้งแต่ระยะแรก ในบางราย ผู้ป่วยอาจมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด โดยไม่มีอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้น ในผู้ป่วยที่แสดงอาการไข้เฉียบพลัน มีผื่น เป็นจุดเลือดออก และจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง อาจเป็นโรคนี้ได้ ในสมัยก่อนโรคนี้อัตราตายสูงถึงร้อยละ ๕๐ แต่ปัจจุบัน มียาต้านจุลชีพที่ให้ผลดี อัตราตายลดต่ำลงมาก 

การติดเชื้อไข้กาฬนกนางแอ่น แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก พบเชื้ออยู่เฉพาะบริเวณจมูกร่วม หลอดลม (nasobronchial) โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นเพียงเล็กน้อย กลุ่มที่สอง เชื้อเข้าสู่กระแส เลือด ทำให้เกิดอาการไข้ มีผื่นขึ้น มีจุดเลือดออก และบางคนมีอาการปวดข้อ ส่วนกลุ่มที่สาม เชื้อเข้า สู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการรุนแรง

แผนภาพแสดงการติดเชื้อไข้กาฬนกนางแอ่น

   การติดต่อ 

ในผู้ที่ติดเชื้อ โดยไม่แสดงอาการ พบเชื้ออยู่ในบริเวณจมูกร่วมหลอดลม จะแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วย เชื้อกระจายออกมาในน้ำมูกน้ำลาย ติดต่อสู่ผู้อื่น โดยทางสูดดม
การป้องกันและควบคุมโรค 

โดยทั่วไปควรให้การศึกษาแก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพอนามัย ระวังไม่ให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย กระเด็นไปถูกผู้อื่น 

ในกรณีที่มีผู้ป่วย ต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ และแยกผู้ป่วย ทำลายเชื้อที่ออกมาจากผู้ป่วย โดยใช้ยาฆ่าเชื้อ เครื่องใช้ และเสื้อผ้า ผู้ป่วยควรต้มหรือแช่น้ำยาก่อนนำไปซักล้าง ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรกินยาพวกซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) หรือเพนิซิลลิน (penicillin) เพื่อป้องกันโรค

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow